×

‘เงินบาทแข็งค่า’ ทำจุดสูงสุดใหม่รอบ 10 เดือน เก็ง Fed ยุติขึ้นดอกเบี้ย ฉุดดอลลาร์อ่อน กรุงศรีมองกรอบเงินบาทปีนี้ 32-33 บาท

23.01.2023
  • LOADING...
เงินบาทแข็งค่า

แบงก์กรุงศรีระบุ เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือน แตะ 32.57 บาท หลังคาด Fed เตรียมหยุดขึ้นดอกเบี้ย หลังขึ้นดอกเบี้ยสิ้นเดือนมกราคมนี้อีก 0.25% เหตุเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัว ผนวกเศรษฐกิจชะลอ ส่วนเงินบาทปีนี้คาดผันผวนแข็งค่ากรอบ 32-33 บาท

 

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้ (23 มกราคม) เปิดการซื้อขายที่ 32.69 บาทต่อดอลลาร์ จากนั้นมาปิดการซื้อขายที่ 32.78 บาทต่อดอลลาร์ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนแข็งค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือนครั้งใหม่ แตะที่ระดับ 32.57 บาทต่อดอลลาร์    

 

เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่า วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) น่าจะเข้าใกล้จุดสิ้นสุด โดยคาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งที่ระดับ 0.25% ในการประชุมวันที่ 31 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์นี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.25-4.5% จากนั้นอาจตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 4.50-4.75% ทำให้ Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยไปไม่ถึงเป้าหมายระดับ 5% ตามที่วางแผนไว้ 

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ทยอยออกมา บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังชะลอตัว รวมถึงแนวโน้มเงินเฟ้อเริ่มลดลง ทำให้มีแรงเทขายเงินดอลลาร์ออกมาในระยะสั้น ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์มีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ 

 

“ในระหว่างวัน หลังจากดอลลาร์อ่อนค่าลง ทำให้มีแรงซื้อดอลลาร์กลับเข้ามา จึงทำให้เงินบาทกลับมาปิดวันนี้ที่ 32.78 บาท อีกทั้งในตลาดภูมิภาควันนี้มีการซื้อขายที่เบาบางด้วย เพราะหลายตลาดปิดทำการในเทศกาลตรุษจีน ทำให้ปริมาณธุรกรรมลดลงไปด้วย” 

 

นอกจากนี้ ตลาดยังติดตามข้อมูลการใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลเดือนธันวาคม 2022 ของสหรัฐฯ ที่จะรายงานออกมาในสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่าจะสะท้อนถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลง จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ Fed จะนำมาพิจารณาในการชะลอการขึ้นดอกเบี้ย

 

สำหรับปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม คือการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 มกราคมนี้ ซึ่งจะมีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.50% โดยนักลงทุนจะติดตามการประเมินของ กนง. เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งเผชิญความไม่แน่นอนจากภาวะการค้าโลก แต่ก็ได้แรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว รวมถึงสัญญาณเงินเฟ้อในภาคบริการ และสถานการณ์ค่าเงินบาทซึ่งแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินคู่ค้า โดยมองว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เริ่มกลับทิศ อาจช่วยจำกัดการแข็งค่าที่ร้อนแรงของเงินบาทได้บ้างในระยะนี้

 

ธนาคารฯ ประเมินกรอบเงินบาทสิ้นปี 2023 ไว้ที่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ โดยระหว่างปีจะเห็นการเคลื่อนไหวที่ผันผวนมากยิ่งขึ้นจากความกังวลในประเด็นภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย (Recession) จากผลกระทบที่ Fed กับธนาคารกลางยุโรปเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการค้าโลกให้ชะลอตัว และมีผลกระทบต่อเนื่องมายังภาคการส่งออกของไทย

 

อย่างไรก็ดี ในภาพใหญ่ยังให้น้ำหนักค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าผันผวนในกรอบที่ประเมินไว้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากกรณีที่นักท่องเที่ยวจีนสามารถเดินทางกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทย จะเป็นปัจจัยบวกให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปีนี้มีโอกาสเกินดุลในระดับ 8 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่แรงกดดันที่สนับสนุนให้ดอลลาร์แข็งเริ่มคลี่คลายลง หลังจากตลาดคาดว่า Fed จะเริ่มชะลอขึ้นดอกเบี้ย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X