×

e-Wallet ไทยยังไม่เกิด เพราะมี Mobile Banking และ PromptPay ขวางอยู่ แต่ทำไม BigPay จากมาเลเซียถึงกล้าบุกเข้ามา?

13.08.2024
  • LOADING...
BigPay e-Wallet

เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่กระแส e-Wallet เริ่มก่อตัวขึ้นในไทย หากมองย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้น หลายคนต่างคาดหวังว่านี่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะพลิกโฉมวงการการเงินไทยให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว

 

แต่จนถึงวันนี้ความฝันนั้นดูเหมือนจะยังเลือนรางเพราะ e-Wallet ในไทยยังคงอยู่ในสภาวะ ‘ไม่ปัง ไม่แป้ก’ ท่ามกลางคำถามที่ว่า ทำไม? อะไรคืออุปสรรคที่ขวางกั้นเส้นทางสู่ความสำเร็จของ e-Wallet ในไทย?

 

และในขณะที่ e-Wallet เจ้าถิ่นยังคง ‘คลำทางอยู่’ ก็มีผู้เล่นรายใหม่จากต่างแดนอย่าง BigPay จากมาเลเซีย ที่ข้ามพรมแดนมาท้าชิงตลาด e-Wallet ในไทย สร้างความตื่นตัวและตั้งคำถามใหม่ให้กับวงการว่า การมาของ BigPay จะเป็นตัวเร่งให้ e-Wallet ไทยแจ้งเกิด หรือจะเป็นเพียงแค่ ‘พลุ’ ที่สว่างวาบแล้วดับไป?

 

“ทุกคนต่างมองว่าพวกเรา (BigPay) เป็น ‘Latecomer’ ในตลาดฟินเทค หรือผู้เล่นที่เข้ามาช้าไป แต่ผมอยากจะบอกว่าเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ตอนผมเริ่มตั้งบริษัทสายการบิน AirAsia ผมทำธุรกิจด้วยเครื่องบินแค่ 2 ลำ จนทุกวันนี้เราสามารถก้าวขึ้นมาเป็นสายการบินอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียได้” โทนี เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แคปปิตอล เอ (Capital A) และ MOVE Digital ที่บินตรงมาจากมาเลเซีย กล่าวต่อหน้าสื่อมวลชนของไทย

 

“เรามั่นใจมากว่า BigPay จะทำแบบนั้นได้กับตลาดฟินเทค เพราะหลายครั้งเรามีความเข้าใจตลาดได้ดีกว่าผู้เล่นเดิมที่อยู่มานานกว่าเราเสียอีก”

 

 

ย้อนกลับไปวงการ e-Wallet ในบ้านเราเริ่มต้นด้วยยักษ์ใหญ่ในฝั่งโอเปอเรเตอร์เป็นกลุ่มแรกที่กระโดดเข้าสู่สังเวียนด้วยการเปิดตัว e-Wallet ของตัวเอง ทั้ง AIS ที่มี mPay ฟาก DTAC มี Jaew Wallet ส่วน True ก็มี TrueMoney และก็มีบริษัทอื่นๆ ตามมาอีก เช่น Rabbit LINE Pay และ Dolfin Wallet

 

แต่เกือบทั้งหมดได้ลาตลาดไปหมดแล้ว เหลือเพียง TrueMoney และ Rabbit LINE Pay ที่เปลี่ยนมาอยู่ภายใต้ LINE MAN Wongnai เมื่อปลายปีที่แล้ว

 

“กำแพงใหม่ที่ขวางไม่ให้ e-Wallet มี 2 ส่วนคือ Mobile Banking ที่แข่งกันพัฒนา และการเข้ามาของ PromptPay ที่ทำให้การจ่ายเงินนั้นสะดวกมากๆ สำหรับคนไทยทั่วไป” แหล่งข่าวในแวดวงเทคโนโลยีฟินเทคให้ความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH

 

หลายค่ายมักเทียบไทยกับจีนว่า e-Wallet จะสามารถแจ้งเกิดได้เหมือนในแดนมังกร แต่จริงๆ แล้วแหล่งข่าวให้มุมมองที่น่าสนใจว่า การที่คนจีนนิยมใช้ e-Wallet เป็นเพราะ Mobile Banking นั้นไม่ได้มีฟีเจอร์ที่น่าสนใจ แทบกับของไทยที่ตอนนี้แทบจะทำได้ทุกอย่าง ดังนั้นคนจีนจึงต้องโยกเงินไปสู่ e-Wallet เพื่อใช้จ่าย

 

ยิ่งการมาถึงของ PromptPay ก็ยิ่งทำให้ความจำเป็นในการใช้ e-Wallet ของคนไทยนั้นลดลงไปเรื่อยๆ เพราะสามารถใช้จ่ายผ่าน Mobile Banking ได้ทันที

 

ข้อมูลจากบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด หรือ NITMX ผู้พัฒนาและให้บริการระบบการชำระเงินและการโอนเงินระหว่างธนาคารของไทย ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบ PromptPay ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียน PromptPay อยู่ที่ 71.31 ล้านหมายเลข ถือว่าครอบคลุมผู้ใช้งานทั้งประเทศ

 

ในปี 2566 จำนวนธุรกรรม PromptPay เพิ่มขึ้น 34% และมูลค่าธุรกรรม PromptPay เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยมียอดธุรกรรมโอนเงินและชำระเงินผ่าน PromptPay ตลอดทั้งปีรวมทั้งสิ้น 18,362 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 46 ล้านล้านบาท โดยมีจำนวนธุรกรรมเฉลี่ยต่อวัน 58.23 ล้านรายการ และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

“เพราะความแข็งแกร่งของ Mobile Banking และ PromptPay ทำให้ e-Wallet ที่ยังอยู่ได้ล้วนมาจาก Ecosystem ของตัวเองทั้งนั้น” แหล่งข่าวระบุ

 

 

ภาพนี้เห็นได้ชัดเจนมากกับ TrueMoney ที่ได้อานิสงส์จาก 7-Eleven ที่มีตัวเลขกว่า 14,730 สาขา (ณ 31 มีนาคม 2567) ซึ่งการไม่รับ PromptPay รวมถึงการรูดบัตรเครดิตมีขั้นต่ำ ก็เป็นการบังคับกลายๆ ให้ลูกค้าที่ไม่พกเงินสดต้องจ่ายผ่าน TrueMoney ไปโดยปริยาย

 

ตัวเลขล่าสุดที่เปิดเผยในช่วงกลางปี 2566 TrueMoney ระบุว่า มีผู้ใช้ 27 ล้านราย ขณะที่จำนวน Active Users ราว 17-18 ล้านคนต่อเดือน มีจุดรับชำระของแพลตฟอร์มกว่า 7 ล้านจุดในร้านค้าออนไลน์กว่า 1.3 ล้านร้านค้าทั่วโลก และจ่ายในประเทศอื่นๆ อีกราว 40 ประเทศ

 

ขณะที่การเข้ามาของ BigPay อย่างเป็นทางการเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้วางตัวเองเป็นแพลตฟอร์มกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) สำหรับทำธุรกรรมใช้จ่ายในประเทศและระหว่างประเทศผ่านช่องทางบัตรเสมือน Visa (Visa Virtual Card) และบัตรพลาสติก Visa Platinum Prepaid Card

 

BigPay ระบุว่า แพลตฟอร์มของตัวเองนั้นสามารถใช้จ่ายกว่า 130 ล้านร้านค้าทั่วโลก ทั้งออนไลน์และร้านค้าทั่วไป

 

เพราะรู้ดีว่ามีกำแพงใหญ่ขวางแพลตฟอร์ม e-Wallet ดังนั้นการเข้ามาในไทยซึ่งเป็นประเทศที่ 3 ในแผนการขยายธุรกิจต่อจากมาเลเซียและสิงคโปร์ BigPay จึงต้องทำการบ้านมาเป็นอย่างดี

 

“เราต้องการจะจับลูกค้ากลุ่มที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวเป็นกลุ่มหลักในช่วงเริ่มต้นก่อน เพราะเรามีข้อได้เปรียบเรื่องฐานข้อมูลอินไซต์ของลูกค้า AirAsia MOVE ที่ BigPay สามารถหยิบมาใช้เพื่อออกแบบบริการให้ตรงใจกลุ่มคนชอบเที่ยวได้อย่างคุ้มค่าที่สุด” เฟอร์นานเดสกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ถึงความมั่นใจในการเข้ามาเปิดบริการที่ไทยว่า “ตอนนี้เราอยากจะสร้างระบบนิเวศสำหรับนักท่องเที่ยวในเอเชีย ซึ่ง BigPay ไม่จำเป็นต้องเป็นแอปพลิเคชันที่คนใช้งานทุกวัน แต่เราขอเป็นแอปเบอร์ 1 สำหรับนักเดินทาง”

 

 

วิธีคิดดังกล่าวคล้ายกับตอนที่เฟอร์นานเดสเริ่มทำธุรกิจสายการบินครั้งแรก โดยเขามักจะบอกพนักงานของตัวเอง ณ เวลานั้นว่า เราอย่าเพิ่งคิดไปไกลถึงธุรกิจที่จะก้าวไปเป็น ‘ผู้นำ’ ระดับโลก แต่ให้คิดแค่หาวิธีที่จะเป็น ‘คิง’ หรือเบอร์ 1 ในตลาดท้องถิ่นที่ตนเองอยู่ให้ได้ และนั่นก็เป็นแนวคิดที่ BigPay จะนำมาใช้ต่อยอดกลยุทธ์การเติบโตต่อจากนี้

 

อย่างไรก็ดี เฟอร์นานเดสย้ำชัดว่า BigPay ไม่ใช่แอปธนาคารดิจิทัลและไม่ได้ต้องการจะเข้ามาแข่งกับธนาคาร แต่เลือกที่จะจับมือกับธนาคาร โดยในกรณีของบริษัทตอนนี้ก็คือร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ (BBL) เพื่อผสานความเชี่ยวชาญระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินจาก BBL เข้ากับอินไซต์ตลาดท่องเที่ยว ให้ตอบโจทย์การเก็บเงินแพลนทริปของนักท่องเที่ยวมากขึ้น

 

การเลือกไทยเป็นแห่งที่ 3 เพราะมองพฤติกรรมผู้บริโภคหลายอย่างค่อนข้างคล้ายกับในมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่ BigPay ทำธุรกิจมาอยู่แล้วก่อนหน้านี้ อีกทั้งไทยยังเป็นตลาดอันดับ 2 ของสายการบิน AirAsia สื่อให้เห็นถึงการเดินทางที่เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลา ดังนั้นบริษัทมองว่า BigPay มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก

 

การเปิดตัว e-Wallet ครั้งนี้ยังสอดคล้องกับเทรนด์ของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่อยากออกไปท่องเที่ยวนอกประเทศมากขึ้น โดยแผนเดินทางเยือนต่างประเทศของคนไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4 ทริปในปีนี้ และระหว่างทริป 81% ของผู้บริโภคชาวไทยเลือกที่จะใช้จ่ายโดยไม่พึ่งพาเงินสดเป็นตัวเลือกหลักจากผลสำรวจของ Visa

 

นอกจากการเป็นช่องทางชำระเงิน ฟีเจอร์หลักของ BigPay ยังมีตัวช่วยเก็บเงินอย่าง ‘Stash’ กระเป๋าเก็บเงินย่อย และ ‘Round-up’ ฟังก์ชันปัดเศษเงินทอนเพื่อเก็บเงินได้ทันที รวมถึง ‘Analytics’ เพื่อวิเคราะห์การใช้จ่ายแบบแบ่งประเภทสินค้า ทำให้ผู้ใช้งานเห็นและเข้าใจข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง

โดยเฟอร์นานเดสมองว่า BigPay จะเป็นเครื่องมือการเงินทางเลือกของคนไทย สำหรับบริหารการเงิน ทั้งการออม สะสมแต้ม หรือแม้แต่กู้ยืมเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยว

 

สำหรับเป้าหมายธุรกิจ อภิฤดี ปรัชญาเศรษฐ ผู้จัดการ BigPay ประจำประเทศไทย กล่าวว่า BigBay ตั้งเป้าจำนวนผู้ใช้งานไทยภายในสิ้นปีไว้ที่ 100,000 ราย และภายในอีก 2-3 ปี บริษัทหวังว่าจะสามารถแตะยอดผู้ใช้งาน 1 ล้านรายให้ได้ ซึ่งในอนาคต BigPay ก็มีแผนที่จะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น โอนเงินทั้งในและต่างประเทศ, จ่ายเงินที่ร้านค้าผ่าน QR PromptPay, ชำระบิลค่าไฟ, เติมเงินมือถือ และบริการอื่นๆ ให้จบในแอปเดียว

 

บทสรุปของเรื่องราว e-Wallet ในไทยยังคงเขียนไม่จบ สงครามยังไม่สิ้นสุด และคำถามสำคัญยังคงไร้คำตอบที่แน่ชัดว่า BigPay จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการ e-Wallet ไทยได้หรือไม่? หรือจะกลายเป็นเพียงแค่ ‘สีสัน’ ชั่วคราวที่ถูกกลืนหายไปในกระแส Mobile Banking และ PromptPay ที่แข็งแกร่ง?

 

อนาคตของ e-Wallet ไทยยังคงเป็นปริศนาที่รอการคลี่คลาย ความสำเร็จของ BigPay หรือผู้เล่นรายอื่นๆ อาจเป็นตัวจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรืออาจเป็นเพียงบทเรียนราคาแพงที่ตอกย้ำความจริงที่ว่า e-Wallet ไทยยังไม่พร้อมสำหรับการแจ้งเกิดอย่างเต็มตัว

 

 

เรื่อง: สรสิช ลีลานุกิจ, ถนัดกิจ จันกิเสน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising