ทุกปีเราจะได้ยินคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เหล่านักวิชาการ เจ้าหน้าที่รัฐ และสื่อ พร่ำบอกว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้อนาคตของเราดีขึ้น อย่างคำว่า ‘ดิจิทัลฮับ’, ‘เมืองอัจฉริยะ’ และ ‘เมตาเวิร์ส’
สิ่งเหล่านี้คงจะมาช่วยเราได้จริง แต่สิ่งที่มาจากอดีตของเราล่ะ? ลองนึกถึงคุณค่าที่อยู่ในศิลปะ สถาปัตยกรรม ชุมชน และวิถีชีวิตที่สืบทอดมาหลายศตวรรษ ความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมเหล่านี้หล่อเลี้ยงชีวิตความเป็นอยู่ของเรา ตั้งแต่ระดับปัจเจกไปจนถึงระดับสังคม สิ่งเหล่านี้ก่อร่างสร้างความเป็นคนไทย และเป็นสิ่งที่ทำให้บ้านเมืองและชนบทของเราสวยงามน่าอยู่ ทำให้เราอุ่นใจ
ยิ่งไปกว่านั้น เรามีสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นมาใหม่เลย
แต่ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยกลับไม่ค่อยสนใจดูแลภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสั่งสม การเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วทำให้วัฒนธรรมของเราเสี่ยงที่จะสูญสลายไป ย่านเก่าแก่และตึกโบราณที่งามสง่า ถ้าไม่ถูกทิ้งให้ทรุดโทรมก็ถูกรื้อถอนเพื่อนำที่ดินไปพัฒนาเชิงพาณิชย์บ้าง หรือทำโครงการของรัฐบ้าง
การคำนวณกำไรขาดทุนของบริษัทเอกชน หรือการคิดดัชนีชี้วัดความสำเร็จของหน่วยงานราชการ ไม่เคยคำนึงถึงคุณค่าที่มรดกวัฒนธรรมมีต่อประชาชนทั่วไป เอาเข้าจริงมีแหล่งมรดกไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย
แต่คนส่วนใหญ่ยังคงห่วงใยมรดกวัฒนธรรม ดูจากเสียงตำหนิและเสียงคัดค้านที่ดังกระหึ่มตอนที่มีการรื้อโรงภาพยนตร์สกาลา อาคารศาลฎีกา และชุมชนป้อมมหากาฬ หรืออาคารที่ทำการป่าไม้ภาคแพร่ที่ถูกแอบรื้อ
เราพยายามได้มากกว่านี้ เพราะเราเคยทำสำเร็จมาแล้ว มรดกวัฒนธรรมเคยเป็นวาระอันดับต้นๆ ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ ตั้งแต่หลังช่วง พ.ศ. 2400 ไปจนถึง พ.ศ. 2500 หน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญชาวไทยต่างค้นคว้า บันทึก และอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีและพื้นที่ประวัติศาสตร์สำคัญไว้ได้เป็นจำนวนมาก ภาคประชาสังคมเองก็มีส่วนร่วมในการพิทักษ์มรดกวัฒนธรรมด้วย เห็นได้จากการก่อตั้งสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยงานอิสระด้านวัฒนธรรมที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2447 ซึ่งนับได้ว่าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
เมื่อ พ.ศ. 2454 มีการจัดตั้งกรมศิลปากรให้เป็นผู้รักษาโบราณสถานสำคัญ ต่อมารัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ทั้งกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานอื่น ได้ช่วยกันอนุรักษ์วัดสำคัญๆ และพระราชวังอันงามวิจิตรของไทยไว้ได้หลายแห่ง
ประเทศไทยยังมีมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าอีกหลายอย่าง ซึ่งภาครัฐยังขาดงบประมาณ และไม่มีอำนาจเข้าไปคุ้มครอง เราจึงต้องสนับสนุนกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร ข้าราชการในพื้นที่ และชุมชนทั่วประเทศ ให้เข้ามาช่วยกันระบุและพิทักษ์รักษาแหล่งมรดกเหล่านี้ เราต้องมีกฎหมายที่ปรับแก้ใหม่ การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด งบประมาณที่เพิ่มขึ้น การเอาใจใส่อย่างจริงจังของผู้นำทางการเมือง การเคารพในความหลากหลาย และการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการวางแผนจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
ถ้าไม่เริ่มลงมือ เราจะต้องสูญเสียสถานที่ต่างๆ อีกมากมาย เช่น ตึกแถวโบราณที่คุ้นตา โรงภาพยนตร์ ศาลเจ้า อาคารราชการเก่าแก่ ชุมชนริมน้ำ ตลาดสด ต้นไม้เก่าแก่ และบ้านไม้เก่าที่สวยงาม
ไม่เพียงเท่านั้น เรายังจะสูญเสียวิถีชีวิตที่ผูกโยงอยู่กับสถานที่เหล่านั้นไปด้วย การขับไล่ผู้คนในย่านที่อยู่อาศัยเก่าแก่คือการทำลายความสัมพันธ์ของครอบครัวและชุมชน ประเพณีที่ผู้คนในชุมชนช่วยกันสร้างสมมาจะมลายหายไปหมด ทั้งศิลปะ หัตถกรรม อาหาร เครื่องแต่งกาย งานรื่นเริง นาฏศิลป์ ขนบธรรมเนียม และเรื่องเล่า
วัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านี้เป็นศูนย์รวมภูมิปัญญาของบรรพชน ในด้านการดำเนินชีวิตที่สอดรับกับธรรมชาติ และตอบสนองต่อความต้องการร่วมกันของชุมชน ลองคิดถึงกิจการหาบเร่ ที่คนคนหนึ่งสามารถตั้งตัวเป็นผู้ประกอบการ และช่วยให้ชีวิตคนเมืองสะดวกขึ้น อิ่มอร่อยขึ้น ในราคาที่ย่อมเยา
การจะรักษาทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่เรามีอยู่ในทุกรูปแบบได้นั้น ทางการไทยจะต้องมีมุมมองความคิดเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมที่กว้างขึ้น โดยไม่เพียงให้ความสำคัญแค่กับอาคารโบราณ ศาสนสถาน และสถาปัตยกรรมของราชสำนักเท่านั้น เราต้องมาช่วยกันรักษาสถาปัตยกรรมในชีวิตประจำวันด้วย อย่างตึกแถวและบ้านสวน รวมไปถึงอาคารเก่าแก่ประเภทอื่นๆ เช่น สถานีรถไฟ อาคารราชการ อาคารสมัยใหม่รุ่นแรกๆ อาคารจากสมัยทศวรรษ 2490 และอื่นๆ อีกมากมาย
ด้วยความห่วงใยในมรดกวัฒนธรรม สยามสมาคมฯ ได้ก่อตั้งแผนกใหม่ขึ้นเมื่อ 11 ปีก่อน โดยใช้ชื่อว่าแผนกพิทักษ์มรดกสยาม เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสังคมด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ที่ผ่านมาแผนกพิทักษ์มรดกสยามได้สนับสนุนการทำงานของภาครัฐ โดยร่วมงานกับเจ้าหน้าที่ทั้งในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น และกับชุมชน พร้อมทั้งได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้แก่ข้าราชการและผู้ชำนาญการในแวดวงมรดกทางวัฒนธรรม และจัดการประชุมนานาชาติที่มีผู้เชี่ยวชาญจากทั่วทวีปเอเชียเข้าร่วมประชุม
สยามสมาคมฯ ตั้งเป้าที่จะทำให้สาธารณชนในวงกว้างเข้าใจเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติอย่างลึกซึ้งมากขึ้น และบอกเล่าเหตุผลและวิธีการที่เราจะรักษามรดกเหล่านั้นไว้ ด้วยเหตุนี้ สยามสมาคมฯ จึงริเริ่มคอลัมน์รายเดือนในชื่อ Heritage Matters ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว และจะเริ่มเผยแพร่เป็นภาษาไทยผ่าน THE STANDARD ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป
ในแต่ละเดือน สยามสมาคมฯ จะเชิญนักวิชาการ ผู้นำภาคประชาสังคม ผู้ชำนาญการด้านมรดกทางวัฒนธรรม นักธุรกิจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพลเมืองผู้เป็นหัวหอกในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม มาเขียนบทความในคอลัมน์ Heritage Matters ซึ่งคนเหล่านี้ไม่เพียงพูดถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในการอนุรักษ์มรดก แต่ยังกล่าวถึงโอกาสและเสนอวิธีแก้ไขปัญหาด้วย
เรามุ่งหวังจะได้แบ่งปันมุมมองอันลึกซึ้งจากนักเขียนแต่ละท่าน ที่จะช่วยให้เรามองเห็นอนาคตที่สดใสกว่าเดิมของมรดกวัฒนธรรมอันแสนรุ่มรวยของประเทศไทย
บทความโดย: พิไลพรรณ สมบัติศิริ นายกสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์
ต้นฉบับของบทความนี้เป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นภาษาไทยโดย วิษณุ เอื้อชูเกียรติ
ต้นฉบับภาษาอังกฤษเข้าถึงได้จาก https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2350519/a-brighter-future-for-thailands-past
ภาพถ่าย: อธิคม แสงไชย