ปลายเดือนที่แล้ว ผมได้รับเกียรติจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยให้เป็นวิทยากรบรรยายในงานสังสรรค์ประธานสมาคมการค้ากลุ่ม 15 คลัสเตอร์ธุรกิจ ในหัวข้อ ‘เงินเฟ้อ: อุปสรรคการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ปี 2565’ ซึ่งเป็นหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของผู้ประกอบการจำนวนมาก
สรุปความโดยย่อ ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคเงินเฟ้อครั้งนี้ไปได้ ด้วยการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ต่อ GDP ช่วยให้รัฐบาลมีความสามารถในการดูแลภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น รวมถึงผลบวกจากการเปิดประเทศ และแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปีนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ผมทิ้งท้ายไว้ว่า ข้อสรุปข้างต้นซึ่งอิงจากประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย มีโอกาสที่จะไม่เป็นไปตามคาดได้ หากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นในตลาดโลกยังทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า หรือหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งเหตุการณ์ที่ 2 เป็นเรื่องที่ผมอยากจะนำมาขยายความต่อในบทความนี้
การถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในที่นี้ไม่ใช่แค่การถดถอยทางเทคนิค นิยามด้วยอัตราการขยายตัวแบบไตรมาสต่อไตรมาสติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส ซึ่งเป็นไปได้เพราะอัตราการขยายตัวแบบไตรมาสต่อไตรมาสของสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปีนี้ได้ติดลบไปแล้ว ขอแค่ไตรมาส 2 ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเต็มๆ ติดลบอีก 1 ไตรมาสก็จะเข้านิยาม แต่การถดถอยทางเทคนิคนั้นบางครั้งไม่ได้มีนัยมาก ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงไม่ทราบว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในไตรมาส 3/62 ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิดเสียอีก
การถดถอยทางเศรษฐกิจที่ไม่ใช่แค่ทางเทคนิคมักเกิดขึ้นพร้อมกับปัญหาในตลาดแรงงานและระบบการเงิน ซึ่งต้องบอกว่า ณ ขณะนี้ ทั้งตลาดแรงงานและระบบการเงินของสหรัฐฯ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่เข้มแข็งมาก โดยอัตราว่างงานของสหรัฐฯ อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี ระบบธนาคารพาณิชย์มีฐานะมั่นคง ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปัจจุบันที่ลงมามากจากจุดสูงสุด ก็ยังสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิดร้อยละ 15-30 ขึ้นกับดัชนีตลาด
แล้วทำไมนักลงทุนถึงพูดกันมากว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบจริงจังในปีหน้า ส่วนหนึ่งมาจากสัญญาณชี้นำในตลาดพันธบัตร ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ของรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี (2-10 Inversion) ในช่วงปลายเดือนมีนาคม แต่เอาจริงๆ ความสัมพันธ์ระหว่าง 2-10 Inversion กับการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์รองรับ (การถดถอยครั้งล่าสุดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดจากการระบาดของโควิด) และไม่ได้ถูกต้องทุกครั้ง
กระนั้นก็ตาม การถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หากเกิดขึ้นจริง กระทบเศรษฐกิจไทยรุนแรงแน่ ในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย จึงต้องพิจารณาและติดตามปัจจัยที่อาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้อย่างใกล้ชิด
ณ จุดนี้ ปัจจัยที่ตลาดพูดถึงมากที่สุดที่จะนำไปสู่การถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ใช่การบานปลายของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน (ซึ่งยังตัดทิ้งไม่ได้ แต่ตลาดมองว่าความน่าจะเป็นมีน้อยกว่า) แต่เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อหยุดความร้อนแรงของตลาดแรงงานและเงินเฟ้อ ที่ตอนนี้คาดกันว่าอาจจะไปหยุดที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี ในปีหน้า
ประเด็นคือ ถ้าไปถึงร้อยละ 3.5 ต่อปี แล้ว Fed ยังจัดการเงินเฟ้อไม่ได้ Fed ก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีก ซึ่งหลายฝ่ายคิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่น่าจะรับไหวโดยจุดเปราะบางที่สำคัญคือ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเป็นฟองสบู่ราคาสินทรัพย์เดียวในปัจจุบันที่ยังไม่ถูกปล่อยลมออกไปบ้างแบบตลาดหุ้นและตลาดคริปโด แม้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ จะปรับสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 2 ต่อปีนับจากต้นปีแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ ฟองสบู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้เกิดขึ้นที่เฉพาะสหรัฐฯ แต่เกิดขึ้นกับประเทศหลักทั่วโลก จะมียกเว้นก็อาจเฉพาะจีนกับไทย และเป็นอะไรที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) ซึ่งเป็นเสมือนธนาคารของธนาคารกลางทั่วโลก เป็นห่วงมาก
ถ้า Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยไปมากกว่าร้อยละ 3.5 จริง ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะถดถอยรุนแรง ธนาคารแห่งประเทศไทยที่สุดแล้วอาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงเช่นกัน
ก็ได้แต่หวังว่า Fed จะคุมเงินเฟ้อได้ โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นแค่ Soft Landing ไม่ใช่ Hard Recession ครับ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP