×

‘แม้จะช้า แต่ยังมีโอกาสเติบโต’ อัปเดตเทรนด์เศรษฐกิจไทย พร้อมรับมือกับความถดถอยที่ยังแก้ไขได้

14.01.2024
  • LOADING...

Future Trends Forum งานเสวนาเทรนด์แห่งอนาคตจากหลากหลายตัวจริงในวงการ ที่ได้มาอัปเดตเทรนด์อนาคตอย่างเข้มข้นถึงเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 โดยผู้เชี่ยวชาญที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ที่มาให้มุมมองในแง่ของเศรษฐกิจไทย

 

ในมุมมองของพิพัฒน์ สถานการณ์ด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีปัจจัยรายรอบที่ส่งผลกระทบไม่น้อย สรุปในประเด็นย่อยได้ดังนี้

 

  • เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตช้าลงทุกครั้งหลังเกิดวิกฤต และจะโตช้าลงเรื่อยๆ และความท้าทายอีกอย่างคือโครงสร้างสังคมที่กำลังเปลี่ยนไป ส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลง ในอีก 10 ปีข้างหน้าประชากรไทยมากกว่า 40% จะเข้าสู่วัยเกษียณและเตรียมเกษียณ ซึ่งความเร็วระดับนี้ถือเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ เราจะขาดแคลนประชากรวัยทำงาน ซึ่งสังคมจะต้องตระหนักแล้วว่าเราพร้อมแล้วหรือ เราต้องเตรียมความพร้อมในด้านแรงงานตั้งแต่วันนี้แล้วหรือยัง ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ค่อนข้างน่ากังวลและต้องหาทางรับมือ

 

  • ท่ามกลางการพัฒนาของเทคโนโลยีทั่วโลก ความสามารถในการแข่งขันของไทยกลับลดลง บริษัทใหญ่ 10 อันดับแรกในตลาดหุ้นไทยเกือบทั้งหมดอยู่ใน Old Economy นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตขั้นสูงของไทยมีสัดส่วนคงเดิม ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนามกำลังแซงหน้าเราไปอย่างรวดเร็ว

 

  • สงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยไม่น้อย ในขณะที่การแข่งขันด้านเทคโนโลยีทำให้เซมิคอนดักเตอร์จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง แต่ด้วยปัจจัยรอบด้านและนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทำให้ประเทศไทยกำลังจะตกขบวน นอกจากนี้ ไทยยังขาดดุลกับจีนมากขึ้น อันเกิดจากการแข่งขันด้านต่างๆ จีนจึงได้หันมาหาตลาดอาเซียน (นอกเหนือจากไทย) มากขึ้น หลังถูกกีดกันจากประเทศฝั่งตะวันตก

 

  • ในอดีตอุตสาหกรรมเด่นๆ ที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยจำนวนไม่น้อยคือ ‘อุตสาหกรรมท่องเที่ยว’ แต่ในปี 2567 การพึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไปอาจไม่ยั่งยืนพอที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งพาร์ตนี้เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากสถานการณ์ที่ผ่านมา วิกฤตโควิดสะท้อนความเปราะบางของประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูงอย่างไทย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบรุนแรง

 

  • ความเหลื่อมล้ำ ทั้งเรื่องของรายได้ โอกาส และความมั่งคั่ง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ประเทศไทยกำลังประสบ โดยคนรวยสุด 10% ของประเทศถือครองสินทรัพย์กว่า 66% และคนรวยที่สุด 1% ของประเทศถือทรัพย์สินเฉลี่ยคนละ 33 ล้านบาท ต่างกันกับกลุ่มคนที่จน 20% ของประเทศถึง 2,500 เท่า จุดที่น่าสนใจคือ เราจะทำอย่างไรในภาพของมหภาคให้ประเทศเรายังคงเป็นประเทศที่ยังน่าสนใจอยู่สำหรับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นต่างชาติลงทุนในไทย หรือนักลงทุนไทยยังคงลงทุนในตลาดเมืองไทยอยู่

 

การที่ประเทศไทยจะปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการแข่งขันได้ต้องปฏิรูปทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ ด้านอุตสาหกรรม ด้านกฎระเบียบ และด้านสังคมและการศึกษา

 

  1. ด้านอุตสาหกรรม
  • Infrastructure Investment ควรลงทุนด้านโครงสร้างปัจจัยพื้นฐาน
  • Incentives for R&D, Technology & Innovation กระตุ้นให้เกิดแรงผลักดันในการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม
  • Moving Up the Value Chains: Brand Building, Agriculture Reforms ยกระดับมูลค่าเพิ่มตลอดทั้งกระบวนการ เช่น ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์อย่างมั่นคง หรือเรื่องการสร้างการตระหนักรู้ในด้านการปฏิรูปทางการเกษตร

 

  1. ด้านกฎระเบียบ
  • Fostering Free Market Competition (Removing Regulatory Barriers, Enforcing Antitrust Laws) ส่งเสริมการแข่งขันในตลาดอย่างเสรี (หาวิธีการลดทอนอุปสรรคด้านกฎระเบียบ หรือการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด)
  • Labor Market Policy Reforms การปฏิรูปนโยบายด้านตลาดแรงงาน
  • Anti-Corruption Reforms การปฏิรูปด้านนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างจริงจังมากขึ้น
  • Fiscal Reforms, SOE Reforms การปฏิรูปด้านการคลัง และรัฐวิสาหกิจ

 

  1. ด้านสังคมและการศึกษา
  • Education System Reforms พัฒนาระบบการศึกษาของไทยให้บุคลากรของเรามีประสิทธิภาพในการแข่งขัน
  • Training Programs for Future Skills เสริมทักษะแห่งอนาคตให้มากขึ้นและทั่วถึง

 

เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนที่สำคัญจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลายด้านที่สร้างความท้าทายต่อการขับเคลื่อนไปข้างหน้า แนวโน้มเศรษฐกิจที่กำลังค่อยๆ โตช้าลงกำลังส่งสัญญาณว่าเราทำแบบเดิมไม่ได้ แต่ต้องการการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างเร่งด่วน

 

โดยภาพรวมของปัจจัยภายนอกนั้น โลกเราตอนนี้เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจระดับโลก เช่น สหรัฐอเมริกา มีการเติบโตอย่างมาก แต่ในปีนี้อาจจะมีการเติบโตที่ลดน้อยลง แต่ยังคงไว้ด้วยความแข็งแกร่ง อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะค่อนข้างสูง เราอาจจะได้เห็นเงินเฟ้อลดลง และธนาคารอาจลดอัตราดอกเบี้ยลงได้

 

หลายประเทศมีการเลือกตั้งในปีนี้ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมีแน่นอน และมาพร้อมกับความตึงเครียดที่สะสมมาตั้งแต่ปี 2566 ในเมืองไทยการฟื้นตัวของเราค่อนข้างช้า เราหวังว่าการท่องเที่ยวจะสามารถส่งการฟื้นตัวของไทยได้ดีขึ้น รวมทั้งการส่งออกที่ติดลบมาตลอดหวังว่าในปีนี้จะดีขึ้น ที่สำคัญคือนโยบายการคลังอัตราดอกเบี้ย และนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน 

 

จะเห็นว่าหัวใจของปัญหายังคงอยู่ที่การผันผวนในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะตามมาในอนาคต ฉะนั้น การรับมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมรับมือกับความเสี่ยง บริหารความเสี่ยงให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ หากลดต้นทุนได้โดยไม่ส่งผลต่อคุณภาพก็ควรที่จะทำ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X