×

ห้างดังเปิดศึกชิงกำลังซื้อ! ‘Terminal 21 พระราม 3’ โชว์ไฮไลต์เมืองจำลองเอาใจสาวก Harry Potter ย้ำสิ่งไหนไม่ Success ไม่ทำ รับเป็นห่วง ‘โคราช’ ทราฟฟิกยังน้อย

20.10.2022
  • LOADING...
ประเสริฐ ศรีอุฬารพงศ์

Terminal 21 พระราม 3 แลนด์มาร์กใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โชว์ไฮไลต์เมืองจำลองเอาใจสาวก Harry Potter ยกทัพแบรนด์ดังเพิ่มประสบการณ์ช้อปปิ้งชิงกำลังซื้อคนไทย-ต่างชาติ ตั้งเป้ารายได้ 700 ล้านบาทต่อปี พร้อมย้ำสิ่งไหนไม่ Success ไม่ทำ แย้มอนาคตเล็งขยายสาขาใหม่กลางกรุง

 

ประเสริฐ ศรีอุฬารพงศ์ กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 บริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด (LHMH) ในเครือ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวว่า วิกฤตโควิดส่งผลให้รูปแบบการทำช้อปปิ้งมอลล์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และปัจจุบันหัวใจหลักของการขยายศูนย์การค้า สิ่งสำคัญที่สุดคือการเลือกทำเลที่มีทราฟฟิกและต้องเป็นย่านที่มีกำลังซื้อ 

 

เช่นเดียวกับบริษัทต้องเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย วันนี้กลยุทธ์สำคัญคือการมุ่งสร้างประสบการณ์ Customer Experience รูปแบบใหม่ๆ ทั้งกลุ่มสินค้าและร้านอาหาร เพื่อตอบโจทย์การช้อปภายในศูนย์การค้า เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เน้นวัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น 

 

ล่าสุดบริษัทได้เปิดตัวศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 (Terminal 21) เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าย่านพระราม 3 ซึ่งมองว่าเป็นทำเลที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อ เนื่องจากเป็นพื้นที่ใจกลางย่านธุรกิจ มีสำนักงานออฟฟิศกว่า 43 แห่ง ตลอดจนที่พักอาศัยบ้านและคอนโด ทั้งฝั่งกรุงเทพฯ พระราม 3 และฝั่งธนบุรีมากกว่า 5,000 ยูนิต โดยมีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน และคาดว่าจะมีลูกค้าทั้งกลุ่มพนักงานออฟฟิศ นักท่องเที่ยว และครอบครัวเข้ามาใช้บริการประมาณ 50,000 คนต่อวัน ไปจนถึง 3.5 ล้านคน ภายในปี 2565 

 

สำหรับศูนย์การค้าดังกล่าว มีมูลค่าโครงการ 6 พันล้านบาท ตั้งอยู่ในย่านพระราม 3 บนพื้นที่ 1.4 แสนตารางเมตร ขนาด 16 ไร่ ด้านหน้าตั้งอยู่ติดถนนพระราม 3 ส่วนด้านหลังติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมมีท่าเรือส่วนตัว ภายในศูนย์การค้าแบ่งเป็นพื้นที่ Anchor Tenant 22% และ Retail Tenant 78% 

 

โดยมีพื้นที่สำคัญ ประกอบด้วย Tops Supermarket ตามด้วยโรงภาพยนตร์ SF ฟิตเนส สวนสนุก และฟู้ดมาร์เก็ต ศูนย์รวมร้านอาหารสตรีทฟู้ดแบรนด์ดังมากกว่า 200 ร้านค้า ซึ่งยังชูจุดขายหลักคืออาหารมีราคาเข้าถึงง่าย 

 

ด้านการตกแต่งใช้ธีมของ 6 เมืองในต่างประเทศมาตกแต่ง ในชั้น LG ตกแต่งในธีม Caribbean Village ชั้น G ธีม England Village เอาใจสาวก Harry Potter ซึ่งแต่ละชั้นจะตกแต่งในธีมที่แตกต่างกัน ในรูปแบบเมืองจำลอง Caribbean Village, English Village, Italian Village, French Village, Japanese Village และ San Francisco Village 

 

ขณะนี้เปิดให้บริการแล้ว 95% ส่วนที่เหลือมีสวนสนุกและร้านค้าบางส่วนที่อาจล่าช้าไปบ้าง เนื่องจากติดปัญหาในเรื่องการขนส่ง คาดว่าในช่วงปลายปีจะสามารถให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ 

 

พร้อมกันนี้ ได้เตรียมงบ 50 ล้านบาท จัดกิจกรรมการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ไปถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยในทุกเดือนจะมีไฮไลต์ที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างช่วงเทศกาลลอยกระทง จะมีการจัดอีเวนต์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาสร้างสีสันในช่วงเทศกาลสำคัญ 

 

“ต้องยอมรับว่าเทอร์มินอล พระราม 3 ใช้เวลาในการก่อสร้างและตกแต่งทั้งสิ้น 3 ปี ซึ่งเปิดช้ากว่าแผนที่วางไว้ 6-7 เดือน เพราะเจอการระบาดของโควิดก่อน จึงได้เลื่อนมาเปิดในเดือนตุลาคม 2565 โดยตั้งเป้าลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากกว่า 3.5 ล้านคน ภายในปี 2565 และคาดหวังรายได้อยู่ที่ 600-700 ล้านบาทต่อปี”

 

ประเสริฐกล่าวต่อถึงสิ่งที่ธุรกิจยังกังวล คือภาพรวมกำลังซื้อในไทยที่ยังไม่กลับมา เพราะธุรกิจส่วนใหญ่พึ่งพานักท่องเที่ยว สิ่งที่เฝ้ารอในตอนนี้คือนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นตัวสร้างรายได้ให้กับหลายๆ ธุรกิจ เพราะนักท่องเที่ยวจีนค่อนข้างมีกำลังซื้อและมีการจับจ่ายอย่างหนัก 

 

หากย้อนกลับไปตั้งแต่เปิดให้บริการเทอร์มินอล 21 อโศก ในปี 2554 ในช่วงแรกเริ่มไม่ได้เน้นจับต่างชาติ แต่ปรากฏว่านักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจมาก ทำให้ปัจจุบันสาขาอโศกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาใช้บริการในศูนย์ฯ ราวๆ 10% ขณะที่ทราฟฟิกสาขาอโศกและพัทยาอยู่ที่ 70% หรือมีผู้เข้ามาใช้บริการ 30,000-40,000 คนต่อวัน ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดที่มีทราฟฟิกราวๆ 50,000 คน ขณะนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เข้ามา ได้แก่ เวียดนามและอินเดีย แต่ยังจับจ่ายน้อยกว่านักท่องเที่ยวจีน 

 

ส่วนที่ยังน่าเป็นห่วงมากคือสาขาโคราช ปัจจุบันทราฟฟิกกลับมาเพียง 65% เพราะก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากโควิดที่อาจมีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในย่านนั้น ซึ่งคาดว่าจะทยอยดีขึ้นตามลำดับ 

 

นั่นแปลว่าตั้งแต่เจอโควิดมา เราต้องปรับเปลี่ยนอย่างมาก สิ่งไหนไม่ Success ก็ต้องเอาออกไป เราจะไม่ทำ เริ่มเห็นได้จากการเปลี่ยนไลน์สินค้า เพราะช่วงโควิดมีหลายแบรนด์ที่หายไปจากตลาด และมีแบรนด์สินค้าที่เกิดใหม่เข้ามาทดแทน ตลอดจนการเปลี่ยนรูปแบบนำเสนอ เพราะเชื่อว่าจะสามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ

 

สำหรับแผนการลงทุนต่อจากนี้ บริษัทฯ เตรียมรีโนเวตศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ เพื่อรองรับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป อยากให้เกิดสิ่งใหม่ตลอดเวลา เบื้องต้นจะค่อยๆ ทยอยทำไป เพราะพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ อยู่ที่ 4-5 แสนตารางเมตร รวมถึงเตรียมรีโนเวตเทอร์มินอล 21 สาขาอโศกและพัทยาด้วยเช่นกัน 

 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมองไปถึงการพิจารณาขยายเทอร์มินอล 21 สาขาใหม่ โฟกัสที่กรุงเทพฯ แต่ยังไม่ใช่เร็วๆ นี้ เพราะการเปิดศูนย์การค้าต้องวางแผนหาพื้นที่ที่มีศักยภาพประชากรหนาแน่น มีกำลังซื้อ และที่สำคัญต้องเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า และอาจข้ามขั้นไปถึงการทำมิกซ์ยูส แต่ต้องขึ้นอยู่กับทำเลเป็นสิ่งสำคัญ

 

ปัจจุบันศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 มีทั้งหมด 4 สาขา ได้แก่ อโศก ,โคราช, พัทยา และพระราม 3 ทุกสาขามีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแตกต่างกัน โดยอโศกเน้นเจาะกลุ่มคนชั้นกลางที่ทำงานในเมือง ส่วนโคราชเน้นจับกลุ่มโลคัล ตามด้วยพัทยาเน้นเจาะกลุ่มทัวริสต์ และพระราม 3 จับกลุ่มคนเมืองเป็นหลัก 

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้ารายได้จากศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์และเทอร์มินอล 21 ทั้งหมด 4 สาขา กว่า 4 พันล้านบาท ภายในปี 2566 ขณะที่รายได้ปี 2565 ถือว่ามีรายได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปีหน้า 20% โดยศูนย์ฯ ที่ทำรายได้มากสุดคือแฟชั่นไอส์แลนด์

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X