×

คนไทยกังวลรายได้ไม่สอดคล้องค่าครองชีพ-น้ำมันแพง-เสี่ยงตกงาน แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลุกดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้น 2 เดือนติด

13.12.2024
  • LOADING...

หอการค้าไทยเผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัว หลังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและภาคการท่องเที่ยว แต่คนไทยยังกังวลปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก หนี้ครัวเรือน ชี้ว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ห่วงเสี่ยงตกงาน

 

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2567 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือน

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

“ผู้บริโภคเริ่มเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วยผ่อนคลายให้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

 

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2567 มีทั้งบวกและลบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

 

โดยปัจจัยบวก ได้แก่

 

  1. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/67 ขยายตัว 3% เร่งขึ้นจากไตรมาส 2/67 ที่ขยายตัว 2.2% ส่วนช่วง 9 เดือนของปี 2567 ขยายตัว 2.3% โดยทั้งปี 2567 คาดจะขยายตัว 2.6% สูงกว่าการประเมินครั้งก่อนว่าจะอยู่ที่ 2.3-2.8% โดยมีค่ากลางที่ 2.5% ส่วนปี 2568 คาดจะขยายตัว 2.3-3.3% โดยมีค่ากลางที่ 2.8%

 

  1. รัฐบาลดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายรวม 14.55 ล้านคน โดยเริ่มโอนเงิน 10,000 บาท

 

  1. นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้นหลังจากการเปิดประเทศ การยกเว้นการยื่นวีซ่านักท่องเที่ยว รวมถึงการขยายระยะเวลาการพำนักของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น

 

  1. การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม 2567 มีมูลค่า 27,222.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.60% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 28,016.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.11% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 794.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ช่วง 10 เดือนของปี 2567 ส่งออกได้รวม 250,398.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.94% และมีการนำเข้ารวม 257,149.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.90% ส่งผลให้ขาดดุลการค้ารวม 6,751.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

  1. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดีเกือบทุกรายการสำคัญ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

 

  1. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบขยายเวลาคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไว้ที่ 7% ต่ออีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 – 30 กันยายน 2568 เพื่อส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

 

  1. รัฐบาลออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 พฤศจิกายน 2567 และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเป็นการสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหา

 

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่

 

  1. ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพ หนี้ครัวเรือน รวมถึงผู้บริโภคยังรู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

 

  1. ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ 91 (E10) และแก๊สโซฮอล์ 95 (E10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.10 และ 1.10 บาทต่อลิตร ตามลำดับ จากระดับ 34.88 และ 35.25 บาทต่อลิตร ตามลำดับ และมาอยู่ที่ระดับ 35.98 และ 36.35 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ส่วนราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ระดับ 32.94 บาทต่อลิตร

 

  1. SET Index ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ปรับตัวลดลง 38.50 จุด โดยปรับตัวลดลงจาก 1,466.04 จุด ณ สิ้นเดือนตุลาคม เป็น 1,427.54 จุด ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน

 

  1. ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคใต้ ที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร

 

  1. ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ ทั้งสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันและพลังงานโลกยังทรงตัวสูงและกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า เป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง ตลอดจนอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต

 

  1. เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 33.372 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนตุลาคม เป็น 34.448 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน ทำให้มีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก

 

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 50.4, 54.3 และ 66.1 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือน เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนตุลาคมที่อยู่ในระดับ 49.6, 53.5 และ 65.1 ตามลำดับ

 

ขณะเดียวกัน การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงจากสงครามการค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต จนอาจทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

 

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 56.0 เป็น 56.9 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือน การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน สงครามอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซา ที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ, ภาคการท่องเที่ยว, ภาคการส่งออก, ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาอันใกล้นี้

 

“ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น 2 เดือนติด สะท้อนว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในอนาคตได้ หากรัฐบาลขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีต่อเนื่อง และไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ เกิดขึ้นเพิ่มเติม ทั้งความเสี่ยงจากภายในและภายนอกประเทศ ”

 

ภาพ: Lauren DeCicca, Getty images

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X