ครึ่งปีแรก 2564 ‘อุตสาหกรรมการบินของไทย’ ยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคโควิด เช่นเดียวกับ ‘การบินไทย’ ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการจากการขาดทุนอย่างหนักนับ ‘แสนล้านบาท’ ซึ่งได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน
บมจ.การบินไทย หรือ THAI รายงานผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรก 2564 พบว่า มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 80.6% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 95.4% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 16.20% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 68.7% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 0.72 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 84.2%
สำหรับด้านการขนส่งสินค้า มีปริมาณการผลิตด้านพัสดุภัณฑ์ (ADTK) ต่ำกว่าปีก่อน 78.59% ปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (RFTK) ต่ำกว่าปีก่อน 59.1% อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ย 104.4% สูงกว่าปีก่อนเฉลี่ยที่ 54.8%
โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 10,220 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 30,273 ล้านบาท หรือ 74.8% รายได้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 30,486 ล้านบาท (84.2%) และรายได้จากการบริการอื่นๆ ลดลง 1,417 ล้านบาท (35.5%)
ในขณะที่มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,630 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 24,555 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 34,246 ล้านบาท (58.2%) เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและการขนส่งที่ลดลง ตลอดจนการดำเนินการเพื่อลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด
อย่างไรก็ตาม แม้จะขาดทุนจากการดำเนินงาน 14,335 ล้านบาท แต่ที่สุดแล้ว ‘การบินไทย’ กลับมีกำไรสุทธิจำนวน 11,121 ล้านบาท อันเป็นผลจากรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นรายได้จำนวน 25,899 ล้านบาท
โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ว่าจะเป็นกำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,004 ล้านบาท, กำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 95 ล้านบาท และกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 8.675 ล้านบาท
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 การบินไทยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 168,582 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 40,715 ล้านบาท (19.5%) มีหนี้สินรวมจำนวน 285,066 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 52,896 ล้านบาท (15.7%) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีจำนวน -116,484 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 12,181 ล้านบาท