×

คว้าโอกาสท่ามกลางมรสุมความท้าทาย โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทยปี 2567

08.10.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทยปี 2567

HIGHLIGHTS

5 min read
  • ประเทศไทยกำลังเผชิญกับคลื่นความท้าทายที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลกหลายประการ เช่น เศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มซบเซา, ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์, การเข้าสู่ยุค AI รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 
  • ในเวลาเดียวกันความเสี่ยงภายในประเทศหลากหลายด้าน เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือน และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะใช้งบประมาณมหาศาล ก็กำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากความกังวลด้านเสถียรภาพ 
  • ท่ามกลางมรสุมความท้าทายที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงถึงกันในหลายมิติ ประเทศไทยจำเป็นต้องฉวยโอกาสยกระดับศักยภาพของตัวเอง เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ปี 2024 ถือเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับโจทย์ความท้าทาย หรือเมกะเทรนด์ ในหลายด้าน ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน ปัจจัยแรกสุดคือ ความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มซบเซาอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังอยู่ในสถานะไม่ดีจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ภายใน ทำให้ไม่สามารถเป็น Engine of Growth ให้กับโลกเหมือนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

 

ดอกเบี้ยสูงเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโลก

 

ขณะที่ในฝั่งชาติตะวันตก ภาวะเงินเฟ้อที่ยังไม่ลดลงตามเป้าหมายจะกดดันให้ธนาคารกลางในหลายประเทศต้องคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง โดยล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณออกมาค่อนข้างชัดว่า อาจปรับดอกเบี้ยในปีนี้ขึ้นอีก 1 ครั้ง จากระดับปัจจุบันที่ 5.25-5.5% พร้อมปรับมุมมองต่อดอกเบี้ยในปี 2024 และ 2025 ว่าอาจอยู่ในระดับสูงยาวนานขึ้น (Higher for Longer) 

 

ในระยะสั้นความกังวลต่อภาวะดอกเบี้ยสูง Higher for Longer ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับใกล้เคียง 5% ทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 15 ปี 

 

ผลกระทบจากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลกลับไปยังสหรัฐอเมริกา ได้ส่งผลให้ Bond Yield 10 ปีของไทยขยับขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 เดือน ขณะที่ค่าเงินบาทก็อ่อนค่าผ่านระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ คิดเป็นการอ่อนค่าจากระดับต้นปีที่ 6.75% จนเมื่อเร็วๆ นี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกมาส่งสัญญาณว่า พร้อมเข้าดูแลค่าเงินในกรณีที่มีความผันผวนเกินไป

 

แน่นอนว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ที่เติบโตได้ช้าลงย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากภาคส่งออกที่ทำสถิติหดตัวหลายเดือนติดต่อกัน สอดคล้องกับภาคการผลิตที่ชะลอตัวลงตาม

 

เข้าสู่ยุค AI คลื่นลูกที่ 2 ของเทคโนโลยีดิสรัปชัน

 

โจทย์ความท้าทายต่อมาคือ การเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะการเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะพลิกโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ปัจจุบันจะยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง แต่เชื่อว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก เรียกได้ว่าก้าวกระโดดยิ่งกว่าทวีคูณ ทำให้ไทยต้องก้าวให้ทันกับเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีใหม่นี้

 

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ให้มุมมองในประเด็นนี้ว่า การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค AI ซึ่งถือเป็นเวฟ หรือคลื่นลูกที่ 2 ของกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชัน ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของไทยว่าจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ปรับตัวเท่าทันได้อย่างไร เพราะเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และจะกระทบไปถึงทักษะของแรงงานในระบบ รวมถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยที่เป็นความท้าทายใหญ่ในระยะยาว

 

“รอบแรกของดิจิทัลดิสรัปชันได้จบลงไปแล้ว แต่รอบสองกำลังเริ่มต้น ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ว่า ไทยจะทำให้คนและภาคธุรกิจนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยทั้งในแง่กฎหมาย การประกอบธุรกิจ และการพัฒนาทักษะ เป็นเรื่องจำเป็นที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญเพื่อ Reshape โครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไปสู่ Digital Economy” ผยงกล่าว

 

เปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว

 

อีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยจำเป็นต้องมีแผนรับมืออย่างเท่าทันในด้านนี้ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศพึ่งพาภาคเกษตรที่ต้องอาศัยดิน ฟ้า อากาศ ในการทำกิน ขณะที่พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เช่น นิคมอุตสาหกรรมและแหล่งท่องเที่ยวหลัก ก็อยู่ตามแนวชายฝั่ง ซึ่งเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ได้เริ่มต้นบังคับใช้กฎหมาย EU-CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) เพื่อจำกัดการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก EU ที่มีราคาสูงกว่า 150 ยูโรในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ซีเมนต์, บริการไฟฟ้า, ปุ๋ย, เหล็กและเหล็กกล้า รวมทั้งอะลูมิเนียม  

 

ในทำนองเดียวกัน สหรัฐฯ จะมีการบังคับใช้กฎหมาย US Clean Competition Act ในปี 2024 กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล, ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม, ปิโตรเคมี, ปุ๋ย, ไฮโดรเจน, กรดอะดิปิก, ซีเมนต์, เหล็กและเหล็กกล้า, อะลูมิเนียม, กระจก, เยื่อกระดาษและกระดาษ รวมทั้งเอทานอล ด้วยเช่นกัน

 

ภายใต้กฎหมาย CBAM และ Clean Competition Act นี้ หากสินค้าใดปล่อยคาร์บอนเกินกว่าที่พื้นฐานกำหนดไว้ จะต้องเสียภาษีคาร์บอนให้กับยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้ผลกระทบจะเกิดขึ้นโดยตรงต่อผู้ส่งออกไทยในระยะยาว หากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับกระแสธุรกิจสีเขียวและความยั่งยืนได้

 

ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์เข้มข้นขึ้น

 

สำหรับความท้าทายสุดท้ายที่มาจากปัจจัยภายนอกคือ ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเชื่อว่าจะมีความเข้มข้นขึ้นทั้งในรูปแบบของ Trade War และ Tech War เพราะปี 2024 จะเป็นปีที่สหรัฐฯ มีการเลือกตั้ง ทำให้มีความสุ่มเสี่ยงที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนและรัสเซียอาจเพิ่มสูงขึ้น สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายว่าอาจนำไปสู่ปัญหา Supply Chain Disruption ของโลกอีกระลอก

 

ล่าสุดองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ออกมาคาดการณ์ว่า ภาพรวมของการค้าโลกในปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 0.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.7% พร้อมแสดงความกังวลว่า สถานการณ์ดังกล่าวอาจรุนแรงขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจ ที่จะส่งผลให้ห่วงโซ่การผลิตของโลกแยกออกจากกัน และมีการกีดกันทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น

 

จับตาเสถียรภาพในประเทศ

 

หันมาดูความท้าทายภายในประเทศของไทยเอง ในปีหน้ายังมีหลายประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยในปัจจุบันที่มียอดคงค้างอยู่ราว 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ซึ่งจะใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต พักหนี้ภาคเกษตร และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็กำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะกังวลว่าจะสร้างภาระทางการคลังที่สูงในกับประเทศ

 

คว้าโอกาสท่ามกลางความท้าทาย

 

อย่างไรก็ดี ในทุกความท้าทายย่อมมีโอกาสแฝงอยู่ หากไทยสามารถโต้คลื่นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรือเมกะเทรนด์ เหล่านี้ได้ดี เศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสที่จะเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยในแง่ของความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจโลก การมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศในยามที่เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกได้ลดลง ก็อาจเป็นโอกาสของไทยที่จะหาเครื่องยนต์ใหม่ เช่น การลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ เข้ามาช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทดแทนการส่งออกที่มีสัดส่วนมากถึง 60% ของ GDP ได้

 

ทั้งนี้ คงต้องจับตาดูว่าในปีหน้าความพยายามเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาการส่งออก มาเป็นพึ่งอุปสงค์ในประเทศและการลงทุนในประเทศผ่านนโยบายภาครัฐ จะผลิดอกออกผลมากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าการกระตุ้นที่ไม่ตรงจุดก็สุ่มเสี่ยงที่จะกระทบเสถียรภาพในระยะยาวของประเทศ เรื่องนี้จึงเป็นทั้งโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายและเป็นโอกาสในการ Shift Growth ของไทย

