×

ส่องตลาดเครื่องปรับอากาศไทยปี 62 คาดโต 15% ทะลุ 2 หมื่นล้านบาท LG ปรับทัพ เน้นฟีเจอร์สุขภาพพ่วง IoT

07.06.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ตลาดเครื่องปรับอากาศภายในบ้านแบบติดผนัง (Split Wall Type) ของประเทศไทยในช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา มีมูลค่าโดยรวม 18,000 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าปี 2019 นี้ จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 15% หรือมีมูลค่า 20,700 ล้านบาท
  • ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตและมูลค่าของตลาดไม่ใช่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่มาจากปัจจัยสภาพอากาศและฤดูกาล โดยช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นช่วงไฮซีซันของตลาดแอร์
  • เทรนด์ผู้บริโภคในระยะหลังจะให้ความสำคัญกับฟีเจอร์การทำงานด้านสุขภาพ เช่น ความสามารถในการกรองอากาศ ฝุ่นพิษ และกำจัดแบคทีเรีย นอกจากนี้ ‘Smart Home’ และการเชื่อมต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบ IoT ก็กำลังเริ่มทำตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

เครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ ดูจะเป็นหนึ่งในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเพียงไม่กี่ชนิดที่มีความผันผวนและเกิดความเปลี่ยนแปลงในตลาดโดยรวม ตามปัจจัยสภาพอากาศแวดล้อมฟ้า ฝน ลมแดด หรือแม้แต่ ‘ฝุ่นละออง’ ไม่ใช่ผลกระทบทางเศรษฐกิจเหมือนผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ

 

โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาได้เร็วขึ้น เครื่องปรับอากาศจึงเริ่มมีราคาเริ่มต้นจับต้องได้ง่ายกว่าเดิม ประกอบกับตัวนวัตกรรมและเทคโนโลยีเองก็หลากหลาย สอดรับกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในสมัยนี้ได้ถูกจุด

 

ผลที่ตามมาจึงทำให้ตลาดเครื่องปรับอากาศในไทยคึกคักตามไปด้วย โดยตลอดทั้งปี 2018 ที่ผ่านมา ตลาดเครื่องปรับอากาศภายในบ้านแบบติดผนัง (Split Wall Type) มีมูลค่าโดยรวมถึง 18,000 ล้านบาท แม้อัตราการเติบโตจะลดลงเล็กน้อย -5.8% จากปีก่อนหน้า แต่ก็คาดการณ์กันว่า ปี 2019 นี้ ตลาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 15%

 

เพื่อให้เห็นภาพรวมตลาดเครื่องปรับอากาศในไทยให้ชัดเจนขึ้น THE STANDARD พูดคุยกับ นิพนธ์ วงษ์แสงอรุณศรี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ณ ปัจจุบัน พร้อมมองเทรนด์อนาคตข้างหน้าต่อจากนี้ รวมถึงเปิดเผยกลยุทธ์และเป้าหมายของแอลจีในการขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำของสังเวียนนี้ให้ได้

 

 

เครื่องปรับอากาศขายดีที่สุดช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี ตลาดแอร์ไทยปีนี้อาจโตทะลุ 2 หมื่นล้านบาท

ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดแอลจี ประเทศไทย เริ่มเล่าให้ THE STANDARD ฟังว่า โดยปกติแล้ว สินค้าในกลุ่มเครื่องปรับอากาศจะมียอดจำหน่ายสูงสุดในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี เนื่องจากถือเป็นช่วงฤดูร้อน จึงทำให้ดีมานด์ตลาดขยับโตขึ้นตามไปด้วย

 

“ในบรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกประเภท ตลาดเครื่องปรับอากาศถือเป็นตลาดที่ ‘ปัจจัยภายนอก’ มีผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศ เช่น ปีที่แล้วที่ฝนตกตั้งแต่เดือนเมษายน ตลาดโดยรวมจึงติดลบประมาณ -6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เช่นเดียวกับเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วที่อากาศไม่ร้อน ตลาดก็ติดลบถึง -10%

 

“จะเห็นว่าสภาพภูมิอากาศและฤดูกาลถือเป็นปัจจัยสำคัญมาก โดยปกติช่วงหน้าร้อนตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะถือเป็นช่วงที่ดีมานด์ของเครื่องปรับอากาศสูงที่สุด คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของทั้งปี ขณะที่สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ จะใช้เวลาถึงครึ่งปีกว่าจะมีดีมานด์ราว 45-55% ของทั้งปีได้”

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีสินค้าเครื่องปรับอากาศอยู่ในมือ ต้องแข่งกันอัดโปรโมชัน ทุ่มงบการตลาด ปล่อยสื่อโฆษณาในช่วงนี้ถี่มากเป็นพิเศษ เนื่องจากทุกฝ่ายเห็นภาพตรงกันว่า หากหลุดวงโคจรในช่วงนี้ก็อาจจะทำให้ยอดขายทั้งปีวูบหนัก

 

สำหรับแอลจี ประเทศไทย มีการเปิดเผยว่า แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากเกาหลีใต้รายนี้ทุ่มงบทำการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศในช่วงเวลาดังกล่าวสูงกว่า 105-120 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70-80% ของงบการตลาดทั้งปีที่ 150 ล้านบาท

 

ในแง่อัตราการเติบโตของตลาด นิพนธ์บอกว่า โดยปกติแล้วเครื่องปรับอากาศแทบจะได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจเลย แต่จะมีอัตราการเติบโตต่อปีที่ไม่หวือหวามากนัก เฉลี่ยแล้วจะโตราว 2-3% ต่อปี อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2019 ที่ผ่านมา ตลาดโดยรวมกลับมีการเติบโตสูงขึ้นถึง 20% จึงน่าจะทำให้ตลาดเครื่องปรับอากาศปีนี้โตเพิ่มขึ้น 15% หรือราว 20,700 ล้านบาทได้ไม่ยาก

 

 

ส่วนหนึ่งอาจจะพอเชื่อมโยงได้ว่า สาเหตุที่มูลค่าตลาดเครื่องปรับอากาศปีนี้ขยายตัวมากเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศของประเทศไทยในช่วงต้นปีที่ผ่านมาร้อนระอุมากกว่าปีไหนๆ ขณะที่หมอกฝุ่นพิษ PM2.5 ที่แผ่ซ่านปกคลุมทั่วทั้งประเทศช่วงต้นปีก็มีผลไม่น้อย ที่ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนหันมาพิจารณาซื้อเครื่องปรับอากาศที่มีฟีเจอร์รองรับการทำงานด้านสุขภาพ

 

 

พฤติกรรมผู้บริโภคกับเทรนด์ตลาดเครื่องปรับอากาศที่เปลี่ยนไป

ในอดีต ปัจจัยสำคัญพื้นฐานประกอบการพิจารณาเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศจะประกอบด้วย เย็นเร็ว เงียบ และทนทาน ถ้าจะให้จำแนกง่ายๆ กลุ่มนี้ก็คือ เครื่องปรับอากาศที่มีฟีเจอร์การทำงานพื้นฐานทั่วไปแบบ On-Off

 

ขณะที่เทรนด์ที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมผู้บริโภค เทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมในระยะหลังๆ กลับส่งผลให้ฟีเจอร์การประหยัดพลังงาน ระบบอัจฉริยะ และการกรองอากาศ กลายเป็นอีก 3 ปัจจัยพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นมา และทำให้ผู้บริโภคนำมาประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศไปโดยปริยาย

 

ข้อมูลจากทางแอลจีระบุว่า สัดส่วนของเครื่องปรับอากาศที่สามารถจำหน่ายได้ในตลาดประเทศไทยตลอดทั้งปี 2018 ที่ผ่านมา แบ่งตามประเภท ประกอบด้วย แบบเปิด-ปิดทั่วไป (On-Off) 43% และอินเวอร์เตอร์ (Inverter) 57% (ในจำนวนนี้ 10% คือหมวดพรีเมียม อินเวอร์เตอร์ (Premium Inverter)) ส่วนในปี 2019 คาดการณ์ว่า สัดส่วนของเครื่องปรับอากาศแบบเปิด-ปิดจะลดลงมาเหลือ 30% เท่านั้น สวนทางกับกลุ่มอินเวอร์เตอร์ที่จะเติบโตเพิ่มขึ้น 70%

 

นิพนธ์บอกว่า “โดยปกติแล้ว แอร์เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุดในบ้าน เฉลี่ยแล้วค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนมากกว่าครึ่งหนึ่งจะมาจากเครื่องปรับอากาศ ส่งผลให้ปัจจุบันผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบในข้อนี้มาก ฉะนั้น เครื่องปรับอากาศในกลุ่ม ‘อินเวอร์เตอร์’ จึงได้รับความนิยมมากขึ้นตามไปด้วย”

 

ผู้บริหารจากแอลจีบอกต่อว่า ตลาดเครื่องปรับอากาศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงปรับเปลี่ยนเซกเมนต์ใหม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า ในเร็วๆ นี้ เครื่องปรับอากาศกลุ่มอินเวอร์เตอร์จะสามารถกินส่วนแบ่งตลาดได้แบบเบ็ดเสร็จ 100% เหมือนที่เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นในเกาหลีใต้และยุโรปมาแล้ว

 

 

อีกเทรนด์ที่มาแรงแซงทางโค้ง และน่าจะกลายเป็นฟีเจอร์พื้นฐานที่ผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศของทุกแบรนด์ในอนาคตจะต้องมีคือ ฟังก์ชันการทำงาน ‘ด้านสุขภาพ’ เพราะถือเป็นหนึ่งในความต้องการที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญไปแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ประสิทธิภาพและความสามารถในการกรองอากาศระหว่างเครื่องปรับอากาศกับเครื่องกรองอากาศยังแตกต่างกันอยู่พอสมควร

 

เมื่อคาดการณ์ภาพรวมตลาดเครื่องปรับอากาศไทยอีก 5 ปีต่อจากนี้ นิพนธ์เชื่อว่า ผลิตภัณฑ์กลุ่มอินเวอร์เตอร์น่าจะครองส่วนแบ่งมากกว่า 90% ได้ไม่ยาก ขณะที่ฟีเจอร์ IoT ก็จะก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น คล้ายๆ กับตลาดโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่ผู้บริโภคก็เริ่ม Adopted เทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ จากฟีเจอร์โฟนธรรมดากลายเป็นสมาร์ทโฟน และจากโทรทัศน์ทั่วไปก็กลายเป็นสมาร์ททีวี

 

 

LG ปรับกลยุทธ์เพิ่มความหลากหลายผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ เน้นฟีเจอร์สุขภาพ เทคโนโลยี IoT ปูทางเทรนด์ Smart Home

ปี 2018 ที่ผ่านมา แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) มีส่วนแบ่งในตลาดเครื่องปรับอากาศไทยที่ 8% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,440 ล้านบาท อยู่ในลำดับที่ 5  ส่วนแบรนด์จากญี่ปุ่นยังครองอันดับ 1 และ 2 ได้อย่างเหนียวแน่น โดยแอลจีตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2019 นี้จะต้องครองส่วนแบ่งเป็น 10% หรือติด 3 อันดับแรกของแบรนด์ในตลาดให้ได้ หลังช่วงไตรมาสแรกของปีมีส่วนแบ่งถึง 9.4%

 

“เหตุผลหลักที่ทำให้ยอดขายในช่วงไตรมาสแรกของแอลจีโตขึ้นมากกว่า 40% เป็นผลมาจากผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศของเราทุกรุ่นเป็นระบบอินเวอร์เตอร์ทั้งหมด ประกอบกับเทคโนโลยีอย่าง Dual-Inverter ที่ทำให้อากาศเย็นเร็วและประหยัดไฟ ผลิตภัณฑ์ของเราจึงสอดรับกับเทรนด์และการเติบโตของตลาดได้เป็นอย่างดี”

 

นิพนธ์กล่าวเสริมว่า ในปีนี้ ทางแอลจีจะเน้นทำตลาดด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศที่มีฟีเจอร์การทำงานด้านสุขภาพเป็นหลัก ซึ่ง ณ ตอนนี้แอลจีถือเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพียงรายเดียวในตลาด ที่มีฟีเจอร์กรองอากาศและฝุ่นได้ถึงระดับ PM1.0

 

นอกจากนี้ แอลจีก็จะให้ความสำคัญกับการเพิ่มฟังก์ชันการทำงานและขนาดของเครื่องปรับอากาศ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคให้หลากหลายมากขึ้น เช่น เพิ่มซีรีส์, ฟีเจอร์การทำงานที่หลากหลาย Heat&Cool (เป็นได้ทั้งแอร์และฮีตเตอร์) , เพิ่มขนาดบีทียู 15,000 และ 30,000 (จากเดิมมีแค่ 9,000,12,000,18,000 และ 24,000) ตลอดจนเริ่มแนะนำการทำงานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ในโหมด ‘LG SMART ThinQ’ เพื่อให้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ สามารถเชื่อมต่อการทำงานได้อย่างชาญฉลาด

 

“ปีที่แล้วเราให้ความสำคัญกับฟีเจอร์การควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านสมาร์ทโฟน แต่ปีนี้แอลจีจะโปรโมตด้านความเป็นผู้นำของเทคโนโลยี ‘Smart Home’ มากขึ้น ตัวอย่างที่จะเห็นได้ชัดๆ เลยคือ สมาร์ททีวีรุ่นใหม่ที่ใกล้จะเปิดตัวในไทยช่วงเดือนมิถุนายนนี้ จะมีฟังก์ชันช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านโทรทัศน์ได้

 

“เมื่อเปิดทีวีแล้วเข้าโหมด Home Dashboard ก็จะควบคุมการทำงานได้ทั้งเครื่องฟอกอากาศ, เครื่องดูดฝุ่น, เครื่องซักผ้า, หลอดไฟ, เครื่องปรับอากาศ หรือระบบเปิด-ปิดประตู ซึ่งผลิตภัณฑ์ของแอลจีที่รองรับการใช้งานนี้มีมากกว่า 40 รุ่นในปัจจุบัน”

 

ส่วนสาเหตุที่ทางแอลจียังไม่เปิดตัวสมาร์ททีวีในปี 2019 เสียที ก็เพราะต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และ AI ในเครื่องให้รองรับการใช้งานคำสั่งเสียงภาษาไทยให้เต็มประสิทธิภาพเสียก่อน เพราะก่อนหน้านี้ฟังก์ชันการทำงานหลักๆ ยังคงเป็น ‘Speech to Text’ จับคำสั่งเสียงแล้ว Google Search ไม่ใช่ AI ที่คุยตอบโต้รับคำสั่งจากผู้ใช้งานได้ทันที

 

ต้องมาตามดูกันต่อว่า ครึ่งปีหลังต่อจากนี้ ตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยจะเติบโตไปในทิศทางใด แอลจีจะสามารถครองส่วนแบ่งตลาดทั้งปีได้มากกว่า 10% จริงไหม รวมถึงเทคโนโลยี Smart Home จะเข้ามามีบทบาทกับผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน

 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn R.

ภาพ: Shutterstock, Getty Image

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising