×

“ยอมรับว่าแพลตฟอร์มจีนน้องใหม่ ‘Temu’ จะยิ่งถล่มซ้ำอุตสาหกรรมอย่างหนัก” เศรษฐกิจไทยจะไปต่อทางไหน เมื่อ กกร. คงเป้า GDP โตสุดแค่ 2.7%

07.08.2024
  • LOADING...
Temu

ภาคเอกชนไทยเฝ้าติดตามและเกาะติดการเมืองในประเทศและเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพราะเดือนนี้สหรัฐฯ, ยุโรป, ญี่ปุ่น และจีน หดตัวลงทุกประเทศ โดยสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับตลาดแรงงานที่แผ่วลง กดดันการบริโภคในระยะข้างหน้า ที่สำคัญสินค้าจีนก็ทะลักเข้าไทยไม่หยุด โดย 6 เดือนที่ผ่านมาไทยนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มอีกถึง 7.12% 

 

บิ๊กเอกชน, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และหอการค้าไทย ยอมรับว่าห่วงแพลตฟอร์มจีน Temu จะยิ่งเข้ามาถล่มซ้ำภาคอุตสาหกรรมและ SMEs ไทยทรุดหนัก 

 

ปัจจัยทั้งหมดกำลังส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังที่เหลืออยู่ จึงถือเป็นความท้าทายเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ซึ่งขณะนี้เอกชนยังมองว่า GDP ไทยโตสุดที่ 2.7% 

 

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว ดัชนีชี้วัดด้านการผลิต PMI Manufacturing เดือนกรกฎาคม ของประเทศหลักทั้งสหรัฐฯ, ยุโรป, ญี่ปุ่น และจีน ต่างหดตัวทั้งหมด 

 

Temu

 

โดยกำลังซื้อในประเทศของจีนยังชะลอตัว ขณะที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับตลาดแรงงานที่แผ่วลง กดดันการบริโภคในระยะข้างหน้า อีกทั้งจะส่งผลกระทบต่อช่วงครึ่งปีหลัง จึงถือเป็นความท้าทายของภาคการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งขยายตัวได้เพียง 2% ในช่วงครึ่งปีแรก 

 

ขณะที่ภาวะตลาดการเงินโลกเกิดความผันผวน และธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ส่งสัญญาณ ‘ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงขึ้น’ สวนทางกับธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย โดยภาพรวมทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

ดังนั้น กกร. ยังคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 (GPD) เติบโตกรอบ 2.2-2.7% ส่วนภาคส่งออกจะขยายตัวในระดับ 0.8-1.5% และอัตราเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ที่ 0.5-1.0% ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง แม้การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐจะเริ่มนำเม็ดเงินเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น แต่รัฐบาลต้องเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเร่งด่วน เพื่อกระตุ้นกิจกรรมก่อสร้างภาครัฐให้กลับคืนมา

 

ห่วง Temu ทุบซ้ำ 23 อุตสาหกรรมไทย

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มีความกังวลเรื่องไทยขาดดุลการค้ากับจีน หลังจากที่ 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (YoY) คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569.89 ล้านดอลลาร์ 

 

ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีน -19,967.46 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15.66%YoY ซึ่งกระทบกับภาคการผลิตกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยมีเพิ่มเข้ามา 2 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและอุตสาหกรรมหนัง ขณะที่มีอุตสาหกรรมที่ดีขึ้น ซึ่งหมายถึงการตีตลาดของสินค้านำเข้าจากจีนลดลง มีอุตสาหกรรมเดียวคืออุตสาหกรรมรองเท้า

 