 

ในด้านการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี แม้ว่าการเข้าสู่ยุค AI อาจทำให้คนไทยจำนวนมากอยู่ในภาวะเสี่ยงต้องตกงาน แต่ในอีกด้านก็สามารถมองเป็นโอกาสของประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยได้เช่นกัน  

 

“ในอนาคตเราอาจทำงานโดยมีคู่คิดเป็นหุ่นยนต์นั่งอยู่ข้างๆ เป็นหุ่นยนต์ที่คิดได้แบบมนุษย์ด้วยข้อมูลที่เราป้อนเข้าไป ทำให้ทักษะของแรงงานในระยะข้างหน้าจะไม่เหมือนเดิม คำถามคือ เราได้เตรียมบุคลากรไว้รองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้อย่างไร นี่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ” ผยงระบุ

 

ขณะที่การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Sustainability) ผลักดันให้การดำเนินธุรกิจคำนึงถึงหลักการ ESG เพื่อเพิ่มการแข่งขันที่เป็นธรรมและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่ธุรกิจรายย่อยให้เติบโตได้อย่างมั่นคง ก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์สำคัญที่ทุกประเทศของโลกกำลังมุ่งไป แต่การจะบรรลุผลได้นั้นจำเป็นที่หน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ต้องจับมือร่วมกันทำงาน เพราะหลายฝ่ายมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพียงทางเลือก แต่เป็นทางรอดของประเทศ

 

ส่วนความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ หากมองให้ดี เรื่องนี้จะถือเป็นโอกาสครั้งใหญ่ที่ซ่อนอยู่ของไทยเช่นกัน โดยงานวิจัยของธนาคาร HSBC พบว่า ภูมิภาคอาเซียนจะก้าวขึ้นมาเป็น 1 ใน 5 เขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยมูลค่า GDP ถึงกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 139 ล้านล้านบาท ภายในปี 2025 นอกจากนี้ยังมองว่าอาเซียนจะเป็นภูมิภาคที่ได้รับประโยชน์จากนโยบาย China+1 หรือการกระจายฐานการผลิตออกจากจีนมากที่สุด

 

แน่นอนว่าในบรรดาประเทศอาเซียน ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกมองว่าจะได้รับอานิสงส์สูงสุดจากกระแสการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน อย่างไรก็ดี ไทยเองก็จำเป็นต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์และเวียดนาม ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาให้ได้มากที่สุด ซึ่งโจทย์ใหญ่ที่ไทยกำลังเร่งทำอยู่ในตอนนี้คือ การลดความยุ่งยากของขั้นตอนทางกฎหมายในการดำเนินธุรกิจ และการเร่งเจรจาเพิ่มเขตการค้าเสรี

 

เมกะเทรนด์ต่างๆ เหล่านี้มีความซับซ้อนสูง และในหลายมิติมีความเชื่อมโยงถึงกันและกัน ดังนั้นการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนเพื่อช่วยให้ประเทศสามารถฝ่าคลื่นการเปลี่ยนแปลงเป็น Future Ready Thailand ได้ จึงถือเป็นโจทย์อันท้าทายอย่างยิ่งของไทยในปีหน้า

 

เทรนด์โลกปี 2024 จะไปในทิศทางไหน? ประเทศไทยจะเตรียมความพร้อมอย่างไรให้ไม่ตกขบวน? มาร่วมกันหาคำตอบแบบเจาะลึกจากผู้นำระดับโลกและไทยกว่า 40 คนได้ที่งาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023: FUTURE READY THAILAND เศรษฐกิจไทยไล่ล่าอนาคต

 

วันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2566

ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC)

 

บัตร Early Bird ลดสูงสุดถึง 40% หนึ่งใบสุดคุ้ม!

⚡️เข้างานได้ 3 วันเต็ม

⚡️เข้าฟัง Conference ได้ครบทุก Session

⚡️รับสิทธิ์ดูย้อนหลัง ฟรี! 3 เดือน

คลิกดูรายละเอียดและสั่งซื้อ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X