วันนี้ (1 กุมภาพันธ์) ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล มีพฤติกรรมเข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามมาตรา 49 เป็นผลให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองหยุดพฤติกรรมทั้งหมดเมื่อวานนี้
ล่าสุดธีรยุทธเดินทางมาที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นขอให้ กกต. ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลตามมาตรา 92 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ เนื่องจากเห็นว่าตนเองเป็นผู้ยื่นร้องตั้งแต่ต้น จึงมีหน้าที่ดำเนินการตามขั้นตอนให้ครบถ้วน โดยยื่นคำร้องจำนวน 11 แผ่น พร้อมแนบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจากการถอดเทป 11 แผ่น และเอกสารประกอบคำร้องอีก 110 แผ่น
โดยใจความสำคัญของคำร้องคือ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพฤติกรรมของพิธาและพรรคก้าวไกลเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือว่ามีผลผูกพัน กกต. จึงมีหลักฐานสำคัญอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกลได้กระทำการล้มล้างการปกครอง
ตนในฐานะผู้ร้องจึงขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งบังคับการกับพรรคก้าวไกลตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรค 1 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหลักฐานอันเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองมีพฤติกรรมล้มล้างการปกครอง ให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น จึงขอให้ กกต. ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล
ธีรยุทธกล่าวว่า หลังจากได้ฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวาน มองว่าทุกอย่างไปเป็นไปตามพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของพิธาและพรรคก้าวไกลเอง ตอนที่ตนเองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพียงแค่ต้องการให้ศาลเมตตา สั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดการกระทำ แต่หลังจากฟังคำวินิจฉัยของศาลโดยละเอียดหลายรอบ จึงเห็นว่าเมื่อศาลเมตตาวินิจฉัยคำร้องให้แล้วถือว่ามีความผูกพันต่อคำสั่งศาลโดยตรง จึงทำหน้าที่ให้ทุกอย่างเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาล พร้อมยืนยันว่าตนเองไม่ได้รู้สึกกังวลใจหากที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง
ธีรยุทธกล่าวด้วยว่า คำวินิจฉัยของศาลเมื่อวานนี้เป็นการวางบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของไทย สมาชิกพรรค รวมถึงผู้สนับสนุนพรรค ก็มีหน้าที่ในการดำเนินการ จะต้องปฏิบัติและยึดถือบรรทัดฐานนี้ และเชื่อว่าหลักการนี้ก็ปรากฏในหลักการของพรรคก้าวไกล ดังนั้นหากมีการกระทบกระทั่งเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล
ส่วนที่นักวิชาการมองว่าคำวินิจฉัยของศาลเมื่อวานนี้จะทำให้การแก้ไขมาตรา 112 ไม่สามารถทำได้นั้น ธีรยุทธกล่าวว่า นักวิชาการเหล่านั้นไม่ได้อ่านคำวินิจฉัยโดยละเอียด จึงขอให้กลับไปฟังหลายๆ รอบ เพราะศาลไม่ได้ปิดประตู แต่ต้องเป็นไปตามครรลองของนิติบัญญัติโดยชอบ ซึ่งส่วนตัวมองว่าต้องเป็นฉันทมติ แต่เมื่อวานนี้ศาลวินิจฉัยชัดแล้วว่ามีเจตนาซ่อนเร้นอย่างอื่นอันมีนัยสำคัญ ประชาชนทั่วอาจจะยังไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม ทราบว่าก่อนจะมีการวินิจฉัย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ท่านได้ประชุมร่วมกันถึง 62 ครั้ง จึงเชื่อว่าการจัดทำคำพิจารณาวินิจฉัยเป็นไปอย่างละเอียดรอบด้าน