เกรียงไกรย้ำว่า วันนี้อุตสาหกรรมไทยยังถูกซ้ำเติมจาก Platform e-Commerce น้องใหม่ Temu ทะลักเข้ามาเปิดตลาดในประเทศ โดยขายสินค้าจากโรงงานตรงจากจีน ส่วนใหญ่ 100% เอาไปขายทั่วโลกรวมถึงไทย ส่งตรงถึงผู้บริโภคในราคาถูก ซึ่งเป็นการค้ารูปแบบใหม่ของจีนที่จีนตัดคนกลางทิ้ง ต้นทุนต่ำมาก อีกทั้งราคาถูกอย่างเหลือเชื่อ จะเห็นได้ว่า Temu เข้าไปถล่มเจ้าตลาดสหรัฐฯ อย่าง Amazon แค่ปีกว่ามีผู้เข้าไปใช้บริการ 51 ล้านคน

 

ความน่ากังวลของแพลตฟอร์มออนไลน์นี้คือการตัดราคาโดยไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งแต่เดิมบริษัทแม่ Temu คือ Pinduoduo (PDD) รวมกันซื้อไปต่อรองกับโรงงาน แต่วันนี้ซื้อชิ้นเดียวก็ได้ราคาโรงงาน นี่คือปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมจับตาดูอย่างใกล้ชิด

 

“ฉะนั้นแพลตฟอร์มนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างหนัก ซึ่งมีการไหลบ่าเข้ามาของสินค้าจีนจากทางอื่นที่ทรุดหนักอยู่แล้ว” เกรียงไกรกล่าว 

 

โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเป็นเศรษฐกิจรากฐานของประเทศ ห่วงสถานการณ์ภาคการผลิตที่หดตัว ซึ่งพบตัวเลขปิดโรงงานสูงถึง 667 แห่ง แม้โดยรวม 6 เดือนแรกของปี 2567 จะมีจำนวนการเปิดโรงงานขยายตัวต่อเนื่อง แต่โรงงานที่เปิดกิจการกว่า 1,009 แห่ง เพิ่มขึ้น 122.67%YoY ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนผ่าน BOI  

 

 

“ขณะนี้ปัญหาเฉพาะเศรษฐกิจก็หนักอยู่แล้ว เพราะมีหลายปัจจัยที่ท้าทาย ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาจากภูมิรัฐศาสตร์ที่นับวันยิ่งเข้มข้นขึ้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านการค้า และมีสินค้าโดยเฉพาะจากจีนไหลวนเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไทยเองกำลังเผชิญอยู่ เราอยากเห็นการเมืองที่นิ่ง ไม่เป็นปัญหาและอุปสรรค” เกรียงไกรกล่าว

 

เอกชนผนึกกำลัง ตั้งวอร์รูมสกัดสินค้าจีนทุกช่องทาง

 

ทั้งนี้ กกร. ขอให้รัฐบาลเข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า กำกับ และควบคุมสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าภายในประเทศอย่างเข้มข้น สกัดกั้นตั้งแต่ด่านแรก ของกระทรวงการคลังและการค้าชายแดน กระทรวงพาณิชย์

 

ขณะเดียวกันขอให้ช่วยอุตสาหกรรมเหล่านี้ ใช้สินค้า Made in Thailand จัดสรรเม็ดเงินลงระบบในราย Sector รวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้า EV และ Transform ไปยังธุรกิจใหม่ การส่งเสริม SMEs การบริหารจัดการ Waste ของภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนากำลังคน เทคโนโลยี เพื่อรองรับ Industry 4.0 และอุตสาหกรรมใหม่

 

“ภาครัฐควรสนับสนุนให้มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าเหล่านี้ และภาครัฐควรเพิ่มแต้มต่อให้กับสินค้าไทย จากปัจจุบัน 5% อยากให้เพิ่มเป็น 5-20% และควรต้องทำในระยะเวลานาน เพื่อให้ผู้ประกอบการฟื้นตัว อย่างน้อยต้อง 2 ปี และเรื่องนี้ต้องทำเร่งด่วน”

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้าง Ecosystem ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยและ Supply Chain ไทยมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีน อย่างยั่งยืน (Thai-Chinese Center for Business Sustainability (TCCBS)) เพื่อแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและจีนให้อยู่ในกรอบของผลประโยชน์ร่วมกัน ภายใต้กรอบของกฎหมายของทั้งสองประเทศและกติกาสากล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X