×

ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม อยู่อันดับไหนในแผนที่โลก?

31.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ดัชนีประชาธิปไตยไทยหลุดท็อป 100 ลงมาอยู่ที่ 107 ในปี 2560 ตามหลังประเทศเพื่อนบ้านทั้งฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์
  • ไทยสอบตกทั้งในด้านกระบวนการเลือกตั้ง เสรีภาพพลเมือง และการทำงานของรัฐบาล
  • ถึงแม้ปัจจุบันประชากรโลก 49.3% จะอาศัยอยู่ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่มีเพียง 4.5% เท่านั้นที่อยู่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์
  • นอร์เวย์, ไอซ์แลนด์ และสวีเดน เป็นประเทศที่มีดัชนีประชาธิปไตยสูงสุดในโลก ส่วนชาด, ซีเรีย และเกาหลีเหนือรั้ง 3 อันดับท้ายสุด

 

https://www.youtube.com/watch?v=alDQELsTp6U

 

 

แม้คนไทยกำลังจะได้เลือกตั้งในปีหน้าตามที่หลายคนในรัฐบาล คสช. คอนเฟิร์ม แต่ถึงอย่างนั้นหากย้อนดูอันดับความเป็นประชาธิปไตยของไทย สถานการณ์ยังคงน่าวิตก

 

Economist Intelligence Unit (EIU) องค์กรวิจัยและวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองชั้นนำของโลกในสหราชอาณาจักร เผยรายงานการจัดอันดับ ‘ดัชนีประชาธิปไตย’ (Democracy Index) ประจำปี 2560 โดยไทยหล่นจากอันดับ 100 ในปี 2559 ลงมาอยู่ที่ 107 (คะแนนรวม 4.63) เหนือปาเลสไตน์เพียงอันดับเดียว และตามหลังบังกลาเทศ, เนปาล, ภูฏาน และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาล คสช. ในการทำตามสัญญาคืนประชาธิปไตยให้กับคนไทย  

 

ดัชนีประชาธิปไตยในภาพรวมจะมีคะแนนในช่วง 0-10 ซึ่งคำนวณจากตัวชี้วัด 60 ข้อใน 5 หมวดใหญ่ๆ ประกอบด้วย กระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม (Electoral Process and Pluralism) การทำงานของรัฐบาล (Functioning of Government) การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) วัฒนธรรมทางการเมือง (Political Culture) และเสรีภาพพลเมือง (Civil Liberties)

 

โดยประเทศที่ได้คะแนนตั้งแต่ 8-10 จะจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ (Full Democracies) ส่วนประเทศที่ได้คะแนนระหว่าง 6-7.9 จะอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีประชาธิปไตยบกพร่อง (Flawed Democracies) ขณะที่คะแนน 4-5.9 จะจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ปกครองในระบอบผสม (Hybrid Regime) และต่ำกว่า 4 คะแนนคือประเทศเผด็จการ (Authoritaian) ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่ม Hybrid Regime ในการจัดอันดับล่าสุด   

 

 

กระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม 3.00 เต็ม 10

หมวดนี้จะประเมินความยุติธรรมของการเลือกตั้ง ตัวเลือกผู้สมัครที่อิสระ และความโปร่งใสในการหาเสียง ซึ่งไทยทำได้เพียง 3.00 คะแนนในหมวดนี้ เนื่องจากในปีที่ผ่านมาไทยไม่สามารถจัดการเลือกตั้งตามโรดแมปที่วางไว้ก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 เมษายนนั้น ทำให้ต้องเลื่อนเวลาเลือกตั้งออกไป 8 เดือนจนกว่าจะร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับแล้วเสร็จ

 

การทำงานของรัฐบาล 4.29 เต็ม 10

ไทยได้คะแนนในหมวดนี้ 4.29 น้อยเป็นอันดับ 2 ในบรรดา 5 หมวด ซึ่งสะท้อนผลงานอันล้มเหลวของรัฐบาลในการส่งเสริมประชาธิปไตย รวมทั้งการเปิดรับฟังความคิดเห็นและการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยรัฐธรรมนูญไทยฉบับชั่วคราว ปี 2560 ที่ประกาศใช้ในเดือนมีนาคม ยังคงมอบอำนาจตามมาตรา 44 แก่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธาน คสช. ให้สามารถใช้อำนาจเต็มที่ตามที่เห็นสมควรโดยที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบ

 

การมีส่วนร่วมทางการเมือง 5.00 เต็ม 10

ในหมวดนี้ไทยได้ 5.00 คะแนน ซึ่งแม้จะดีกว่า 2 หมวดแรก แต่รัฐบาลยังจำเป็นต้องเปิดกว้างให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น

 

วัฒนธรรมทางการเมือง 5.00 เต็ม 10

ไทยได้คะแนนในหมวดนี้ 5.00 เช่นกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไทยส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งในแง่ของการปลูกฝังความคิด อุดมการณ์ และความเชื่อแบบเสรีนิยม

 

เสรีภาพพลเมือง 5.88 เต็ม 10

ในหมวดนี้ไทยได้คะแนน 5.88 โดยในปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีการปิดกั้นสื่อที่รายงานข่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมทั้งสั่งให้สถานีโทรทัศน์และวิทยุหลายแห่งยุติการแพร่ภาพออกอากาศและกระจายเสียง นอกจากนี้ยังเกิดกรณีการสลายการชุมนุมอย่างสงบที่จังหวัดสงขลา และควบคุมการแสดงความเห็นทางการเมืองในสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง  

 

 

สถานการณ์ประชาธิปไตยทั่วโลก

รายงานของ EIU ระบุว่า ถึงแม้ปัจจุบันประชากรโลก 49.3% จะอาศัยอยู่ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่มีเพียง 4.5% เท่านั้นที่อยู่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ตัวเลขดังกล่าวลดลงจาก 8.9% ในปี 2558 ขณะที่สหรัฐฯ ถูกลดอันดับลงมาอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีประชาธิปไตยบกพร่องในปี 2559

 

สำหรับประเทศที่มีดัชนีประชาธิปไตยสูงสุดในโลก 5 อันดับแรกในปี 2560 ได้แก่ นอร์เวย์ (9.87 คะแนน), ไอซ์แลนด์ (9.58), สวีเดน (9.39), นิวซีแลนด์ (9.26) และเดนมาร์ก (9.22)

 

ส่วนประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียโดยรวมมีความถดถอยลงอย่างมาก โดยเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีอันดับดีที่สุด (อันดับ 20 และ 23 ตามลำดับ) แต่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีประชาธิปไตยบกพร่อง ขณะที่อินเดียและอินโดนีเซีย 2 ประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชีย ก็ร่วงจากอันดับ 32 และ 48 ในปี 2559 ลงมาอยู่ที่ 42 และ 68 ตามลำดับ

 

ส่วนจีน มหาอำนาจเศรษฐกิจเบอร์ 1 ของภูมิภาคอยู่ในอันดับ 139 ในขณะที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงยังคงส่งเสริมระบอบสังคมนิยมตามแนวทางของจีนโดยไม่สนโมเดลประชาธิปไตยแบบตะวันตก ส่วนเกาหลีเหนือรั้งท้ายสุดในอันดับ 167  

 

เมื่อดูเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์มีคะแนนสูงสุดที่ 6.71 คะแนน อยู่ในอันดับ 51 ตามมาด้วยมาเลเซียอันดับ 59 (6.54 คะแนน), อินโดนีเซียอันดับ 68 (6.39) และสิงคโปร์อันดับ 69 (6.32) ส่วนไทยอยู่ในอันดับ 5 ของภูมิภาคนี้

 

 

Photo: AFP

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

อ้างอิง:

  • EIU’s 2017 Democracy Index Report
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X