ตั้งแต่ต้นปี (YTD) เงินบาท แข็งค่ากว่า 4% แล้ว นับว่าแข็งค่าและผันผวนเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทผันผวนมากขึ้นและปรับแข็งค่าเร็วอยู่ในกลุ่มนำสกุลภูมิภาคในไตรมาส 3 จากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่าการคาดการณ์ของตลาด
- จีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลเชิงบวกต่อทิศทางเงินสกุลภูมิภาค
- เงินลงทุนต่างชาติเริ่มไหลกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม
- ราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่
รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH โดยมองว่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าหลุดระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐภายในปีนี้ แต่คาดว่าจะอยู่ได้ไม่นานและไม่น่าจะยืนระยะได้ เนื่องจากมองว่าการที่บาทแข็งค่าต่ำกว่าระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็เกินปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เงินบาทจะแข็งถึงไหน? กระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร?:
- ส่งออกไทยขยายตัว 7% ในเดือนสิงหาคม คาดบาทแข็งเริ่มเห็นผลกระทบช่วงปลายปีนี้
พร้อมทั้งอธิบายว่าสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องมาจากบาทไทยมีความสัมพันธ์กับราคาทองคำมากกว่าประเทศอื่น
“ค่าความสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างทองคำและเงินบาทแทบจะสูงที่สุดในภูมิภาค กล่าวคือ เมื่อราคาทองคำแพง เงินบาทก็จะแข็งค่าตามไปด้วย” รุ่งกล่าว
ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล