ภาพของเด็กๆ ที่ไล่เตะฟุตบอลในสนามของเมืองเล็กๆ ที่ชื่อคาวาโกเอะ หรือ ‘เอโดะน้อย’ ยังคงติดอยู่ในใจ
เท่าที่เห็น สนามฟุตบอลในโรงเรียนญี่ปุ่นไม่ได้เป็นสนามหญ้าสวยงามเหมือนสนามฟุตบอลในยุโรปครับ ออกแนวสนามดินมากกว่า แต่สนามดินที่ว่าก็ไม่ใช่ดินลูกรังหรือดินโคลนเฉอะแฉะ ประเมินจากความรู้อันน้อยนิด ผมคิดว่าน่าจะเป็นสนามดินอัดแน่นที่พื้นค่อนข้างเรียบ
เด็กๆ เล่นกันได้แบบไม่ต้องพะวงว่าจะเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันจากความไม่พร้อมของสนามที่ใช้เล่น
เห็นสภาพแวดล้อม เห็นความสนุกสนาน เห็นสายตาที่เปี่ยมสุขของเด็กๆ เหล่านั้นแล้วผมก็เกิดนิสัยไม่ดี อิจฉาเขาขึ้นมาเสียอย่างนั้นครับ
นึกถึงสมัยเด็กๆ ที่ต้องตระเวนไปร่ำเรียนวิชาลูกหนังจากสารพัดครู ซึ่งก็เป็นอดีตนักฟุตบอลเก่า (และแน่นอนว่าแก่) ตามคอร์สอบรมที่มีเปิดให้เห็นประปราย เช่น สิงห์ลูกหนัง, ยูคอมแข้งทอง ฯลฯ ที่ต้องไปอาศัยสนามหญ้าของสถานที่ราชการ ท่าวาสุกรีบ้าง พื้นที่ในกรมทหารบ้าง สนามในมหาวิทยาลัยบ้าง
สมัยนี้การเรียนฟุตบอลในบ้านเราอาจไม่ใช่เรื่องยากเหมือนสมัยนั้น สนามหญ้าเทียมเกิดขึ้นมากมายทั่วทุกหัวระแหง นักฟุตบอลเก่าหันมาประกอบอาชีพสอนฟุตบอลไม่น้อย แต่ก็แลกมาด้วยค่าใช้จ่ายจำนวนไม่เบาเหมือนกันสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง
ถ้าเด็กๆ บ้านเราได้เตะฟุตบอลเล่นในสนามดีๆ อยู่ในเมืองน่ารักๆ แบบเจ้าหนูซามูไรบ้างก็คงดีนะครับ
อย่างไรก็ดี คนจะเอาดีทางเกมลูกหนังได้นั้น สนามฟุตบอลหรือสภาพแวดล้อมนั้นเป็นแค่องค์ประกอบ
บางคนเกิดและเติบโตขึ้นในสนามฟุตบอลเล็กๆ แต่ก็เป็นนักฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ได้
ธีรศิลป์ แดงดา อีกหนึ่งดาราลูกหนังบ้านเราที่กำลังจะไปค้าแข้งที่ประเทศญี่ปุ่นในฤดูกาลหน้าก็เป็นหนึ่งในนั้น
My Ground สนามเล็ก หัวใจใหญ่
หลายปีก่อน ผมเคยมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับธีรศิลป์ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ จากการทำงานร่วมกันให้บริษัทเครื่องกีฬายักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ
ในงานที่ทำร่วมกันนั้นคือ My Ground ภารกิจการเดินทางตามหาเรื่องราวในวันวานที่นำมาสู่นักฟุตบอลที่เป็นที่รักของคนไทยมากมายในวันนี้
แต่หลังการขับรถค้นหาสนามฟุตบอลอยู่พักใหญ่ในทุ่งสีกัน เขตพื้นที่ทหารอากาศ ผมก็ต้องประหลาดใจเมื่อพบว่า My Ground ของ ‘มุ้ย’ คือสนามฟุตบอลเล็กๆ ที่เก่าและทรุดโทรม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสระว่ายน้ำที่สภาพไม่แตกต่างกัน
ยิ่งกว่าที่คิดไว้ -ผมรู้สึก แต่ก็ไม่ได้พูดอะไรออกไป
แต่เมื่อมองลึกลงไปในดวงตาของธีรศิลป์ สายตาของเขาบ่งบอกว่าที่นี่แหละคือ ‘บ้าน’ ของเขาในเกมลูกหนัง
สนามแห่งนี้คือที่ที่ขัดเกลากองหน้าที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของไทยขึ้นมาภายใต้การดูแลของคุณพ่อ จ่าอากาศเอก ประสิทธ์ แดงดา ที่หวังจะเห็นเจ้าลูกชายได้ดีในเกมลูกหนัง
มุ้ยเป็นคนเงียบๆ เขาพูดไม่เก่ง การพูดคุยกันในวันนั้นจึงไม่ได้ไหลลื่นมากนัก แต่บทสนทนาประสาลูกหนังก็ยังพอจับใจความได้ว่าพ่อเคี่ยวเข็ญเขาไม่เบา ทุกวันหลังเลิกเรียนเขาต้องมาเล่นฟุตบอลกับพ่อที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาลูกหนังให้ จากจุดเริ่มต้นการฝึกฝนอย่างจริงจังในวัย 7 ขวบ ธีรศิลป์ค่อยๆ เก่งกาจขึ้นเรื่อยๆ เก่งมากพอที่จะมองเห็นอนาคตในเส้นทางสายนี้
แต่เส้นทางนั้นไม่ได้ถูกโรยด้วยกลีบกุหลาบ เขาเองเคยถูกปฏิเสธในการเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา จนได้มาเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี แทน โดยเป็นนักเรียนในโครงการช้างเผือกรุ่นแรก
ในทีมโรงเรียน ‘เจ้าสัวน้อย’ (สมญาของอัสสัมชัญ ธนบุรี) ธีรศิลป์เข้าคู่กับ ศักรินทร์ จันทร์โยธา ผนึกกำลังเขย่าวงการลูกหนังขาสั้นของไทย
เขายังเคยคว้าแชมป์การแข่งขันฟุตบอลรายการหนึ่งจนได้โอกาสไปบราซิล และได้พบกับ ‘โอ เฟโนเมโน’ หรือโรนัลโด้ กองหน้าขวัญใจตลอดกาลของเขาด้วย
ก่อนจะได้โอกาสอีกมากมายในชีวิต ทุกอย่างนั้นเริ่มต้นมาจากสนามฟุตบอลเล็กๆ แห่งนั้นในเขตทุ่งสีกัน
และจากตัวตนของเขาที่แม้จะเป็นคนที่มีบุคลิกเรียบนิ่ง แต่ลึกๆ แล้วธีรศิลป์ก็มีความกระหายและทะเยอทะยานไม่ต่างจากคนอื่นครับ
หากมีโอกาส เขาพร้อมจะคว้ามันเสมอ
เอาไว้ก่อน ค่อยว่ากันทีหลัง
การผจญภัยครั้งแรกกับ ‘เรือใบสีฟ้า’
ผมได้ยินชื่อธีรศิลป์ แดงดา ครั้งแรกเมื่อปี 2007 ครับ
สมัยนั้นเขาเป็นกองหน้าดาวรุ่งของวงการฟุตบอลไทยที่เพิ่งแจ้งเกิดได้ไม่นานกับ เมืองทอง ยูไนเต็ด และเพราะเหตุผลนั้นเอง ทำให้การที่เขาเป็น 1 ใน 3 นักฟุตบอลไทยร่วมกับ สุรีย์ สุขะ และเกียรติประวุฒิ สายแวว ที่ได้เซ็นสัญญากับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ กลายเป็นเรื่องที่แอบน่าประหลาดใจอยู่ไม่น้อยในความรู้สึกส่วนตัว
การเซ็นสัญญาครั้งนั้นเป็นผลมาจากการที่ทีม ‘เรือใบสีฟ้า’ มีเจ้าของชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการนำนักฟุตบอลไทยไปพรีเมียร์ลีกให้ได้ ซึ่งผมและอีกหลายคน ณ ยามนั้นมองว่านี่คือ ‘หมาก’ เกมนี้เป็นการทำเพื่อการเมืองและการประชาสัมพันธ์ ไม่มีอะไรมากหรือน้อยไปกว่านั้น
แต่ถ้าจะหวังผลเช่นนั้น ทำไมไม่เอาคนอื่นที่ดังหรือดีกว่านี้?
