×

5 ประเด็นเสี่ยงเศรษฐกิจไทยที่ต้องจับตาในปี 2565

09.12.2021
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

ปี 2564 ที่กำลังจะผ่านไป ถือเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิดจนทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพียงเล็กน้อย และสำหรับปี 2565 ที่จะมาถึง นักวิเคราะห์หลายฝ่ายต่างก็มีมุมมองในเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ดีจากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมทั้งการฟื้นตัวการบริโภคภายในประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ ที่มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้น ถือเป็นประเด็นความเสี่ยงใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคโควิดอีกครั้ง และเป็นเหตุให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเผชิญความไม่แน่นอนมากขึ้นในปี 2565 วันนี้จึงขอชวนทุกท่านมาติดตามประเด็นเศรษฐกิจ 5 ประเด็น ที่น่าจะมีผลสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและการเติบโตของธุรกิจไทยในปี 2565

 

ประเด็นแรก ที่หลายฝ่ายจับตามองอยู่ในขณะนี้ คือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีความสามารถในการแพร่กระจายตัวที่รุนแรงมากขึ้น และสามารถติดเชื้อได้ในกลุ่มผู้ได้รับการฉีดวัคซีน ดังนั้นในปี 2565 ประเด็นการติดเชื้อของโรคโควิดจึงยังคงเป็นประเด็นที่ทำให้เศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคบริการ มีแนวโน้มการเติบโตต่ำและมีความไม่แน่นอนสูง และสิ่งที่สำคัญในเรื่องนี้คือ แนวทางการรับมือของภาครัฐจะมีแนวทางการรับมือเช่นใด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบน้อยลง หากมีการควบคุมการระบาดที่ดี อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม หากมีการระบาดของโรคโควิดพุ่งสูงขึ้นดังเช่นที่เกิดในช่วงกลางปี 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลอาจมีความจำเป็นต้องประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทย ทั้งการบริโภคและการลงทุนมีการหดตัวลงอีกครั้งในปี 2565

 

ประเด็นที่ 2 การบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากในช่วงปี 2564 การบริโภคภาคเอกชนที่แม้จะมีการล็อกดาวน์แต่ก็ยังคงได้รับการสนับสนุนที่ดีจากมาตรการของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่งและโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ทำให้ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีการหดตัวเพียงแค่ 3.2% แม้จะมีการล็อกดาวน์เช่นเดียวกับในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 ที่มีการหดตัว 6.8% อย่างไรก็ตาม มาตรการทางการคลังที่สนับสนุนการบริโภคในปัจจุบัน มีกำหนดสิ้นสุดในเดือนธันวาคม ปี 2564 ดังนั้นเราควรต้องติดตามว่าในปี 2565 ทางภาครัฐจะมีนโยบายทางการคลังในการสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศมากน้อยเพียงใด

 

ประเด็นที่ 3 การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ส่งผลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวอยู่ในระดับสูง โดยภายใต้สมมติฐานที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ประกอบกับความเป็นไปได้ที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือ OPEC จะยังคงอัตราการผลิตน้ำมันในระดับต่ำ จึงอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกทรงตัวอยู่ในระดับสูงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ซึ่งผลกระทบต่อเนื่องจะทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยทรงตัวอยู่ในระดับสูงเช่นกัน ราคาสินค้าอาจมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของไทยก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเติบโต 2.71% นอกเหนือจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภคก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2565 อาจเป็นอีกปัจจัยที่กดดันการบริโภค จนทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในระดับต่ำกว่าที่คาด

 

ประเด็นที่ 4 แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นทั่วโลก ที่ถึงแม้ทั่วโลกมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากประเด็นของการแพร่ระบาด แต่เนื่องด้วยอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศ รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ มีการส่งสัญญาณในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อ โดยการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงวันที่ 13-14 ธันวาคมที่จะมาถึงนี้ เป็นที่น่าจับตาว่าแนวทางการสื่อสารของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร ซึ่งรวมถึงแนวทางการดำเนินนโยบายทางการเงิน ทั้งการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ หรือ QE (Quantitative Easing) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปในปี 2565 คืออัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะมีการปรับเพิ่มในช่วงเวลาใด และปรับเพิ่มขึ้นในอัตรามากน้อยเพียงใด

 

ประเด็นสุดท้ายที่เกี่ยวข้องต่อธุรกิจส่งออกนำเข้า นั่นคือทิศทางค่าเงินบาทในปี 2565 ที่มีแนวโน้มผันผวนเพิ่มมากขึ้นจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับในปี 2565 ค่าเงินบาทจะได้รับแรงสนับสนุน ทั้งด้านการแข็งค่าเงินบาท ที่ได้รับการสนับสนุนจากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยว น่าจะมีส่วนทำให้ความต้องการเงินบาทเพิ่มสูงขึ้น หรือในทางกลับกัน ค่าเงินบาทไทยก็มีแนวโน้มอ่อนค่าได้จากนโยบายการเงินโลกที่ทำให้เงินทุนทั่วโลกไหลเข้าสู่สกุลเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้สกุลเงินเอเชียและสกุลเงินบาทมีการปรับตัวอ่อนค่าเพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินจากประเด็นเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก อาจทำให้ค่าเงินบาทในปี 2565 มีความผันผวนเพิ่มมากขึ้น

 

แม้ปี 2565 จะเป็นปีหลักของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นำโดยการฟื้นตัวของการบริโภคและธุรกิจในภาคบริการ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาดูกันต่อไป ภาคธุรกิจจึงควรวางแผนรับมือต่อความเสี่ยงเหล่านี้ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นและเติบโตได้ดีในปี 2565 ครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X