×

ม.มหิดล ชวนจับตา ‘สึนามิผู้สูงวัย’ จากประชากรรุ่นเกิดล้าน พ.ศ. 2506-2526 แนะระวังเรื่องสุขภาพ-การใช้จ่าย และให้ออมเงิน

โดย THE STANDARD TEAM
13.11.2021
  • LOADING...
aging society

วันนี้ (13 พฤศจิกายน) ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นับเป็นเวลาครึ่งศตวรรษแล้วที่สถาบันฯ ได้รับใช้ประเทศชาติด้วยการเป็นปัญญาของแผ่นดิน ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล สร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยที่เกิดขึ้นจากการสำรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรไทย ไม่ว่าจะเป็นการเกิด การตาย และการย้ายถิ่น ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมามีนักวิจัยของสถาบันฯ ได้เป็นคณะทำงานร่วมจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในทุกฉบับ เพื่อการขับเคลื่อนสู่นโยบายของประเทศไทย

 

สำหรับ ‘ประชากรรุ่นเกิดล้าน’ ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2506-2526 นโยบายของประเทศไทยในขณะนั้นมุ่งไปที่การวางแผนครอบครัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าคนรุ่นใหม่นิยมอยู่เป็นโสด ไม่แต่งงาน และมีลูกกันน้อยลง อัตราเกิดของประชากรไทยจึงลดต่ำลงไปด้วย

 

จึงเกิดคำถามว่า เราจะเตรียมพร้อมนโยบายทางประชากรของประเทศไทยให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรของไทยอย่างไร เมื่อประชากรรุ่นเกิดล้านที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2506-2526 จะกลายเป็น ‘สึนามิประชากร’ ที่เคลื่อนสู่ฝั่งผู้สูงวัยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ กล่าวต่อไปว่า การแก้ปัญหาอัตราเกิดต่ำด้วยการส่งเสริมให้ประชากรมีลูกกันมากขึ้น อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีนักสำหรับสังคมไทย หากไม่ได้พิจารณาถึงคุณภาพของการเกิดหรือเกิดด้วยความไม่พร้อม ซึ่งตัวเลขการเกิดของประชากรไทยในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นปีล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 587,000 คน และอาจมีแนวโน้มต่ำลงไปอีกประมาณ 2-3 หมื่นคนตามวิกฤตโควิดที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยการประกาศจำนวนเกิดของประชากรไทยในแต่ละปีจะนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคมของปีนั้นๆ แล้วจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในอีกประมาณ 2-3 เดือนถัดไป

 

“ปัญหาที่เร่งด่วนมากกว่าปัญหาอัตราเกิดฮวบต่ำลงในขณะนี้ คือการเตรียมพร้อมอย่างไรเมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งประชากรที่เกิดในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2506-2526 ถือเป็นต้นแบบที่ดีที่สุดในการนำมาพิจารณาเป็นโจทย์เพื่อการศึกษาวิจัยให้ตอบสนองทิศทางความต้องการของผู้สูงวัยไทยในอนาคต โดยควรเน้นให้เตรียมพร้อมเรื่องสุขภาพ และระวังการใช้จ่าย หมั่นเก็บออมไว้เพื่ออนาคต” ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์กล่าว

 

ขณะที่ รศ.ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ภารกิจของสถาบันฯ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยใน 50 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่ได้มีเพียงงานวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรเท่านั้น ยังมีงานวิจัยเพื่อติดตามพฤติกรรมทางสุขภาพของประชากร ความเท่าเทียมทางการศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ แรงงานย้ายถิ่น หรือแม้แต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ฯลฯ ที่ตอบโจทย์เกือบทุกเป้าหมาย SDGs เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ

 

ซึ่งนอกจากเพื่อการขับเคลื่อนสู่นโยบายในระดับชาติแล้ว ยังได้ขยายผลสู่การสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติต่อไปอีกด้วย โดยสถาบันฯ พร้อมเดินหน้ารับใช้ประชาชน สร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อส่งเสริมคุณภาพประชากรไทย และร่วมทำโลกนี้ให้มีอนาคตที่ยั่งยืนต่อไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X