ยิ่งเห็นบุคลิกหงิมๆ หงอยๆ ไร้ซึ่งสง่าราศีแล้วก็ยิ่งแปลกใจ
การไปอังกฤษครั้งนั้นของธีรศิลป์ สุรีย์ และเกียรติประวุฒิ ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดครับ เรื่องของระดับฝีเท้านั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่เป็นอุปสรรคมากในเวลานั้นคือเรื่องใบขออนุญาตทำงาน หรือ work permit ซึ่งเป็น ‘กำแพง’ สูงใหญ่ที่นักฟุตบอลไทยก้าวผ่านไปไม่ได้
การไม่มีใบอนุญาตทำงานทำให้ทั้งสามทำอะไรไม่ได้มากกว่าการซ้อมและอดทนรอโอกาสที่ไม่มีวันมาถึง
เล่นในอังกฤษไม่ได้ก็ถูกส่งตัวไปให้สโมสรอื่นในยุโรปยืมใช้งานเพื่อหวัง ‘ชุบตัว’ ซึ่ง ธีรศิลป์ถูกส่งไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพื่อเล่นให้กับกราสฮอปเปอร์ ซูริก ทีมที่คุ้นหูคนไทยมากที่สุดทีมหนึ่งของแดนนาฬิกา
ที่นั่นเขาได้ลงสนามบ้าง แม้จะไม่มากนัก และเป็นระดับทีมสำรอง แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ลงสัมผัสบรรยากาศเลย
ก่อนที่จะต้องเดินทางกลับมาบ้านเรา เมื่อแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของสโมสรยกเลิกสัญญาของ 3 นักเตะไทย
นั่นคือโอกาสครั้งแรกของธีรศิลป์ในต่างแดนครับ
หลังจากนั้นเขากลับมาเล่นในเมืองไทยอีกครั้ง และกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ของชาติ เป็นนักฟุตบอลที่แฟนบอลไทยรักและยกย่องมากที่สุดคนหนึ่ง
ด้วยฝีเท้าและประสบการณ์ที่เพิ่มพูน มุ้ยคือคีย์แมนที่นำความสำเร็จมาสู่ทีม ‘กิเลนผยอง’ และเป็นหนึ่งในกองหน้าสายเลือดไทยแท้ไม่กี่คนที่ปักหลักยึดตำแหน่งเอาไว้ได้ท่ามกลางการแข่งขันกับเหล่ากองหน้าจากต่างประเทศที่ถูกดึงตัวมาค้าแข้งในไทยลีกมากมาย
สำหรับนักฟุตบอลบางคน แค่นี้ก็ดีมากแล้ว
ฝันที่เป็นจริงในแดนกระทิงดุ
ในขณะที่ทุกอย่างเป็นไปได้สวย จู่ๆ โอกาสครั้งที่ 2 ของเขาก็มาถึงอย่างไม่ทันตั้งตัว
คราวนี้มุ้ยไปไกลกว่าเก่าครับ เมื่ออัลเมเรียติดต่อขอดึงตัวเขาไปร่วมทีมในแบบสัญญายืมตัวในฤดูกาล 2015-16 โดยการเซ็นสัญญาและการเปิดตัวของเขากับอัลเมเรียมีขึ้นที่สนามเอสซีจี สเตเดียม และผมก็ไปร่วมงานวันนั้นด้วยเช่นกัน
ความจริงก่อนหน้าที่จะไปอัลเมเรีย ธีรศิลป์เคยไปทดสอบระดับฝีเท้าตัวเองกับแอตเลติโก มาดริด แบบสั้นๆ ในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนที่อัลเมเรียจะติดต่อมายังเมืองทอง ยูไนเต็ด เพื่อขอยืมตัวไปใช้งานในช่วงตลาดฤดูหนาวของฤดูกาล 2014-15 เพียงแต่เขาตัดสินใจร่วมกับผู้ใหญ่ในสโมสรว่ายังไม่น่าใช่ช่วงจังหวะที่เหมาะสมด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งเรื่องสภาพร่างกาย ทั้งสถานการณ์ของอัลเมเรียที่ลุ่มๆ ดอนๆ ลุ้นหนีตกชั้น
แต่ถึงจะคลาดกันในครั้งนั้น สุดท้ายอัลเมเรียก็ติดต่อกลับมาพร้อมสัญญายืมตัวเป็นระยะเวลา 1 ปี
