ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยดูจะยังไม่สดใสมากนัก ซึ่งแตกต่างกับตลาดต่างประเทศที่ต่างก็ปรับตัวขึ้นกันมาอย่างคึกคัก แม้ว่าในช่วงต้นปีประเทศไทยจะมีความคาดหวังจากผลของการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ที่ทำให้บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างคาดหวังว่าตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากความคาดหวังในเชิงบวกเกี่ยวกับเม็ดเงินที่จะกระจายสู่เศรษฐกิจในช่วงของการหาเสียง รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่จะเอื้อต่อการเติบโตของประเทศดังที่เป็นมาในอดีต
แต่สำหรับในปีนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงสูงสุดและมีโอกาสได้เป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล ตลาดปรับตัวลดลงทันทีจากความกังวลว่าหลายนโยบายของพรรคไม่เอื้อต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนเท่าใดนัก
นับจากนั้นมาประเทศไทยก็มีแต่ความไม่ราบรื่นในการจัดตั้งรัฐบาลมาโดยตลอด ซึ่งนับเป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วที่ตลาดทุนไทยยังคงเฝ้าจับตามอง จนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้นำประเทศคนใหม่ รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลและตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยไร้ทิศทางและยังคงขึ้นๆ ลงๆ ในกรอบแคบๆ มาโดยตลอด
เป็นที่รู้กันดีว่าเรื่องราวของการเมืองกับตลาดหุ้นนั้นมักแยกกันไม่ค่อยออก กล่าวคือในระยะสั้น เมื่อการเมืองยังไม่มีความชัดเจนย่อมส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความผันผวน แกว่งตัวไปตามข่าวสารต่างๆ ที่ออกมาในแต่ละวัน ซึ่งในอดีตหากผลการเลือกตั้งออกมาชัดเจนว่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะอย่างขาดลอย ดัชนีก็มักจะวิ่งขึ้นแรงในช่วงแรก ซึ่งในทางกลับกัน หากได้รัฐบาลผสมหรือไม่มีความชัดเจนในการจับขั้ว รวมถึงรัฐบาลที่จะจัดตั้งมีโอกาสประสบปัญหา ขาดเสถียรภาพ ดัชนีก็จะมีความผันผวน
ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลผลตอบแทนของ SET Index ย้อนหลัง และนำผลตอบแทนมาคำนวณเฉลี่ยแบ่งตามช่วงเวลา ก็จะพบว่าในช่วงก่อนการเลือกตั้งประมาณ 3 เดือน SET Index จะให้ผลตอบแทนที่ประมาณ 3.1% และในช่วง 3 เดือนแรก ภายหลังจากการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นไทยมักให้ผลตอบแทนติดลบ ซึ่งก็ถือว่าสมเหตุสมผล ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขายทำกำไรที่ได้มาก่อนหน้า ประกอบกับช่วงเวลานั้นจะเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลรักษาการไปสู่รัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการผ่านงบประมาณ รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จึงกล่าวได้ว่าการปรับตัวของตลาดหุ้นในช่วงหลังการเลือกตั้งในปีนี้ ยังคงเป็นการสะท้อนความกังวลของนักลงทุนในช่วงที่กำลังรอความชัดเจนทางการเมือง แต่อย่างไรก็ดี ในระยะยาวก็จะต้องมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศอย่างแน่นอน และเมื่อถึงเวลานั้น ตลาดก็จะกลับมามองที่นโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนกันอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นครึ่งหลังของปี 2566 ยังคงคาดว่าหลังการจัดตั้งรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อยตลาดจะฟื้นตัว โดยเป็นการฟื้นตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่หน่วยงานวิจัยทางเศรษฐกิจหลายแห่งประเมินว่าจะเติบโตได้ดีขึ้น หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดตั้งแต่ต้นปี และมีความคาดหวังว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม ประกอบกับนโยบายการเงินของโลกที่มีแนวโน้มจะผ่อนคลายขึ้น เนื่องจากคาดว่า Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งจะเป็นแรงช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นให้กลับมา
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งยังเชื่อว่า Fed มีโอกาสจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ด้วยภาพแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว ทำให้ประเมินว่าสกุลเงินดอลลาร์จะกลับมาอ่อนค่าในช่วงสิ้นปี ซึ่งถือเป็นประเด็นบวกต่อธุรกิจส่งออก และหากการเมืองในประเทศมีความชัดเจนขึ้นหลังจัดตั้งรัฐบาลได้ อาจมีส่วนช่วยหนุนให้ภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่มที่รัฐบาลชุดใหม่ให้การส่งเสริมหรือสนับสนุนมีผลประกอบการที่ดีขึ้น ในขณะที่การบริโภคและการท่องเที่ยวครึ่งปีหลังก็ยังคงมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในเชิงการลงทุนอาจยังมีบางประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะตลาดได้เป็นระยะ คือ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังตึงเครียดเป็นระยะๆ ทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่อาจทรงตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ และทำให้การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกยังตึงตัว รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่อาจเกิดความไม่สงบ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนในช่วงเวลาข้างหน้าได้