×

แพ้บ้างก็ได้! ชีวิตที่เรียนรู้จากความล้มเหลวของ เต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

15.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • หลายคนอาจจะพอรู้ว่ายุทธนา บุญอ้อม เป็นคนชอบดูหนัง แต่มากกว่าชอบดูหนังคือการได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากหนังที่ดูด้วย แม้แต่กับเรื่องของความล้มเหลว เขาก็สามารถหยิบหนังอย่าง Scarface (1983) The Man Who Would Be King (1975) และ The Doors (1991) เพื่อสะท้อนมุมมองถึงความล้มเหลวได้ด้วยเช่นกัน
  • ยุทธนา บุญอ้อม มีความเชื่อว่าคนเราควรจะถูกปลูกฝังให้เผชิญหน้ากับความล้มเหลวอย่างไม่เคอะเขิน ไม่อายที่จะพูดถึงความล้มเหลวของตัวเอง และให้เวลากับการทำความเข้าใจถึงความล้มเหลวของตัวเองในทุกเรื่อง สำคัญที่สุด เมื่อเข้าใจว่ามนุษย์ถูกออกแบบมาให้ล้มเหลว ฉะนั้นอย่าไปคาดหวังว่าทำอะไรแล้วผลจะต้องออกมาเพอร์เฟกต์ เพราะชีวิตมันไม่มีทางเพอร์เฟกต์
  • ยุทธนาเชื่อว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนในเรื่องทางสายกลาง ความสมถะ ความพอเพียง โดยเฉพาะความไม่เที่ยงนั้น คือแก่นที่บอกว่าคนเราถูกออกแบบมาเพื่อให้ล้มเหลว เพราะโลกนี้มันไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน ดังนั้นถ้าเราเข้าใจตรงนี้ได้ เราก็ยอมรับกับทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาได้

     ถ้าเคยผ่านตาเรื่องราวประเภทบุคคลที่ประสบความสำเร็จทั้งที่เรียนไม่จบ เต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม ก็น่าจะจัดให้อยู่ร่วมทำเนียบเดียวกันกับ สตีฟ จ็อบส์, บิล เกตส์, ไทเกอร์ วูดส์, เจมส์ คาเมรอน, เลดี้ กาก้า, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก, ริชาร์ด แบรนสัน ฯลฯ (เพราะเขาถูกรีไทร์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากเรียนปี 6 ได้ครึ่งเทอม) แต่ถึงจะเรียนไม่จบ ผู้ชายคนนี้กลับเดินทางไปสู่ระดับสูงสุดของสายงานนิเทศศาสตร์มาแล้วแทบทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นงานโทรทัศน์ นักจัดรายการวิทยุ ครีเอทีฟ นิตยสาร ผู้บริหารคลื่นวิทยุและค่ายเพลง หุ้นส่วนธุรกิจโรงภาพยนตร์ และหัวแรงใหญ่ที่ปลุกปั้นมิวสิก เฟสติวัลระดับประเทศ ฯลฯ

     ถึงจะเกริ่นให้ทราบไปอย่างนั้น แต่โมงยามนี้ หลังจากผ่านชีวิตมาถึงวัย 50 ยุทธนา บุญอ้อม กลับให้ค่า ‘ความล้มเหลว’ ในชีวิตมากกว่าการ ‘ประสบความสำเร็จ’ และกำลังอยากเผยแพร่แนวคิดเรื่อง ‘คนเราถูกออกแบบมาเพื่อให้ล้มเหลว’ หลังจากที่ ‘เต็ด’ เพิ่งขึ้นพูดบนเวที YED Talks (Your Everyday Devastated) ครั้งที่ 2 ไปเมื่ออาทิตย์ก่อน (9 ก.ย.) อะไรทำให้เขาเชื่ออย่างนั้น และความล้มเหลวมีมุมที่น่าสนใจอย่างไร ลองติดตาม ‘เต็ดทอล์ก’ ต่อไปนี้

 

 

คนเราถูกออกแบบมาเพื่อให้ล้มเหลว

     ถ้าผมจะพูดอะไรสักอย่าง ตอนนี้ผมชอบพูดเรื่องความล้มเหลว เพราะผมคิดว่า ความสำเร็จมัน overrate คือเป็นเรื่องที่ถูกตีค่าสูงมากเกินไป การพูดถึงความสำเร็จมันง่ายมาก ลองนึกภาพนะ เวลาเราทำอะไรสักอย่างแล้วออกมาประสบความสำเร็จ มันพูดยังไงก็ได้ พูดอะไรก็ถูก เช่น ฟุตบอลทีมชาติไทยชนะ ได้เป็นแชมป์ ทีมพูดยังไงก็ได้ พูดยังไงก็ดูดี แต่พอทีมแพ้เนี่ย มันต้องเก็บเอามาคิดวิเคราะห์เยอะมากว่าตัวเองล้มเหลวตรงไหน ทำผิดพลาดตรงไหนบ้าง

     ผมมีความเชื่อว่าคนเราถูกออกแบบมาเพื่อให้ล้มเหลว แต่ในขณะเดียวกัน คนเรามักจะถูกปลูกฝังให้ไม่ยอมรับความล้มเหลว ความล้มเหลวเป็นเรื่องน่าอาย ความล้มเหลวเป็นเรื่องเขิน เป็นเรื่องที่ไม่อยากจะเอาไปพูดกับใคร ตอนเด็กๆ ก็ต้องสอบให้ได้ที่หนึ่งถึงจะเรียกว่าดี

     เราถูกปลูกฝังเรื่องพวกนี้มาตลอดเวลาจนทำให้ไม่ค่อยได้เผชิญหน้ากับความล้มเหลวแบบตรงไปตรงมา คือถ้ามีเวลา ผมอยากจะเผยแพร่แนวคิดนี้นะ ฉะนั้นถ้าอยากเผยแพร่ ผมต้องศึกษา เข้าใจมันอย่างถ่องแท้ ทุกวันนี้มันอาจจะใช้กับตัวเองได้ แต่เรายังไม่แน่ใจว่าจะทำยังไงให้ทุกคนเข้าใจได้ว่า… คนเราถูกออกแบบมาให้ล้มเหลวจริงๆ นะเว้ย

     ผมอาจจะผิดก็ได้นะครับ แต่ผมคิดว่าเราควรจะถูกปลูกฝังให้ทุกคนเผชิญหน้ากับความล้มเหลวอย่างไม่เคอะเขิน ไม่อายที่จะพูดถึงความล้มเหลวของตัวเอง และให้เวลากับการทำความเข้าใจถึงความล้มเหลวของตัวเองในทุกเรื่อง และสำคัญที่สุด… ต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่า ในเมื่อคนเราถูกออกแบบมาให้ล้มเหลว ฉะนั้นอย่าไปคาดหวังว่าทำอะไรแล้วผลจะต้องออกมาเพอร์เฟกต์ ชีวิตมันไม่มีทางเพอร์เฟกต์

     จะว่าไปนี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเลยนะ ผมอาจจะไม่ได้เป็นคนที่อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหรือพระธรรมคำสอนมากมายนัก แต่เท่าที่ได้รู้ ผมพบว่าแก่นง่ายๆ ที่เราจำได้อย่างเรื่องทางสายกลาง เรื่องความสมถะ ความพอเพียง โดยเฉพาะความไม่เที่ยงนี่ใช่เลย

     ความไม่เที่ยงมันคือแก่นที่บอกว่า คนเราถูกออกแบบมาเพื่อให้ล้มเหลวจริงๆ เพราะโลกนี้มันไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอนเลย ดังนั้นถ้าเราเข้าใจตรงนี้ได้ เราก็ยอมรับกับทุกเรื่องได้

     สมมติว่าเราไม่พอใจกับจมูกของเรา เรามีสิทธิ์ที่จะไปทำจมูกใหม่ให้สวย ซึ่งผมก็ว่าไม่ผิด แต่คุณก็ต้องยอมรับด้วยนะว่าทำแล้วอาจจะมีคนแซว แล้วการใช้ชีวิตบางอย่างก็อาจจะไม่เหมือนเดิม เช่น กดที่จมูกแรงๆ ไม่ได้ หรือทำออกมาแล้วไม่สวย อาจจะต้องแก้ไปเรื่อยๆ หรือถ้าไม่ทำอะไรเลย นั่นคือพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ แบบนั้นก็ได้อีก ไม่ว่าจะเลือกแบบไหน ไม่มีอะไรที่ต้องฟูมฟาย มันแค่ต้องยอมรับในทุกชอยส์ที่ตัวเองเลือก …และยอมรับในบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่มีสิทธิ์เลือกด้วย

 

คนเราเรียนรู้จากความล้มเหลวมากกว่าการประสบความสำเร็จ

     ใช่ครับ ความล้มเหลวให้บทเรียนมากกว่าความสำเร็จแน่ๆ อย่างที่บอกว่าเมื่อตอนที่เราทำอะไรสำเร็จ เราพูดอะไรก็ได้ พูดอะไรก็ดูดีไปหมด แต่เมื่อเราล้มเหลวต่างหาก เราต้องคิดเยอะมาก ดูอย่างสตีฟ จ็อบส์ ก็ได้ (อดีตประธานบริหารของ Apple) ครั้งหนึ่งเขาก็เคยโดนไล่ออกจากบริษัทตัวเอง

     ผู้พันแซนเดอร์ส (พันเอกฮาร์แลนด์ เดวิด แซนเดอร์ส ผู้ก่อตั้งร้าน Kentucky Fried Chicken หรือ KFC ในปัจจุบัน) เป็นคนที่ล้มเหลวมาครั้งแล้วครั้งเล่า จนวันหนึ่งตอนอายุ 40 ในวันที่ท้อแท้สุดๆ เขาเอา ‘ไก่ทอดเคนทักกี’ ที่ตัวเองคิดสูตรขึ้นมาไปตระเวนขาย สุดท้ายเกิดขายดีจนกลายเป็นร้าน KFC ที่แม่งประสบความสำเร็จจนโด่งดัง

     มีชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเดินทางไปสมัครงานที่บริษัทโตโยต้า แต่เขาไม่รับมันเข้าทำงาน ไอ้หมอนี่กลับไปที่บ้าน ใช้โรงรถที่บ้านประกอบมอเตอร์ไซค์เองแล้วเอาไปขาย ไอ้หมอนี่ชื่อ ‘ฮอนด้า’

     ผมเป็นคนชอบเรื่องแบบนี้ ผมจะไม่ชอบคนที่คอยบ่นกับตัวเอง บ่นกับสังคมว่าตัวเองมีความสามารถ แต่ไม่มีโอกาสเลย ความจริงคือโอกาสมันมีอยู่รอบตัวเลย เพียงแต่โอกาสมันไม่ได้มาแบบสำเร็จรูป โอกาสมันเป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่งที่คุณจะต้องหาให้เจอแล้วสร้างมันขึ้นมาเอง

 

เคยอ่านหนังสือประเภทชีวประวัติของบุคคลที่ประสบความสำเร็จบ้างไหม

     ตอนเด็กๆ ชอบอ่านมากเลย แต่ตอนนี้ตัวเองอายุ 50 แล้ว ซึ่งผมพบว่าหลายๆ อย่างในตัวเรามันเกิดขึ้นจากการที่มีชีวิตมานานพอ แล้วพอมองย้อนกลับไปทบทวนในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราเอง มันเกิดการตกตะกอนได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องความล้มเหลวต่างๆ มันให้บทเรียนกับเรามาก

 

 

ถ้าอย่างนั้นเรื่องไหนในชีวิตที่คุณคิดว่าล้มเหลวที่สุด เจ็บมากที่สุด ล้มดังมากที่สุด สร้างบทเรียนให้มากที่สุด

