×

‘ท่องเที่ยว-รายได้เกษตรกร’ หนุนเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค. ขยับดีขึ้น จับตาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์จ่อกระทบการผลิต การส่งออก

29.08.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

สำนักงานเศรษฐกิจการคลังรายงาน ‘ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม 2565’ โดยระบุว่า การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน รายได้เกษตรกร และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้น แต่การลงทุนภาคเอกชนยังชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เห็นได้จากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน และการลงทุนในหมวดการก่อสร้างที่ชะลอตัว แนะจับตาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์จ่อกระทบต่อการผลิต การส่งออก และเศรษฐกิจโลก 

 

วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วย พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิชาการเศรษฐกิจ) สูง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย รวมถึงรายได้เกษตรกรที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต การส่งออก และทิศทางเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด

 

การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น

 

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนกรกฎาคม 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล 21.1% ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 16.4% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล 5.5% 

 

ขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือนกรกฎาคม 2565 ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 10.7% 

 

สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ในเดือนกรกฎาคม 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.8% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล 3.9% 

 

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับเพิ่ม แต่ยังชะลอตัว

 

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.4 จากระดับ 41.6 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเป็นผลมาจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่สถานการณ์โควิดในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น ตลอดจนการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลในเรื่องการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ที่ทำให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน 

 

การลงทุนภาคเอกชนชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

 

ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือ เครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนกรกฎาคม 2565 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 5.1% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 6.9% 

 

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนกรกฎาคม 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 25.4% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 2.6% 

 

สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนกรกฎาคม 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 6.3% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 0.8% 

 

ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 8.5% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 4.8%

 

ส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

 

มูลค่าการส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 23,629.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันที่ 4.3% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่าการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ อินเดีย, ตะวันออกกลาง, อาเซียน 9 และสหรัฐอเมริกา ที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 33.3%, 27.4%, 22.6% และ 4.7% ตามลำดับ    

 

อุปทานปรับตัวดีขึ้น

  

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยบริการด้านการท่องเที่ยวในเดือนกรกฎาคม 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม 1.12 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 6,126.3% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 3.8% โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย, อินเดีย, เวียดนาม และเกาหลีใต้ ตามลำดับ 

 

เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย (หรือนักท่องเที่ยวไทย) ในเดือนกรกฎาคม 2565 จำนวน 16.7 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 1,818.6% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 2.4%

 

ขณะที่ภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนกรกฎาคม 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 1.1% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 3.2% จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ยางพารา และมันสำปะหลัง อย่างไรก็ดี ผลผลิตในหมวดไม้ผลและหมวดปศุสัตว์ชะลอตัว 

 

สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 89.0 จากระดับ 86.3 ในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการผลิตที่ขยายตัวจากความต้องการทั้งสินค้าคงทน และสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลเรื่องต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงจากราคาวัตถุดิบและพลังงาน รวมถึงค่าขนส่งที่ยังเพิ่มขึ้น

 

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี รองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้

 

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีปัจจัยกดดันจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 7.61% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.99% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 61.1% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 0.56% ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ในระดับสูงที่ 220.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising