‘พอลร์ ผู้พิชิตไพร’ ชายไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง วัย 41 ปี ที่พิการทางสายตาเมื่อตอนอายุเพียง 20 ปี คือหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการสร้างรากฐานให้ชุมชนชาวกะเหรี่ยง ที่ ต.สบเปิง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ด้วยการก่อตั้งโรงงานผลิตเนยถั่วขึ้น โดยคัดสรรถั่วลิสงพันธุ์ไทยคุณภาพสูงที่ปลูกโดยชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมแรงกันกับกลุ่มแม่บ้านในชุมชน จนวันนี้สามารถเป็นคู่ค้ากับห้างค้าปลีกใหญ่ได้สำเร็จหลังร่วมมือกันพัฒนาและยกระดับการผลิตให้มีมาตรฐานสากล และช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ในเวลาเดียวกัน
1
จุดเริ่มต้นของสูตรเนยถั่วจากมิชชันนารี
คุณพอลร์เล่าให้ THE STANDARD ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการทำผลิตภัณฑ์เนยถั่วของเขาว่า เกิดขึ้นจากคำถามของพ่อว่าจะดูแลตัวเองอย่างไร หากต้องเข้าไปใช้ชีวิตทำงานในเมืองด้วยตัวเองทั้งๆ ที่ตาบอด เขาจึงดึงตัวเองขึ้นมาจากมรสุมชีวิตของการสูญเสียการมองเห็นจนสามารถเรียนจบจากศูนย์ฟื้นฟูผู้พิการ คำถามของพ่อทำให้ต้องหาหนทางในการประกอบอาชีพที่จะสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้โดยไม่ต้องเข้าไปอยู่ในเมืองเพียงลำพัง เพราะจะทำอะไรเองก็ลำบาก จนมาเจอเครื่องทำน้ำเต้าหู้เก่าๆ ในห้องเก็บของของพ่อ
“ตอนแรกก็คิดไปหลายเรื่องว่าจะทำอะไรดี แต่ที่สุดแล้วก็มาเจอเครื่องปั่นน้ำเต้าหู้เก่าๆ ที่ห้องเก็บของของพ่อ เลยไปซื้อถั่วลิสงมาลองคั่วดู ปรากฏว่าไอ้เครื่องเก่าๆ เครื่องนี้ที่ทำน้ำเต้าหู้ มันบดถั่วออกมาได้ละเอียดมาก หลังจากนั้นเลยเริ่มต้นทำขาย แพ็กเป็นถุงถุงละหนึ่งกิโลฯ แล้วเอาไปเร่ขายให้กับชาวบ้าน พอเขาเห็นว่าเรามองไม่เห็นก็ช่วยซื้อ”
โดยคุณพอลร์เริ่มต้นทำเนยถั่วขึ้นมาจากความชอบกินเนยถั่วอยู่แล้ว และเห็นว่าในไทยเรามีเนยถั่วอยู่ไม่กี่ยี่ห้อ อีกทั้งแต่ละยี่ห้อนั้นเป็นสินค้านำเข้าหมดเลย เลยคิดแบบง่ายๆ ของตัวเองว่า “ตลาดเนยถั่วในไทยมีคู่แข่งน้อย เราอาจใช้ถั่วลิสงไทยมาเป็นจุดขาย โดยใช้สูตรของมิชชันนารีชาวต่างชาติที่เข้ามาสอนศาสนาในชุมชนเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว เอามาปรับให้ได้รสชาติที่กลมกล่อมมากขึ้น แล้วเริ่มส่งขายภายในตัวเมืองเชียงใหม่ก่อน”
2
ถั่วไทยของดีที่ถูกมองข้าม
ถั่วลิสงคือวัตถุดิบหลักในการผลิตเนยถั่ว ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรนี้เป็นสิ่งที่ยากต่อการควบคุม และบางปีอาจประสบปัญหาขาดแคลนได้ ทำให้โรงงานผลิตเนยถั่วใหญ่ๆ นิยมเลือกใช้ถั่วจีน และถั่วอินเดียเป็นหลัก หากแต่คุณพอลร์กลับเลือกใช้ถั่วลิสงไทยเพราะเป็นวัตถุดิบที่มีรสชาติและคุณภาพที่ดีกว่า และเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย
“การใช้ถั่วไทยมาเป็นวัตถุหลัก ทำให้มั่นใจได้ในเรื่องของความสดใหม่ เพราะปลูกได้ถึง 4 ครั้งต่อปี ถั่วจะถูกเก็บขึ้นมาจากดิน ตากแดด แล้วส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านการแช่เย็น ทำให้ได้เนยถั่วที่คงความสดใหม่ มีรสชาติดี และมีความหอม และที่สำคัญคือถั่วไทยไม่ต้องเจือสี แต่งกลิ่น หรือวัตถุกันเสียเลย”
ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของถั่วไทย ทำให้มั่นใจได้ว่าเนยถั่วของคุณพอลร์ดีต่อสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นงานโฮมเมดที่มีการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ โดยมีกลุ่มแม่บ้านในชุมชนเป็นกำลังหลัก ตั้งแต่การคัดถั่วโดยการฝัดด้วยกระด้ง ไปจนถึงการคัดเอาเมล็ดเสีย แตก ขึ้นรา ลีบ ออก เหล่านี้นับว่าเป็นความสามารถที่ไม่สามารถไปเรียนรู้ในโรงเรียนได้ แตกต่างจากการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะใช้วิธีการสุ่มตรวจคุณภาพของวัถุดิบ ซึ่งกระบวนการคัดสรรเมล็ดถั่วด้วยมือนี้ เกิดขึ้นจากแนวคิดของคุณพอลร์ที่ว่า
