สกุลเงินในภูมิภาคเอเชียปรับตัวแข็งค่าขึ้นเป็นส่วนใหญ่ในช่วงเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (5 พฤษภาคม) ท่ามกลางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ และแรงกดดันต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ ในภาพรวม ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตารอความคืบหน้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเจรจาการค้า ส่วนราคาน้ำมันดิบร่วงลงอย่างหนักกว่า 3% หลังจากกลุ่ม OPEC+ มีมติตกลงที่จะเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นอีกในอนาคต
เงินบาทแข็งสุดรอบ 7 เดือน ส่วน ดอลลาร์ไต้หวัน พุ่งแรงรอบ 30 ปี
ค่าเงินบาทแข็งต่อเนื่องสู่ระดับประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่ากว่า 5% ภายในเวลา 1 เดือน จากที่เคยอยู่ประมาณ 35 บาทต่อดอลลาร์
ดอลลาร์ไต้หวัน (TWD) แข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรงถึง 5% ในช่วงเปิดตลาด นับเป็นการแข็งค่าระหว่างวันที่มากที่สุดในรอบกว่า 3 ทศวรรษ คาดการณ์ว่าเกิดจากแรงเทขายดอลลาร์สหรัฐฯ ของผู้ส่งออกเพื่อแลกกลับเป็นสกุลเงินท้องถิ่น หลังจากที่ธนาคารกลางไต้หวันเข้าแทรกแซงตลาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อชะลอการแข็งค่า
ขณะที่ริงกิตมาเลเซีย (MYR) แข็งค่าขึ้นราว 1% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เช่นเดียวกับดอลลาร์ฮ่องกง (HKD) ยังคงเคลื่อนไหวใกล้กรอบบนที่แข็งค่าสุดของช่วงการซื้อขายเป็นวันที่สองติดต่อกัน หลังจากที่ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) เข้าแทรกแซงตลาดด้วยการเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2020 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
การแข็งค่าของสกุลเงินเอเชียเกิดขึ้นขณะที่ดอลลาร์สหรัฐ (USD) อ่อนค่าลงต่อเนื่องเป็นวันที่สอง ขณะที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 0.7% ในช่วงเช้าวันนี้ บ่งชี้ถึงแรงกดดันต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง โดยตลาดการเงินสหรัฐฯ ปิดทำการในวันนี้เนื่องในวันหยุด เช่นเดียวกับตลาดในญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน รวมทั้งตลาดหุ้นไทย
‘Sell America’ ยังดำเนินต่อ – รอความชัดเจนดีลการค้า
นักวิเคราะห์มองว่าการแข็งค่าของเงินเอเชียเป็นผลจากทั้งแรงซื้อเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อส่งกลับประเทศ (Repatriation Buying) และการที่นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Investments) ท่ามกลางกระแส ‘Sell America’ ที่ยังคงดำเนินอยู่ แม้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ทำสถิติปิดบวกยาวนานที่สุดในรอบ 20 ปีเมื่อวันศุกร์ จากสัญญาณบวกเรื่องการเจรจาการค้า แต่ความเชื่อมั่นยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่ายังไม่มีแผนจะพูดคุยกับผู้นำจีนในสัปดาห์นี้
ชารุ ชานานา หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนของ Saxo Markets ในสิงคโปร์ กล่าวว่า “การฟื้นตัวของหุ้นในช่วงสั้นๆ ไม่ได้เปลี่ยนธีม ‘Sell America’ เชิงโครงสร้าง” เธอมองว่า “ความคาดหวังเรื่องดีลการค้ากำลังถูกแทนที่ด้วยความจริงที่ว่าการเจรจานั้นซับซ้อนและดำเนินไปอย่างเชื่องช้า” ซึ่งจะสร้างความไม่แน่นอนที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจทางธุรกิจต่อไป
อย่างไรก็ตาม ราจาท อการ์วาล (Rajat Agarwal) นักกลยุทธ์เอเชียของ Societe Generale ชี้ว่า “โมเมนตัมของธีมความโดดเด่นของสหรัฐฯ (US Exceptionalism) กำลังอ่อนแรงลงอย่างชัดเจน มุมมองต่อดอลลาร์สหรัฐที่ยังคงเป็นขาลง ถือเป็นผลบวกต่อหุ้นและสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ (EM)”
ข่าวอื่นๆ และ สิ่งที่ต้องจับตาสัปดาห์นี้
ข่าวสำคัญอื่นๆ ในตลาดโลก ได้แก่ รายงานว่า Shell Plc กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าซื้อกิจการ BP Plc แต่ยังรอจังหวะที่ราคาหุ้นและราคาน้ำมันปรับตัวลงเพิ่มเติม และการประกาศลงจากตำแหน่ง CEO ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ Berkshire Hathaway
สำหรับสัปดาห์นี้ ปัจจัยสำคัญที่ตลาดจับตา ได้แก่ การแถลงนโยบายการคลังและเศรษฐกิจของ สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ต่อสภาคองเกรส และการประชุมเพื่อตัดสินนโยบายการเงินของ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
โดยนักเศรษฐศาสตร์จาก Goldman Sachs นำโดย แจน แฮตซิอุส (Jan Hatzius) คาดการณ์ว่า “ Fed น่าจะยังต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือนเพื่อรวบรวมข้อมูลที่ชัดเจนมากพอที่จะสนับสนุนการตัดสินใจลดดอกเบี้ย” พวกเขาคาดว่า Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ย 3 ครั้งติดต่อกัน ครั้งละ 0.25% ในเดือนกรกฎาคม กันยายน และตุลาคม
อ้างอิง: