NASA เปิดภาพถ่ายมุมมองใหม่ของวัตถุ NGC 2264 จากการรวมข้อมูลกล้องโทรทรรศน์ที่สำรวจจักรวาลในช่วงคลื่นต่างกัน เผยให้เห็นความงามของ ‘ต้นคริสต์มาสแห่งเอกภพ’ รับวันคริสต์มาสปี 2023
วัตถุ NGC 2264 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสง ประกอบด้วยเนบิวลาเรืองแสงและกระจุกดาวฤกษ์อายุน้อยจำนวนมาก โดยภาพที่ NASA เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมนี้ ได้รวมข้อมูลจากช่วงแสงที่ตามองเห็น รังสีเอ็กซ์ และอินฟราเรด โดยกล้องโทรทรรศน์ที่แตกต่างกัน
แสงสีเขียวที่เปรียบเหมือนพุ่มใบ เป็นการย้อมสีของก๊าซในเนบิวลา จากข้อมูลที่กล้องโทรทรรศน์ WIYN ของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NSF บันทึกไว้ได้ ในขณะที่แสงสีน้ำเงินและขาวเหมือนไฟตกแต่งต้นคริสต์มาสนั้น เป็นรังสีเอ็กซ์ที่แผ่ออกจากดาวฤกษ์ในกระจุกดาว ซึ่งถูกถ่ายไว้โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราของ NASA
นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาพถ่ายในช่วงคลื่นอินฟราเรดจากโครงการ Two Micron All Sky Survey หรือ 2MASS มาเสริมในบริเวณลำต้น เช่นเดียวกับตกแต่งดาวฤกษ์มากมายทั้งในเบื้องหน้าและเบื้องหลังของวัตถุ NGC 2264
สำหรับภาพถ่ายต้นคริสต์มาสแห่งเอกภพเวอร์ชันนี้ ได้รับการย้อมสีจากข้อมูลของกล้องโทรทรรศน์ เพื่อให้มีความคล้ายคลึงกับลักษณะต้นคริสต์มาส เช่นกันกับการหมุนภาพวัตถุ 160 องศาตามเข็มนาฬิกา ให้ส่วนยอดของต้นปรากฏอยู่ด้านบนสุดของรูป โดยเป็นผลงานการประมวลภาพของ ลิซา แฟรตแทร์ และ เจสัน เมเจอร์ ผู้มีประสบการณ์ประมวลภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์ต่างๆ ของ NASA อย่างยาวนาน
ภาพ: NASA
อ้างอิง: