×

‘เงินบาท’ อ่อนค่าแตะระดับ 33.40 ต่อดอลลาร์ ทำสถิติสูงสุดรอบ 3 ปี นักค้าเงินมองแนวโน้มอาจเห็น 34.50 ภายในปีนี้

06.08.2021
  • LOADING...
The baht depreciates

เงินบาทไทยยังคงอยู่ในทิศทางของการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ล่าสุดวันนี้ (6 สิงหาคม) แม้เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 33.37 บาทต่อดอลลาร์ แต่ระหว่างวันทำจุดอ่อนสุดที่ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ เป็นสถิติการอ่อนค่าสุดในรอบ 3 ปี นับจากวันที่ 14 สิงหาคม 2561

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า ค่าเงินบาทจะยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องในระยะสั้นจากสองปัจจัย โดยปัจจัยแรกคือเงินสกุลดอลลาร์ที่กลับมาอยู่ในโมเมนตัมแข็งค่าอีกครั้ง หลังจากที่ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed สะท้อนว่าอาจมีการทยอยปรับลด QE ภายในปีนี้

 

สำหรับปัจจัยที่สอง เป็นเรื่องสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิดในประเทศไทยเอง ที่อัตราการตายและติดเชื้อยังคงเร่งตัว ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงที่มาตรการล็อกดาวน์อาจถูกขยายต่อไปจากเดือนสิงหาคม ทำให้ต่างชาติมีการเทขายสินทรัพย์ต่อเนื่อง

 

“เชื่อว่าเราจะได้เห็นเงินบาทอ่อนค่าไปถึง 33.50 บาทต่อดอลลาร์ในเร็วๆ นี้ หรืออาจจะในการเปิดตลาดสัปดาห์หน้าเลย ถ้าตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น โดยแนวต้านจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.80 แต่ถ้าสถานการณ์การระบาดยังคงเลวร้ายต่อเนื่องและเงินดอลลาร์ยังคงมีโมเมนตัมขาขึ้นอยู่เราอาจจะได้เห็นเงินบาทไหลไปถึง 34-34.50 บาทต่อดอลลาร์” พูนกล่าว

 

อย่างไรก็ดี พูนยังประเมินว่า ในระยะยาวเงินสกุลดอลลาร์จะทยอยอ่อนค่าลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปและเอเชีย ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าสถานการณ์โควิดในประเทศน่าจะคลี่คลายได้ภายในไตรมาส 3 ถึงต้นไตรมาส 4 จากการเร่งฉีดวัคซีนที่มากขึ้นและการเกิด Herd immunity โดยธรรมชาติของคนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

“เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง เงินบาทจะเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น Fund Flow จากต่างชาติจะเริ่มไหลกลับเข้ามา ทำให้ปลายปีบาทอาจกลับมาเคลื่อนไหวที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ และจะเคลื่อนไหวแบบ Sideway แถวๆ 32.50 ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ก่อนจะขยับขึ้นไปที่ 31.50 ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเชื่อว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาได้แล้ว” พูนกล่าว

 

พูนยังระบุด้วยว่า สาเหตุที่เงินบาทในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้อ่อนตัวลงแรงมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแทรกแซงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งพบว่า ธปท. มีการขาย Reserve มาตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม เพื่อยื้อเวลาช่วยให้กลุ่มผู้นำเข้าเร่งปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งส่วนหนึ่งที่เงินบาทอ่อนค่าเร็วขึ้นในช่วงนี้ก็เป็นผลมาจากแรงซื้อดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าที่เร่งปิดความเสี่ยงด้วย

 

สำหรับการขายเงินสกุลดอลลาร์ในช่วงนี้ พบว่ามีปริมาณลดลงชัดเจน โดยกลุ่มผู้ส่งออกมีการถอนออร์เดอร์กันค่อนข้างมากเพื่อไปรอขายแถวๆ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยแรงขายส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มธุรกิจ Auto ที่มีรายได้เข้ามามาก ทำให้ต้องขายบางส่วนแต่ก็อยู่ในปริมาณที่ไม่เยอะมาก

 

ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า ค่าเงินบาทในระยะสั้นยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องไปสู่ระดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์ และมีโอกาสอ่อนค่าทะลุ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ในไตรมาส 3 นี้ จากปัจจัยการแพร่ระบาดโควิดในประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นความเสี่ยงให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย 2 ปีติดต่อกัน และการแพร่ระบาดมีโอกาสลามสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตกระทบการส่งออก กระจายวัคซีนยังล่าช้า รายได้นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา รวมถึงขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ซึ่งทำให้มีโอกาสที่ ธปท. มีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. เดือนกันยายนนี้ ดังนั้นความน่าสนใจสินทรัพย์ในรูปเงินบาทไม่น่าสนใจลงทุน และยังกดดันกระแส Fund Flow ไหลออกต่อเนื่องได้ 

 

อย่างไรก็ตาม คงต้องรอติดประเมินสถานการณ์คุมการแพร่ระบาดในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ก่อน แต่หากสถานการณ์ยังเลวร้ายอาจมีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าไปแตะ 34 บาทต่อดอลลาร์ได้ในช่วงสิ้นปีนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X