รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ค่าเงินบาทในวันนี้ (19 กันยายน) กลับมาอ่อนค่าค่อนข้างแรง และอ่อนค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค โดยมีบางช่วงที่ลงไปแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ สำหรับปัจจัยที่ทำให้บาทอ่อนค่ามีทั้งปัจจัยภายนอก เช่น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 30% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งการที่ไทยมีสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันที่สูง สร้างแรงกดดันต่อดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด
ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยภายใน ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะถัดไป หากรัฐบาลใหม่เดินหน้าใช้นโยบายประชานิยมกระตุ้นการเติบโตในระยะสั้น ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเตือนว่านโยบายที่เหมาะสมควรเน้นกระตุ้นการลงทุน ไม่ใช่การบริโภค อย่างไรก็ดี ตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ประกาศ KPI ของรัฐบาลว่า GDP ต้องเติบโตให้ได้ 5%
“นักลงทุนยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะนำเงินจากไหนมากระตุ้นการใช้จ่ายผ่านนโยบายที่ใช้งบประมาณสูง และรัฐบาลจะยอมแลกการเติบโตในระยะสั้นกับเสถียรภาพในระยะยาวหรือไม่ อย่างไรก็ดี หากดูการขายหุ้นและพันธบัตรของต่างชาติในวันนี้ ยังมีมูลค่ารวมกันเพียง 3 พันล้านบาท ซึ่งไม่สะท้อนภาวะแพนิก” รุ่งกล่าว
สำหรับข่าวการปลดผู้ว่าการ ธปท. ที่มีการเผยแพร่กันในโซเชียลมีเดีย ตลาดยังมองว่าไม่มีน้ำหนัก เพราะในทางกฎหมายการปลดผู้ว่าฯ ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ เพราะ พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/19 ที่คุ้มครองอยู่ อย่างไรก็ดี จากปฏิกิริยาของตลาดในวันนี้ก็สะท้อนว่า นักลงทุนให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศ
รุ่งประเมินว่า ทิศทางค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของสัปดาห์นี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น หลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ออกมา ซึ่งคาดว่าสหรัฐฯ มีโอกาสคงดอกเบี้ยสูง แต่ยังต้องจับตา Dot Plot ซึ่งจะสะท้อนท่าทีของ Fed ในระยะต่อไปด้วย โดยคาดว่าในระยะสั้นเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้อีก และมีแนวต้านอยู่ที่ระดับ 36.30 บาทต่อดอลลาร์