คราวนี้ธีรศิลป์ซึ่งยืนกรานหนักแน่นว่าถ้าไปเพราะ ‘การตลาด’ เขาไม่ไป แต่ถ้าอัลเมเรียมั่นใจว่าเขาดีพอสำหรับลาลีกา หนึ่งในสุดยอดลีกของโลก เขาก็พร้อมจะไป
ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้ปักใจเชื่อเต็มร้อยว่าการไปครั้งนี้ของมุ้ยเป็นเหตุผลเรื่องฟุตบอลล้วนๆ แต่อย่างน้อยมันก็เป็นเรื่องฟุตบอลมากกว่าครั้งแรก
สำหรับตัวธีรศิลป์ การไปสเปนในครั้งนั้นคือการ ‘เปิดโลก’ ของจริง เขาไปในฐานะ ‘นักฟุตบอลอาชีพ’ ที่ต้องแข่งขันภายในทีมร่วมกับนักเตะฝีเท้าระดับสูง ได้เก็บตัวกับทีมตั้งแต่ช่วงพรีซีซัน ได้ฝึกซ้อมแบบเข้มข้นที่ทำให้เขารู้สึกสนุกและอยากตื่นไปฝึกซ้อมทุกวัน
ก่อนที่เขาจะกลายเป็นนักฟุตบอลไทยคนแรกที่ได้โอกาสลงเล่นในเกมลาลีกา เมื่อถูกเปลี่ยนตัวลงสนามในเกมนัดเปิดฤดูกาลที่อัลเมเรียพบกับเอสปันญอล โดยที่เจ้าตัวเองก็ไม่ได้คิดมาก่อนว่าโอกาสของเขาจะมาถึงเร็วขนาดนี้
มันคือความฝันที่เป็นจริง และเป็นฝันที่ยิ่งใหญ่มากด้วย
ยิ้มสยามฉีกกว้างที่อัลเมเรียทุกวัน
แต่เมื่อเขาเป็นมนุษย์ และเราต่างอยู่ในโลกของความจริง ความโหดร้ายค่อยๆ ปรากฏกายออกมาจากเงามืด
ที่อังกฤษ เขาเจอกำแพงเรื่อง work permit แต่ที่สเปน เขาเจอกำแพง ‘ภาษา’
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่สโมสรจัดงานเลี้ยงกัน ทุกคนจับกลุ่มคุยกันอย่างสนุกสนาน แต่เขาเป็นคนเดียวที่สื่อสารอะไรกับใครไม่ได้ ฟังก็ไม่เข้าใจ เรื่องพูดยิ่งไม่ต้องถาม ท่ามกลางเพื่อนร่วมทีมมากมาย สายลมหนาวปะทะหัวใจของเขาเข้าอย่างจัง นับจากนั้นธีรศิลป์ค่อยๆ ถูกกีดกันออกจากทีมทีละน้อย ชื่อที่เคยติดทีมในฐานะตัวสำรองก็เริ่มห่างหาย บอลที่เคยได้จากเพื่อนก็ไม่ได้อีก ไม่ว่าเขาจะวิ่งทำทางได้สวยขนาดไหนก็ตาม
เม็ดทรายในนาฬิกาเริ่มร่วงหล่น เวลาของเขาในสเปนเริ่มนับถอยหลังในช่วงนั้นเอง
แต่อย่างน้อยที่สุดเขาก็สร้างชื่อได้ในเกมโกปา เดล เรย์ หรือฟุตบอลชิงถ้วยของสเปน ในเกมที่พบกับเรอัล เบติส ซึ่งเขาได้โอกาสลงสนามเป็นตัวจริงในเกมนั้น
นาทีที่ 5 ของวันที่ 5 ธันวาคม 2014 เขาจารึกชื่อตัวเองในประวัติศาสตร์ลูกหนังของไทยและสเปนด้วยประตูแรกและประตูเดียวของเขาในชีวิตการค้าแข้งที่สเปน
ความจริงมันควรจะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แต่ 4 วันหลังจากนั้น ฟรานซิสโก โรดริเกวซ โค้ชที่เป็นคนตัดสินใจดึงตัวเขามาร่วมทีมถูกปลดออก
และเกมต่อมา เขาถูก ฮวน อิกนาซิโอ มาร์ติเนซ โค้ชคนใหม่ตัดชื่อพ้นทีม และให้ไปชมเกมบนอัฒจันทร์
เข้าปี 2015 เมืองทอง ยูไนเต็ด ดึงตัวเขากลับมาสู่อ้อมกอดในบ้านหลังเก่าที่คุ้นเคยทันที
ยุติวันเวลาของความฝันไว้แค่ตรงนี้
Third Time Lucky
ความจริงหลังอัลเมเรีย ผมไม่คิดว่าธีรศิลป์จะคิดถึงการค้าแข้งต่างแดนอีกครับ
เขาเองก็ดูพอใจกับชีวิตการเล่นในไทยและมีความสุขในทุกวันเวลา ไม่ว่าจะความสำเร็จกับสโมสร หรือชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น และเพิ่งจะได้เป็นคุณพ่อมือใหม่หมาดๆ
แต่มีเสียงเล็ดลอดให้ผมได้ยินตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากที่ ชนาธิป สรงกระสินธ์ สร้างชื่อให้กับนักฟุตบอลไทยกับความสำเร็จในทีมฮอกไกโด คอนซาโดเล ซัปโปโร คือการที่เจลีกให้ความสนใจจะดึงสตาร์ของไทยไปเล่นในลีกแดนซามูไรอีกตามโครงการ The Asia Project
ชื่อของธีรศิลป์เป็นชื่อที่ผมได้ยินมาตลอดว่าตัวแทนจากเจลีกสนใจอย่างจริงจัง
และในที่สุด เมื่อบ่ายวันอังคารที่ผ่านมา (20 ธ.ค.) ผมได้รับการบอกเล่าว่าธีรศิลป์จะเปิดตัวกับสโมสรใหม่ ซานเฟรซเซ ฮิโรชิมา ซึ่งในช่วงค่ำก็มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าการย้ายทีมจะเกิดขึ้นด้วยสัญญายืมตัว 1 ฤดูกาล
การย้ายทีมครั้งนี้ แน่นอนว่ามีอิทธิพลมาจากความสำเร็จของชนาธิปส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะทุกฝ่ายมองแล้วว่าธีรศิลป์ดีพอสำหรับการไปเล่นในเจลีก
และสำหรับตัวเขาเองก็อยากได้โอกาสไปพิสูจน์ตัวเองในลีกอาชีพที่สูงกว่าไทยอีกครั้งเช่นกัน
“ผมยังตื่นเต้น ยังประหม่าอยู่เลย ผมอยากไปเล่น อยากไปต่างประเทศอีกครั้ง และพอมันเกิดขึ้นจริงๆ ก็ตื่นเต้นมาก
“ตอนทราบข่าวก็คิดอยู่นาน อึ้งไปสักพัก แต่ใจมันอยากไป เลยตอบตกลง เพราะผมตั้งใจอยู่แล้วว่าถ้ามีโอกาสก็จะขอไปอีกสักครั้ง”
จากถ้อยคำบอกเล่าความรู้สึกในใจของเขาอย่างชัดเจน มันน่าจะทำให้เราได้เห็นอีกมุมของผู้ชายเงียบๆ คนนี้ครับว่าเขาเป็นคนที่มี ‘ไฟ’ ในตัวร้อนแรงกว่าที่เราเห็น
ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความทะเยอทะยานมากขนาดนี้ ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะเผชิญหน้ากับสิ่งที่มองไม่เห็นขนาดนี้
และไม่ใช่นักฟุตบอลทุกคนที่ประสบความสำเร็จมากในระดับหนึ่ง มีทุกอย่างที่ใครต่อใครต่างใฝ่ฝัน แล้วจะตัดสินใจออกผจญภัยอีกสักครั้ง
ด้วยวัย 29 ปีของเขา หลายคนมองอย่างตั้งคำถามว่า ‘ช้าไปไหม’
แต่หากมองอีกแง่หนึ่ง วัยที่คนในวงการฟุตบอลรู้กันดีว่าพร้อมที่สุดด้วยฝีเท้าและประสบการณ์คือช่วง 28-29 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่นักฟุตบอลจะท็อปพีกที่สุดในชีวิต ธีรศิลป์เองก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น ผลงานของเขาอาจไม่ถึงขั้นโดดเด่นสะดุดสายตา มีชื่อปรากฏบนพาดหัวข่าวตลอดเวลา แต่มีหลายต่อหลายครั้งที่เขาแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการเล่นที่อยู่ในระดับท็อปของเอเชีย
ด้วยสไตล์การเล่นในบท second striker หรือกองหน้าตัวต่ำ ด้วยเซนส์ฟุตบอลและด้วยรูปร่างของเขาทำให้ผมแอบคิดถึง เจย์ โบธรอยด์ อดีตเพื่อนร่วมทีมของเขาที่กลายเป็นสตาร์ของทีมคอนซาโดเลร่วมกับชนาธิป และมีส่วนสำคัญในการทำให้ทีมนกฮูกเมืองเหนือรอดพ้นจากการตกชั้นได้
ที่จะยากกว่ากรณีของ ‘เมสซี่เจ’ คือความกดดันของตำแหน่งกองหน้า ที่หากไม่มี ‘ประตู’ ก็แปลว่าเขา ‘ไม่มีความหมาย’ กับทีม ซึ่งแตกต่างจากชนาธิป ที่ถึงจะยังไม่มีประตู แต่ตราบที่ยังเล่นได้หวือหวาและมีส่วนร่วมกับทีมสูง ทำให้ยังเป็นที่ชื่นชมของโค้ชต่อ
แต่ถ้าเขาได้โอกาส ผมยังเชื่อลึกๆ ว่าธีรศิลป์น่าจะทำได้ดีครับ
ในสิ่งที่เป็นห่วงเพิ่มเติมคือเรื่องของการปรับตัว โดยเฉพาะเรื่องอุปนิสัยที่เป็นคนนิ่งๆ ตรงนี้อาจจะทำให้ปรับตัวได้ช้ากว่าชนาธิปที่มีนิสัยร่าเริงสนุกสนาน ซึ่งเป็นเรื่องง่ายที่ใครต่อใครจะหลงรัก
เรื่องของภาษาเองก็น่ากังวล เพราะมีโอกาสที่จะทำให้เขาประสบปัญหาเหมือนที่อัลเมเรีย
แต่บทเรียนที่ผ่านมาของชีวิต ผมคิดว่าเขารู้ดีที่สุดว่าควรจะทำอย่างไร
ฝรั่งเขาว่า Third Time Lucky หรือความพยายามครั้งที่ 3 จะประสบความสำเร็จ ผมเองก็หวังว่าธีรศิลป์จะทำได้สวยในครั้งนี้เช่นกันครับ
Photo: AFP
อ้างอิง:
- www.fourfourtwo.com/th/features/kaalkhranghnuengainyuorp-khwaamcchringthiialemeriiykhngthiirsilp-aedngdaa?page=0%2C1
- en.wikipedia.org/wiki/Teerasil_Dangda
- www.foxsportsasia.com/football/asian-football/762290/teerasil-has-much-to-prove-in-japan/
- www.fourfourtwo.com/th/features/god-kirin-rwmeruueng-luek-thukeruuengraawthiikhunaacchaimruukhngthiirsilp-aedngdaa
- ซานเฟรซเซ ฮิโรชิมา เคยเป็นแชมป์เจลีกในฤดูกาล 2015 แต่ในฤดูกาล 2017 ที่ผ่านมา พวกเขาต้องดิ้นรนก่อนรอดจากการตกชั้นแบบหวุดหวิด
- มาสคอตของสโมสรคือ ‘หมี’
- ก่อนหน้าที่จะตกลงกับซานเฟรซเซ เคยมีข่าวว่า คาวาซากิ ฟรอนตาเล ทีมแชมป์เจลีกฤดูกาลล่าสุด ให้ความสนใจจะดึงตัวธีรศิลป์ไปร่วมทีม
- ในการสำรวจของ Fox Sports Asia ผู้อ่านเชื่อว่าเขาจะประสบความสำเร็จกับ ซานเฟรซเซสูงถึง 76%
- ในเมืองฮิโรชิมาจะมีต้นไม้ใหญ่อยู่ต้นหนึ่งที่ถูกเรียกขานกันว่า ‘ต้นฟีนิกซ์’ ซึ่งเคยถูกเผาไหม้เกรียมและแตกผ่ากลางจากผลของระเบิดนิวเคลียร์ ‘ลิตเติล บอย’
- ไม่แปลกที่ชาวฮิโรชิมาจะคิดว่าต้นไม้ต้นนี้ตายแล้ว เช่นเดียวกับเมืองทั้งเมืองที่ตายจากผลของสงครามที่แสนเศร้า มีการประเมินว่าจะไม่มีสิ่งมีชีวิตใหม่เติบใหญ่ในเมืองแห่งนี้ได้อีกเป็นเวลาหลายสิบปี
- แต่แค่หนึ่งปีหลังสงครามสิ้นสุด ในฤดูใบไม้ผลิถัดมา ต้นไม้ที่เหมือนตายแล้วก็กลับผลิดอกออกใบเต็มต้น และทำให้ชาวเมืองมีความหวังที่จะสร้างบ้านแปงเมืองอีกครั้ง จนฮิโรชิมากลับมาเป็นเมืองที่สวยงามในปัจจุบัน