×

บทเรียนจากเสียงระฆังวัดกับคอนโดหรู สู่ภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงสังคมเมืองกับศาสนา

04.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • เสียงระฆังจากวัดมีเพื่อเตือนพระภิกษุสงฆ์ว่า ถึงเวลาที่จะต้องทำกิจทางพระพุทธศาสนา โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลาตั้งแต่เช้ามืดถึงตอนเย็น
  • พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ แห่งวัดสร้อยทอง ให้ความเห็นกรณีความขัดแย้งระหว่างวัดกับคอนโดว่า สังคมในชนบทดูจะมีความเข้าใจในวิถีธรรมเนียมปฏิบัติของวัดมากกว่าคนเมือง ซึ่งการร้องเรียนในลักษณะนี้คงไม่มีทางเกิดขึ้นในต่างจังหวัด
  • ท้ายที่สุดก็ไม่ได้หมายความว่าวัดและผู้คนในชุมชนเมืองจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ หากแต่ต้องอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย

กลายเป็นกระแสที่พูดถึงอย่างมาก กับกรณีที่มีลูกบ้านจากคอนโดแห่งหนึ่งร้องเรียนไปยังสำนักงานเขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ ก่อนจะมีการส่งหนังสือไปถึงทางวัดไทร ที่เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ในย่านพระราม 3 ร้องเรียนว่าทางวัดตีระฆังส่งเสียงดังกลางดึกรบกวนผู้อาศัยคอนโด จนล่าสุดทางวัดต้องยอมลดระดับเสียงในการตีลงมาเพื่อไม่ให้รบกวนผู้อาศัยในละแวกนั้น

 

หลายคนถกเถียงกันในประเด็นนี้อย่างจริงจัง บ้างอ้างว่าวัดอยู่มาก่อนคอนโด ทนไม่ได้ก็ควรย้ายออกไป ขณะที่บางส่วนมองว่าทั้งวัดและคอนโดต้องปรับตัวเข้าหากัน ท่ามกลางโลกยุคปัจจุบันที่เสียงระฆังมีความจำเป็นน้อยลงทุกวัน

 

เสียงระฆังจากวัดแต่ละช่วงเวลาสื่อถึงอะไร

หลายคนรู้อยู่แล้วว่าเหตุผลในการตีระฆังช่วงเวลาต่างๆ ของวัดนั้น เพื่อให้พระสงฆ์ภายในวัดได้ทราบเวลาในการทำกิจต่างๆ หลักๆ แล้วการตีระฆังในวัดจะถูกแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลาดังนี้

 

การตีระฆังในช่วงเวลา 04.00-05.00 น. มีขึ้นเพื่อปลุกพระให้ตื่นจากการจำวัด เพื่อลงประชุมทำวัตรสวดมนต์ตอนเช้ามืด โดยถือเป็นการกำจัดกิเลส ทำตนให้เป็นเขตนาบุญ ก่อนออกบิณฑบาตในเวลารุ่งเช้า

 

ส่วนอีก 2 ช่วงเวลาเพื่อการสวดมนต์ทำวัตร โดยครั้งแรกจะเริ่มตีประมาณ 08.00 น. เพื่อส่งสัญญาณให้พระลงมาทำวัตรเช้า และตีอีกครั้งหนึ่งเวลาประมาณ 16.00 น. เพื่อส่งสัญญาณให้พระลงประชุมทำวัตรเย็นเช่นกัน

 

นอกจากนี้ในการตีระฆังหรือตีกลองสำหรับบางวัดยังมีมิติที่มากกว่านั้น เพราะจังหวะและทำนองของการตีในแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องคาบเกี่ยวของวัฒนธรรมกับศาสนาที่มีร่วมกันมายาวนาน

 

ความเปลี่ยนแปลงของวัดและสังคมเมือง

ในสภาพสังคมปัจจุบัน เมืองและชนบทถูกแยกขาดออกจากกันชัดเจน เช่นเดียวกับมุมมองที่ผู้คนมีต่อวัดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

 

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ แห่งวัดสร้อยทอง ให้ความเห็นในประเด็นนี้กับ THE STANDARD ว่า สังคมในชนบทดูจะมีความเข้าใจในวิถีธรรมเนียมปฏิบัติของวัดมากกว่าคนเมือง ซึ่งการร้องเรียนในลักษณะนี้คงไม่มีทางเกิดขึ้นในต่างจังหวัด เพราะบางชุมชนก็ยังอาศัยเสียงสัญญาณจากระฆังในการลุกขึ้นมาทำกิจวัตรประจำวันเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงเข้าพรรษาที่ชาวบ้านจะตื่นมาทำกับข้าวยามเช้าเพื่อเตรียมตัวไปวัดและทำบุญ

 

ซึ่งภาพเหล่านี้กลับหาดูได้ยากในสังคมเมืองปัจจุบัน ที่สภาพสังคมเป็นลักษณะต่างคนต่างอยู่

 

“วัดมีคุณค่ากับคนในสังคมเมืองในมิติที่เปลี่ยนไป และบทบาทน้อยลงไปมาก เช่น ทุกวันนี้คนมาวัดก็มองว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มาเช็กอินจนกลายเป็นแลนด์มาร์ก มาเที่ยว, มากิน, ไหว้พระขอพร จนทำให้พิธีกรรมบางอย่างที่มีด้านจิตวิญญาณมันน้อยลง”

 

 

วัดและสังคมเมืองจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

จากการเปิดสำรวจความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กของ THE STANDARD ในหัวข้อ ‘คุณคิดเห็นอย่างไรกับการที่ผู้พักอาศัยในคอนโดแห่งหนึ่งร้องเรียนเรื่องเสียงรบกวนจากการตีระฆังของวัดข้างเคียง’ ที่มีผู้เข้าร่วมโหวตทั้งหมด 4.5 พันราย ในเวลา 2 ชั่วโมง ได้ผลสรุปโหวตเบื้องต้นพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการร้องเรียนนี้ เพราะวัดได้ตั้งอยู่ในพื้นที่มานานแล้ว ที่มีจำนวนคนโหวต 3.5 พันคน ขณะที่มีผู้เห็นต่อการร้องเรียนด้วยจำนวน 1.1 พันคน

 

โดยหนึ่งในความคิดเห็นจากโลกออนไลน์บอกว่า “ผมอาจจะไม่เห็นด้วยไม่ใช่เพราะแค่วัดอยู่มานาน แต่มันคือสังคมที่ต้องอยู่ร่วมกัน ควรศึกษาข้อมูลก่อนมาเข้าพักว่าชุมชนที่มาอยู่นั้นมีข้อดีข้อเสียตรงกับเราอย่างไรบ้าง ถ้าร้องเรียนเรื่องเสียงรบกวนได้หมด รถไฟ เครื่องบิน ไม่ต้องหยุดด้วยหรือ”

 

ขณะที่อีกรายให้ความเห็นว่า “เจตนาของการตีระฆังเพื่ออะไร ถ้าเพื่อเรียกพระให้มาทำวัตรเช้าเย็น ก็ได้ยินในวัดพอ ตีเบาๆ ก็ได้ยินแล้ว แต่ถ้าคิดว่าเป็นไปตามธรรมเนียมเคยทำมา ไม่คิดบ้างหรือว่ามันล้าสมัยไปแล้ว พระมีนาฬิกา มือถือกันทุกรูป แต่ธรรมวินัยห้ามสะสมเงิน มาอ้างว่าล้าสมัย”

 

จะเห็นว่าเรื่องนี้สามารถทำความเข้าใจได้ทั้ง 2 มุม ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกมองมุมไหน

 

ล่าสุด นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด กล่าวว่า ว่าในเเง่กฎหมายไม่มีกฎหมายใดสั่งให้พระหยุดตีระฆังทำกิจของสงฆ์ในวัดหรือในชุมชนได้ และกรณีนี้ทราบว่าวัดไทรก่อตั้งมากว่า 300 ปี ซึ่งสร้างมาก่อนคอนโดมิเนียม ดังนั้น ผู้ที่ซื้อคอนโดมิเนียมย่อมเข้าใจสภาพเเวดล้อมดี

กลับกันคือ หากวัดมาสร้างทีหลังคอนโดมิเนียม จะไม่สามารถตีระฆังรบกวนชาวบ้านที่อยู่มาก่อนได้ เช่นเดียวกับรัฐจะทำอะไรที่กระทบกระเทือนสิทธิประชาชน ต้องทำประชาพิจารณ์ และผู้อำนวยการเขตบางคอแหลมไม่มีอำนาจ และไม่มีสิทธิ์ไปออกหนังสือห้ามให้วัดหยุดตีระฆัง หรือสั่งให้ตีเสียงเบาลง ซึ่งอยากให้สำนักงานเขตนึกถึงวัฒนธรรมไทยที่เคยถือปฏิบัติมาด้วย

 

ท้ายที่สุดก็ไม่ได้หมายความว่าวัดและผู้คนในชุมชนเมืองจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ หากแต่ต้องอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย

 

“วิธีการถ้อยทีถ้อยอาศัยเป็นวิธีการเดียวที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้ บางวัดก็ต้องปรับ เช่นการใช้เครื่องขยายเสียงตอนเช้า หรือใช้เป็นเวลานานๆ ก็ควรต้องลดเสียงลง ชาวบ้านเองก็ต้องปรับเหมือนกัน อย่างในกรณีที่อาศัยในคอนโดมิเนียมใกล้วัดก็ต้องศึกษาผลกระทบให้ดีก่อน หรือถ้าต้องอยู่ก็ควรเลือกห้องที่ปลอดจากมลพิษทางเสียง ซึ่งก็จะช่วยได้” พระมหาไพรวัลย์ให้ความเห็นทิ้งท้าย

 

ซึ่งเรื่องนี้คงต้องอาศัยความเข้าใจร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ซึ่งทั้งวัดและชุมชนจะต้องปรับตัวเข้าหากัน เพราะถึงอย่างไรสังคมไทยก็ยังได้ชื่อว่าเป็นสังคมพุทธที่วัดวาอารามและที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้ๆ จนยากจะแยกออกจากกันได้ง่ายๆ หากสามารถเข้าใจตรงกันได้ ต่อไปไม่ว่าเวลาจะผันเปลี่ยนไปแค่ไหน การอยู่ร่วมกันของวัดและสังคมเมืองก็จะอยู่โดยปราศจากปัญหาแน่นอน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X