“เนยถั่วที่เราผลิตออกมาเราก็กินเอง ดังนั้นเมื่อเราขายสู่ผู้บริโภคเราก็อยากให้ผู้บริโภคได้กินสิ่งที่ดีที่สุด”
3
เทสโก้ โลตัส กับการพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน
สู่มาตรฐานสากล
เทสโก้ โลตัส มีความมุ่งมั่นที่จะผลิตสินค้าคุณภาพสูงในราคาที่เอื้อมถึงได้ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมเกษตรกรและต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ของชุมชนไปสู่มาตรฐานสากล
คุณพรเพ็ญ นาถพิริยรัตน์ รองประธานกรรมการฝ่ายกำกับดูแลคุณภาพสินค้า เทสโก้ โลตัส ได้กล่าวถึงการเข้าไปพัฒนาศักยภาพของการผลิตเนยถั่วของคุณพอลร์ ให้ได้มาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการผลิตไว้ว่า
“ตอนนั้นทางเทสโก้ โลตัส กำลังมองหาผู้ผลิตเนยถั่ว เพราะเรามองเห็นโอกาส เห็นความต้องการของผู้บริโภค อย่างที่ทุกคนทราบว่าเนยถั่วเป็นสินค้านำเข้าอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วถั่วบ้านเรามีเยอะ และคุณภาพดี อีกทั้งยังเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประจวบเหมาะที่ทางทีมงานแจ้งเข้ามาว่ามีบริษัทขนาดเล็กมากอยู่ที่เชียงใหม่ สามารถผลิตเนยถั่วได้ จึงได้ร่วมเข้าเป็นคู่ค้ากัน
บทบาทของเทสโก้ โลตัส คือการเข้าไปสนับสนุนบริษัทขนาดเล็ก เพื่อให้เติบโตได้อย่างมีมาตรฐาน โดยเข้าไปช่วยดูแลในเรื่องของกระบวนการผลิต ซึ่งใช้เวลาเพียงแค่ 2 เดือน ก็สามารถพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ที่ดีอยู่แล้ว ให้ได้มาตรฐานสากล โดยได้รับทั้ง GMP HACCP และฮาลาล รวมไปถึงการเป็นโรงงานสีเขียว แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของชุมชนที่ดีอยู่แล้ว และคนไทยเราเองนั้นก็เก่งไม่แพ้ใคร”
4
ดูแลตัวเองได้ สร้างรายได้ให้ชุมชน
เติมเต็มความฝันของเด็กในมูลนิธิ
THE STANDARD ถามถึงเป้าหมายในชีวิตที่วางไว้หลังจากเริ่มโรงงานเล็กๆ นี้ว่ามีการวางแผนไว้อย่างไร
“เริ่มแรกคิดไว้แค่ว่าจะทำให้สามารถมีเงินพอที่จะซื้ออะไรที่ตัวเองอยากได้ คิดเล็กๆ เอง ไม่ได้คิดใหญ่
“แต่ตอนนี้หากเทียบกับร้อยเปอร์เซ็นต์ผมว่าเกินร้อยแล้ว ไม่เคยคิดว่ายอดขายผมปีหนึ่งจะขึ้นถึงหลักล้าน และเพียงพอต่อการดูแลพนักงานหลายสิบคนได้”
การเข้าเป็นคู่ค้ากับเทสโก้ โลตัส ทำให้โรงงานและผลิตภัณฑ์ได้รับการพัฒนาขึ้น จากรายได้ชุมชนที่ 30,000 บาท เกิดการนำการตลาดเข้ามานำการผลิต ผ่านการจัดการวางแผน จนทำให้ทางโรงงานเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นไปถึง 30,000 ขวดต่อปี
โดยเป้าหมายของคุณพอลร์ตอนนี้คือ “สามารถหารายได้ไปดูแลมูลนิธิการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต E.O.P. ต่อจากพ่อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับพ่อ” คุณพอลร์รู้สึกว่ามูลนิธิก็เหมือนเป็นน้องคนสุดท้องของตัวเองที่ต้องดูแล เป็นแรงผลักดันให้คุณพอลร์ได้ก้าวต่อไป และเป็นสัญญาใจที่คุณพอลร์ได้ให้ไว้กับพ่อ
ในโลกที่มืดมิด ความต้องการจึงไม่ใช่แค่การมีในสิ่งที่อยากได้ หากแต่เป็นคุณค่าทางใจที่ได้รับมา
“เพราะจะก้าวไปอีกเท่าไร โลกของผมมันก็มืดหมด มองไม่เห็นอะไร เราไม่รู้จะซื้อทองมาใส่เพื่ออะไร ในเมื่อเรามองไม่เห็นว่ามันสวยงามแค่ไหน
“แต่สิ่งที่เป็นความสุขของผมก็คือการได้ช่วยเหลือคนอื่น วันหนึ่งพอมีคนมาขอความช่วยเหลือแล้วผมช่วยได้ นั่นแหละคือความสุขของผม
“ความสุขใจของเรามันเป็นสิ่งที่ซื้อไม่ได้ อย่างเวลามีคนมาบอกเราว่า ‘พอลร์ขอบใจนะที่ช่วย’ มันเป็นอะไรที่ฝังเข้าไปในความรู้สึกเราได้ดีกว่า”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์