ปี 2563 เรียกได้ว่าเป็นปีเผาจริง เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าเศรษฐกิจไทยในปีดังกล่าวจะตกอยู่ในภาวะยากลำบากเช่นนี้ …ช่วงต้นปีสำนักวิจัยหลายแห่ง รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังประเมินว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะขยายตัวได้ราว 2.6% แต่หลังการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ก็ทำให้ภาพทุกอย่างเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
ล่าสุดคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 น่าจะหดตัวไม่น้อยกว่า 6.6% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 22 ปี นับจากปี 2541 ที่ GDP ในขณะนั้นหดตัว 7.6%
การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติใหม่แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนบนโลกใบนี้ ในทางการแพทย์จึงไม่มีวัคซีนป้องกันหรือแม้แต่ยารักษา อีกทั้งการแพร่ระบาดยังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาครัฐต้องสั่งล็อกดาวน์ประเทศเพื่อหยุดการแพร่เชื้อ ส่งผลต่อเนื่องไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักอย่างฉับพลัน
แม้เวลานี้จะเริ่มมียารักษาและมีวัคซีนป้องกัน แต่การแจกจ่ายวัคซีนยังไม่ทั่วถึงและเป็นไปอย่างล่าช้า อีกทั้งการแพร่ระบาดเริ่มกลับมาใหม่ในช่วงปลายปี 2563 และมีทีท่าว่าจะแพร่กระจายต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ผลที่เกิดขึ้นจึงทำให้ ‘การประเมิน’ ภาพเศรษฐกิจในปี 2564 มีความยากลำบาก
อย่างไรก็ตาม สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าหากการระบาดรอบใหม่ไม่มีความรุนแรงเหมือนในรอบแรก เศรษฐกิจไทยปี 2564 น่าจะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 3% ขึ้นไป
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวกับ THE STANDARD ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 ยังมีความท้าทายอยู่มาก และต้องขึ้นอยู่กับสองปัจจัยใหญ่คือ วัคซีนและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศ โดยทั้งสองปัจจัยมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน
สำหรับกรณีฐาน บล. ภัทร ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวได้ราว 3.5% ซึ่งตัวเลขนี้อยู่บนสมมติฐานว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยราว 6 ล้านคน และการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ไม่นำไปสู่การปิดเมืองเป็นการทั่วไป
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่สามารถคุมการระบาดได้ และต้องกลับไปล็อกดาวน์เหมือนที่เคยทำในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา กรณีนี้นอกจากจะทำให้การท่องเที่ยวปี 2564 หดตัวแล้ว การบริโภคภาคเอกชนอาจจะต่ำกว่าที่เราประเมินไว้ได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้ GDP ปี 2564 เติบโตที่ 0% หรือไม่เติบโตเลย
“เบสไลน์เรายังมองเติบโต 3.5% แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสองเรื่องสำคัญคือ พัฒนาการของวัคซีน และสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบใหม่ว่าจะรุนแรงจนต้องกลับไปล็อกดาวน์เหมือนเดิมหรือไม่”
พิพัฒน์กล่าวว่า ถ้าภาครัฐคุมสถานการณ์โควิด-19 รอบใหม่ไม่อยู่และต้องกลับไปล็อกดาวน์อีกครั้ง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับภาวะถดถอยซ้ำซ้อน (Double-dip Recession) เพราะตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี 2564 คงหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2563 อย่างแน่นอน
“จริงๆ ต้องบอกว่าตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยปี 2564 ที่เรามองไว้คือการบริโภคภาคเอกชน แต่ถ้าโควิด-19 กลับมาจนต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง ห้างสรรพสินค้าเปิดไม่ได้ คนไม่เดินทางไปไหนมาไหน แบบนี้กระทบแน่นอน ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเห็นผลกระทบบ้างแล้ว เพราะเมื่อมีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อในจังหวัดไหน ยอดการยกเลิกจองที่พักก็เพิ่มขึ้นทันที กรณีแบบนี้น่าเป็นห่วง”
ส่วนภาคการส่งออกในปี 2564 อาจจะพอช่วยพยุงเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ บล.ภัทร ไม่ได้มองว่าจะขยายตัวโดดเด่นมากนัก โดยปี 2564 ประเมินการเติบโตของการส่งออกไว้ราว 6.5% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในปีหน้าเองประเมินว่ายังไม่โดดเด่น
สำนักวิจัยเศรษฐกิจส่วนใหญ่ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยปี 2564 ยังฟื้นตัวช้าในระดับ 3.2-3.8% บนสมมติฐานการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ไม่นำไปสู่การล็อกดาวน์ประเทศ โดยที่ ‘การบริโภคภาคเอกชน’ และ ‘การส่งออก’ ถือเป็นพระเอกหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2564
สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พิพัฒน์เชื่อว่ายังคงเป็นภาพของ K-Shaped โดยที่กลุ่มคนรวยจะอยู่ในส่วนของ ‘เคขาขึ้น’ เพราะต้องยอมรับว่าสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ ขยายตัวได้ดี ไม่ว่าจะเป็นในตลาดหุ้นหรือสินทรัพย์การลงทุนอื่นๆ ทำให้คนรวยรวยมากขึ้น เราจึงเห็นสินค้าราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรู รถหรู ยังขายได้ดี
ส่วน ‘เคขาลง’ ยังอยู่ในเศรษฐกิจภาคบริการเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ตลอดจนแรงงานระดับล่างที่ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
“แม้ว่าสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ จะดีขึ้น ทำให้คนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ แต่ฐานเศรษฐกิจใหญ่ยังไม่ได้ดีขึ้น คนส่วนใหญ่จึงยังได้รับผลกระทบ ที่เรากังวลคือ จากวันนี้ไปจนถึงวันที่เริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับมา คาดว่าต้องใช้เวลาอีก 6-7 เดือน คนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้เขาจะทนได้นานแค่ไหน คนกลุ่มนี้เหมือนกำลังถูกบังคับให้ดำน้ำลึกและยังต้องดำไปอีกกว่าครึ่งปี”
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวกับ THE STANDARD ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 ยังคงเผชิญความท้าทายอยู่มาก ซึ่งเดิมเราประเมินว่าตัวเลข GDP ในปี 2564 จะเติบโตได้ราว 4.1% แต่การกลับมาระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 ทำให้เราต้องทบทวนตัวเลขดังกล่าวใหม่
“ปัญหาสำคัญของเราคือการระบาดรอบใหม่ ซึ่งทำให้ตัวเลขการบริโภคน่าจะต่ำกว่าตัวเลขที่เราประเมินไว้ในขณะนี้ เพราะการกลับมาของโควิด-19 มีผลต่อการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของคน เรากำลังดูอยู่ว่าจะปรับสินค้ากลุ่มไหนลงมาบ้าง”
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสินค้าในกลุ่มอาหารหรือของใช้ในชีวิตประจำวันคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ที่กระทบมากหน่อยจะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและกลุ่มเครื่องดื่มต่างๆ แต่ผลกระทบเหล่านี้คงไม่รุนแรงเท่ากับการล็อกดาวน์ในรอบก่อน
ส่วนพระเอกที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยปี 2564 คือ การส่งออก โดยมองว่าในปี 2564 แม้หลายประเทศจะเผชิญแรงกดดันจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 แต่ด้วยนโยบายการเงินและการคลังจากประเทศอุตสาหกรรมหลัก ทำให้เศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวต่อไปได้ การส่งออกของไทยก็น่าจะได้รับอานิสงส์จากส่วนนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญของเศรษฐกิจไทยปี 2564 ไม่ได้อยู่ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจว่าจะเป็นเท่าไร แต่อยู่ที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจที่อาจจะถ่างขึ้น ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในรูปของ K-Shaped ซึ่งเป็นเชฟที่แตกต่างกันระหว่าง ‘คนรวย’ และ ‘คนจน’
“เราห่วงการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง โดยเศรษฐกิจกลุ่มบนยังไปได้แม้ว่าจะเผชิญการระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะที่คนกลุ่มล่าง แม้ปัญหาการว่างงานไม่ได้สูง แต่ชั่วโมงการทำงานลดลงไปมาก กระทบต่อรายได้ของคนกลุ่มนี้ จึงอยากชวนคิดว่า เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เพราะวันนี้ภาครัฐทำได้เพียงการแจกเงินเพื่อประคับประคอง ในอนาคตคงต้องดูว่าจะมีอะไรที่ทำให้เศรษฐกิจระดับล่างพัฒนาได้อย่างยั่งยืนบ้าง โดยเฉพาะเศรษฐกิจต่างจังหวัดซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก”
นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี
นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 น่าจะขยายตัวได้เพียง 3.5% หรือกลับมาขยายตัวได้เพียงครึ่งเดียวจากที่คาดว่าจะหดตัวระดับ 7% ในปี 2563 โดยการประเมินดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานว่าไม่มีการกลับมาล็อกดาวน์เป็นการทั่วไป เพราะถ้าเป็นกรณีนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คงต่ำกว่าระดับ 3% อย่างแน่นอน
สำหรับพระเอกของปี 2564 คือ การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งในกรณีที่ไม่กลับมาล็อกดาวน์อีกรอบ เชื่อว่าการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นกำลังขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้
“ถ้าดูการบริโภคสินค้าคงทนถือว่าฟื้นตัวได้ดี โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ที่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว สะท้อนว่าคนมีกำลังซื้อแต่ไม่กล้าใช้จ่ายเต็มที่ พอสถานการณ์เริ่มดีขึ้นก็เริ่มกลับมาใช้จ่าย ดังนั้นหากเราคุมสถานการณ์โควิด-19 อยู่ และไม่กลับไปล็อกดาวน์ใหม่ ในปี 2564 การบริโภคภาคเอกชนน่าจะเป็นพระเอกของปี”
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนเชื่อว่ายังไม่ฟื้นตัว เพราะถ้าดูยอดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าขยายตัวเฉพาะสินเชื่อรายใหญ่ ในขณะที่สินเชื่อ SMEs ยังหดตัวราว 4-5% ดังนั้นการลงทุนในปี 2564 จึงยังไม่ใช่พระเอกหลัก
นริศกล่าวว่า สาเหตุที่การลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ทำให้ความจำเป็นในการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกลดลงตามไปด้วย ซึ่งอาจจะต้องรอการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แต่นักลงทุนกลุ่มนี้ก็รอดูความชัดเจนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยอยู่
“ปี 2564 ดูแล้วการลงทุนในส่วนของงานก่อสร้างคงชะลอตัว เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์เองก็ยังมีซัพพลายที่เหลืออยู่เยอะ ส่วนการลงทุนพวกเครื่องจักรก็ต้องไปลุ้นให้บริษัทใหญ่ๆ ลงทุนเพิ่ม แต่ถ้าดูกำลังผลิตของผู้ส่งออกเวลานี้ยังเหลืออยู่อีกเยอะ ยกเว้นจะเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ แต่พวกนี้ก็ต้องรอต่างชาติเข้ามา ซึ่งเวลานี้ยังทำได้ไม่เต็มที่นักเพราะติดปัญหาเรื่องโควิด-19”
ส่วนภาคการส่งออก ในปี 2564 อาจทำได้เพียงการพยุงเศรษฐกิจเท่านั้น โดย ศูนย์เคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีประเมินการส่งออกปี 2564 ขยายตัวราว 4.2% มาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจัยภายในเป็นเรื่องโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยที่ไม่ตรงกับความต้องการของโลก สะท้อนผ่านการส่งออกเดือนพฤศจิกายนที่ยังคงหดตัวในระดับ 3.6% เทียบกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคที่เริ่มกลับมาขยายตัว
นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าจากการกลับมาระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มสะดุด ส่งผลต่อการค้าโลกที่อาจชะลอตัวลง
สำหรับภาคการท่องเที่ยวในปี 2564 ยังประเมินสถานการณ์ได้ค่อนข้างยาก เพราะยังมีความไม่ชัดเจนอยู่มาก
นริศกล่าวด้วยว่า ในส่วนของนโยบายการเงิน เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ตลอดทั้งปี 2564 แต่หากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากกว่าคาด เชื่อว่า ธปท. จะใช้วิธีให้ธนาคารพาณิชย์ลดการนำส่งค่าธรรมเนียมบนฐานเงินฝากเข้าสู่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน (FIDF) เพิ่มเติม
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า