×

‘Tencent’ เบนเข็มลุยถือหุ้นใหญ่ธุรกิจเกมต่างประเทศ หวังสร้างการเติบโตครั้งใหม่ หลังสูญมูลค่าไป 6.23 แสนล้านดอลลาร์ เพราะศึกในประเทศ

01.10.2022
  • LOADING...
Tencent

Tencent จ่อปรับกลยุทธ์การลงทุน ตั้งเป้าเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเกมต่างประเทศเป็นหลัก หวังสร้างฟันเฟืองการเติบโตครั้งใหม่เพื่อสู้ศึกกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ หลังจากที่สูญเสียมูลค่าบริษัทไป 6.23 แสนล้านดอลลาร์ จากแรงกดดันภายในประเทศ ทั้งเรื่องการยกเครื่องกฎระเบียบ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ 

 

Tencent สูญเสียตำแหน่งบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในจีนให้แก่ Kweichow Moutai ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปแล้ว หลังจากมูลค่าบริษัทของ Tencent หายไปราว 6.23 แสนล้านดอลลาร์เทียบกับจุดพีค ซึ่งสะท้อนภาพผลกระทบจากการยกระดับความเข้มข้นเชิงกฎระเบียบและการกำกับดูแลอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนได้เป็นอย่างดี 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


โดยราคาหุ้นของ Tencent ซึ่งเป็นผู้ผลิตเกมออนไลน์ ร่วงลง 64% ตั้งแต่จุดสูงสุดในเดือนมกราคม 2021 หรือคิดเป็นมูลค่าบริษัทที่หายไปราว 6.23 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าบริษัทอื่นๆ ทั่วทั้งโลก ปัจจัยหลักที่กดดันมูลค่าของ Tencent ก็คือความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ หลังจากการปราบปรามด้านกฎระเบียบของทางการจีนที่กดดันทั้งอุตสาหกรรมมาตลอด 2 ปี 

 

ย้อนไปเมื่อต้นปี 2021 Tencent เป็นบริษัทที่กำลังมาแรง และกำลังก้าวขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ของเอเชีย การสะดุดครั้งใหญ่ของบิ๊กเทครายนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงมากมายที่ภาคส่วนนี้ต้องเผชิญ ทั้งการยกระดับกฎเกณฑ์ต่างๆ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Tencent Holding ลงทุนในธุรกิจที่กำลังเติบโตหลายร้อยแห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในตลาดในประเทศ โดยทั่วไปแล้ว Tencent จะเป็นผู้ถือหุ้นรายเล็ก หรือไม่ก็ลงทุนในฐานะนักลงทุน Passive

 

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดกับสำนักข่าว Reuters ระบุว่า ตอนนี้ Tencent กำลังพยายามอย่างจริงจังที่จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รวมถึงกำลังพยายามขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเกมในยุโรป

 

การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจากการที่บริษัทเกมอันดับหนึ่งของโลกในด้านรายได้อย่าง Tencent กำลังพึ่งพาตลาดโลกสำหรับการเติบโตในอนาคต ซึ่งต้องใช้พอร์ตโฟลิโอที่แข็งแกร่งของเกมบนชาร์ตเป็นปัจจัยหนุน 

 

กลยุทธ์ใหม่ของ Tencent บ่งชี้ว่ายักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนกำลังมองหาทางออกหรือทางรอดจากการเข้มกฎระเบียบด้านธุรกิจเทคโนโลยีของทางการ ซึ่งกดดันทั้งอุตสาหกรรมมาตลอด 2 ปี รวมถึงเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยอดขายที่ปรับลดลงตามกำลังซื้อในประเทศที่ซบเซา รวมถึงมูลค่าบริษัทที่ลดลงจากการปรับตัวของตลาดหุ้นจีน 

 

นอกเหนือจากธุรกิจเกมหลักแล้ว Tencent ยังมองหาการลงทุนในสินทรัพย์ระดับโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป ที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse อีกด้วย 

 

ด้าน Tencent กล่าวกับ Reuters ว่า บริษัทได้ลงทุนในต่างประเทศมาเป็นเวลานานแล้ว ก่อนที่จะมีการปรับปรุงกฎระเบียบโดยทางการจีนด้วยซ้ำ โดยบริษัทมองหากิจการที่มีนวัตกรรม พร้อมทีมผู้บริหารที่มีความสามารถ และเปิดโอกาสให้กิจการนั้นๆ เติบโตอย่างอิสระมาโดยตลอด 

 

ขณะที่แหล่งข่าวอีก 3 คนให้ข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า การที่ Tencent ต้องการขยับชั้นเป็นผู้ลงทุนที่ถือหุ้นรายใหญ่นั้น เกิดขึ้นในขณะที่ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น Microsoft, Sony และ Amazon กำลังแย่งชิงทรัพย์สินเกมและทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้อง

 

หลักฐานอีกอย่างที่ยืนยันเรื่องนี้ได้ก็คือคำกล่าวของ เจมส์ มิตเชลล์ ซึ่งเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ของ Tencent โดย Mitchell กล่าวภายหลังการประกาศผลประกอบการเมื่อเดือนสิงหาคมว่า Tencent กำลังเดินหน้าแผนเข้าซื้อสตูดิโอเกมใหม่ในต่างประเทศ

 

“ในแง่ของธุรกิจเกม กลยุทธ์ของเรามุ่งเน้นพัฒนาความสามารถโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ เราจะยังคงดำเนินการอย่างเต็มที่ในแง่ของการซื้อสตูดิโอเกมใหม่นอกประเทศจีน” มิตเชลล์กล่าว 

 

หวังสร้างฟันเฟืองใหม่สร้างการเติบโต

การมุ่งเน้นที่เพิ่มขึ้นของ Tencent เกี่ยวกับสินทรัพย์และตลาดในต่างประเทศนั้นตรงกันข้ามอย่างมากกับดำเนินธุรกิจภายในประเทศจีนที่ค่อนข้างช้า เนื่องจากการบังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น และการขายเงินลงทุนของบริษัทในประเทศจำนวนมาก

 

โดยจากปี 2015-2020 Tencent ลงทุนในจีนราว 150 ดีล คิดเป็นมูลค่า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ลงทุนในต่างประเทศราว 102 ดีล คิดเป็นมูลค่า 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์

 

สำหรับปี 2022 Tencent แทบจะไม่มีการลงทุนในประเทศจีนเลย แต่มีการลงทุนในต่างประเทศมากถึง 27 ดีล คิดเป็นมูลค่า 3 พันล้านดอลลารร์ 

 

ทั้งนี้ ในเดือนสิงหาคม Tencent รายงานผลประกอบการล่าสุด ซึ่งรายได้ปรับลดลงเป็นไตรมาสแรก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการได้รับการอนุมัติเกมที่ล่าช้า และกฎระเบียบที่จำกัดเวลาในการเล่น โดยรายได้จากเกมออนไลน์ลดลงทั้งในประเทศและต่างประเทศ 1%

 

ในด้านมูลค่าหุ้น มาร์เก็ตแคปของ Tencent ในฮ่องกงได้ทรุดตัวลง 60% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 

“เราเชื่อว่า Tencent จะยังคงลงทุนอย่างสมเหตุสมผลเพื่อครอบครองเกมที่มีเนื้อหาที่มีคุณภาพ และจะสร้างความร่วมมือกับสตูดิโอชั้นนำทั่วโลกอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่จะเพิ่มการลงทุนและสร้างจุดยืนให้ตลาดต่างประเทศ” นักวิเคราะห์ของ Citi กล่าวในรายงานเมื่อต้นเดือนกันยายน

 

ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน Tencent ได้บรรลุข้อตกลงในการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน Ubisoft ซึ่งทำให้ Tencent ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดรายเดียวของบริษัทผู้พัฒนาเกมชั้นนำสัญชาติฝรั่งเศส ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 11% และมีเพดานการเข้าถือหุ้นเพิ่มได้อีกมากถึง 17%

 

ฮับเกมออนไลน์ ยังเป็นเป้าหมายระยะยาว 

ข้อตกลงของ Ubisoft นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ Tencent เข้าซื้อกิจการ SYBO Games ซึ่งป็นผู้พัฒนาเกมมือถือยอดนิยมชื่อว่า Subway Surfers ในเดือนมิถุนายน และการเข้าถือหุ้น FromSoftware ผู้พัฒนา Elden Ring ของญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม ด้วยสัดส่วนถือหุ้น 16.25% 

 

และในปี 2021 Tencent กล่าวว่าจะเข้าถือหุ้น Sumo ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวิดีโอเกมชาวอังกฤษในข้อตกลงมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกรรมต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ประกาศยกระดับด้านกฎระเบียบของทางการจีนในปลายปี 2020

 

สำหรับดีลในยุโรป Tencent ใช้นโยบายเป็นผู้ถือหุ้นรายเล็กตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการซื้อ Frontier Developments บริษัทเกมสัญชาติอังกฤษที่ Tencent ถือหุ้นเพียง 9% จะยกเว้นแต่การเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน Supercell ผู้ผลิตเกมมือถือ Clash of Clans ในราคา 8.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2016 เท่านั้น

 

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับ Reuters ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนในภูมิภาคอื่นๆ Tencent ยังพยายามที่จะเพิ่มการสัดส่วนการลงทุน รวมทั้งกำลังขยายการลงทุนเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเห็นว่าภูมิภาคซึ่งมีประชากร 650 ล้านคนนี้ มีศักยภาพมากพอที่จะสร้างอาณาจักรเกมออนไลน์ให้เฟื่องฟูได้ 

 

ทั้งนี้ Tencent ซึ่งเป็นบริษัทเครือข่ายโซเชียลที่ใหญ่ที่สุดของจีน มีสำนักงานใหญ่สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่สิงคโปร์ และตั้งแต่ปีที่แล้ว Tencent ได้เน้นย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่ามีเป้าหมายที่จะมีรายได้จากธุรกิจเกมในต่างประเทศเพิ่มเป็น 50% จากเดิมที่ประมาณ 25% 

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising