×

เอกชนไทย-จีน พร้อมสร้างกติการ่วมกันใหม่ ยกการ์ดสูงสกัดสินค้าราคาถูก จ่อหารือแบงก์ชาติวางกลไกคุมแพลตฟอร์มออนไลน์-ช่องทางชำระเงิน WeChat และ Alipay

10.10.2024
  • LOADING...
สินค้าจีน

หอการค้าไทย-หอการค้าไทย-จีน และสมาคมการค้าวิสาหกิจจีน จับมือสร้างกลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจ ชี้ ต้องสร้างกติการ่วมกันใหม่ ทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และการเทขายสินค้าราคาถูก ย้ำผู้ประกอบการจีนต้องเสียภาษี VAT 7% และจดทะเบียนในไทย เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการไทย

 

พร้อมเตรียมเข้าพบนายกรัฐมนตรีและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารือมาตรการ รวมทั้งเสนอขอให้รัฐวางกลไกกำกับช่องทาง ‘การชำระเงิน’ ผ่านแอปพลิเคชันอย่าง WeChat และ Alipay เหตุไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

สินค้าจีน

 

 

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และตัวแทนประสานงานของกลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีนอย่างยั่งยืน กล่าวว่า การจัดตั้ง ‘กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีนอย่างยั่งยืน’ ผ่านแผนดำเนินการสำคัญ 9 ข้อ เช่น การประชาสัมพันธ์ข้อมูลเศรษฐกิจ, การค้าที่เชื่อถือได้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ, การจัดงาน Supplies Matching และงานแสดงสินค้าเพื่อเพิ่มโอกาสในการร่วมมือในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น 5G e-Commerce และโลจิสติกส์ รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมใหม่อย่าง อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้ธุรกิจทั้งสองประเทศปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด

 

“กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีนอย่างยั่งยืน จะเป็นช่องทางหลักในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีน เราหวังว่าจะสามารถช่วยลดข้อกังวลและอุปสรรคต่างๆ ที่ภาคธุรกิจทั้งสองประเทศเผชิญหน้า และยังเป็นโอกาสที่ดีในการขยายความร่วมมือไปยังอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ” พจน์กล่าว

 

ทางด้าน สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย

 

สินค้าจีน

 

 

ปัจจุบัน e-Commerce มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสองประเทศ จีนถือเป็นต้นแบบที่ดีที่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการผลิตและ Supply Chain การเข้ามาลงทุนของจีนในประเทศไทยจึงเป็นโอกาสสำคัญที่จีนจะช่วยให้ไทยสามารถยกระดับศักยภาพจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีน

 

“ส่วนประเด็นการแก้ปัญหาสินค้าต่างประเทศทะลักเข้าไทยที่จำหน่ายผ่าน e-Commerce ซึ่งเป็นสินค้าราคาถูกและไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับความเดือดร้อนนั้น หากมีการจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ จะต้องมีระบบควบคุมการจำหน่ายสินค้าให้มากขึ้น” สนั่นกล่าว

 

สนั่นกล่าวอีกว่า การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและเครื่องจักร จนทำให้ไทยขาดดุลการค้าจีนเป็นจำนวนมากนั้น ส่วนหนึ่งเพราะมีนักลงทุนจากจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้จะเข้าหารือกับรัฐบาล โดยได้ทำหนังสือขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีและ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ขอให้ออกมาตรการกับสินค้าต่ำกว่ามาตรฐาน โดยที่ผ่านมามีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกระทรวงการคลัง กำกับ แต่อนาคตอาจจำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบและออกมาตรฐานการดูแลสินค้าให้ชัดเจน โดยมีศุลกากรที่จำเป็นต้องเป็นด่านหน้าในการดูแลสินค้าที่เข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน จะต้องสกัดไว้ไม่ให้นำเข้ามา

 

ส่วนอีกประเด็นที่สำคัญคือการค้าสินค้าผ่านตลาด e-Commerce เช่น Lazada และ Shopee รวมถึง Temu ภาคเอกชนใน 3 ประเด็นหลัก คือ

 

  1. ควรให้มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT 7% ในการซื้อขายสินค้าผ่าน e-Commerce

 

  1. เนื่องจากการซื้อขาย e-Commerce ไม่ได้มีการแสดงบัญชีกำไร-ขาดทุน หากเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการไทย เมื่อมีผลประกอบการดีหรือมีกำไร จะเสียภาษีให้ภาครัฐ 20% ดังนั้น เห็นว่าควรจะมีการเก็บภาษีกำไรหรือภาษีกลุ่มธุรกิจนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการไทย

 

  1. การชำระเงิน ที่ผ่านมามีการชำระผ่านแอปพลิเคชันอย่าง WeChat หรือ Alipay ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ซึ่งเอกชนมองว่าเรื่องนี้ควรจะต้องมีการหารือวางกลไกเข้ามาดูแล

 

ด้าน ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า หอการค้าไทย-จีนพร้อมสนับสนุนการจัดตั้งกลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันของทั้ง 2 ประเทศ โดยหอการค้าไทย-จีน ได้จัดตั้งสหพันธ์หอการค้าไทย-จีนและสมาคมธุรกิจต่างๆ กว่า 80 สมาคม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ประกอบการชาวจีนในประเทศไทย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X