     (คิด) ผมว่าแต่ละช่วงชีวิตมันก็หนักในแบบของมัน อย่างเราเรียนไม่จบปริญญาตรี นั่นก็เจ็บนะ พอมาทำงาน มันก็มีทั้งงานที่ประสบความสำเร็จและงานที่เฟลมาตลอดทาง ที่เลือกไม่ได้อาจจะเป็นเพราะว่าผมไม่เคยหยุดให้ความสำคัญกับความล้มเหลว หมายถึงในมุมว่าเมื่อเจอกับความล้มเหลวแล้ว เราจะแก้ปัญหานั้นอย่างไรมากกว่าการจะนั่งฟูมฟายว่า โอ้โห ทำงานแล้วล้มแม่งล้มเหลวฉิบหาย ชีวิตมันก็เลยไม่ได้หยุดทำสถิติว่าอะไรคือเฟลสุด เพราะตราบใดที่ยังไม่หยุดทำ หยุดใช้ชีวิต มันก็ต้องเจอเรื่องเฟลอยู่แล้วทุกวันที่เราออกจากบ้าน บางทีเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อย มีอยู่ตลอดเวลา แต่เราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้

 

จริงไหมที่ว่าคุณเรียนรู้หลายอย่างในชีวิตจากการดูหนัง

     ถ้าจะบอกว่าพูดเล่นก็ได้ แต่มันก็เป็นเรื่องจริงด้วย อย่างเมื่อก่อนตอนมีเวลาเยอะๆ จะอ่านหนังสือเยอะ ส่วนใหญ่จะเรียนรู้จากการอ่าน แต่พอโตขึ้น เวลาเริ่มน้อยลง เราพบว่าการดูหนังมันเร็วกว่าอ่านหนังสือ เนื่องจากว่ามันมีเวลาชัวร์ๆ ถ้ามีเวลาชั่วโมงครึ่งก็ดูได้เรื่องหนึ่ง ถ้ามีเวลาเยอะหน่อยก็ดูซีรีส์ หรือดูหนังไปเลยหลายๆ เรื่อง

     ฉะนั้นตอนนี้ชอยส์แรกที่เลือกคือการดูหนัง พอส่วนใหญ่เราใช้เวลาพักผ่อนไปกับการดูหนัง เราก็เลยได้เรียนรู้อะไรจากการดูหนังเยอะ แล้วการดูหนังมันมีเรื่องให้เรียนรู้ตลอดเวลา บางทีเรียนรู้จากเนื้อเรื่องของมัน บางทีเรียนรู้ผู้คนจากประวัติชีวิตของเขา ถึงแม้หนังอาจจะไม่ได้สร้างตรงเป๊ะ แต่เวลาเราเรียนรู้ประวัติของผู้คน เราไม่ได้อยากรู้ว่าเขาเกิดเมื่อไร หรือเขาทำอะไรวันที่เท่าไร แต่เราอยากรู้จุดเปลี่ยนของชีวิตเขามากกว่า

     หรือเวลาเราดูหนังเก่าๆ หนังเก่าที่พูดไม่ได้หมายถึงหนังพีเรียด แต่หมายถึงหนังเก่าที่สร้างขึ้นเมื่อสมัยสัก 30-40 ปีก่อน ที่ชอบดูเพราะนั่นคือการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ ทั้งในแง่ของสภาพบ้านเมือง ทั้งวิธีคิดของคนในยุคนั้น หรือเลเวลของความรุนแรงในหนัง เช่น เมื่อ 20 ปีก่อนฉากนี้คนเคยฮือฮา ตื่นเต้นฉิบหาย บอกว่าหวาดเสียวมาก อย่างเรื่อง The Exorcist (1973) โอ้โห ยุคนั้นคนอ้วกในโรงหนัง ลองเอากลับมาดูทุกวันนี้สิ กระจอกมากเลย ดูซีรีส์ Game of Thrones ยังโหดกว่าอีก ซึ่งเรื่องพวกนี้มันสอนเราหมดเลย ผมก็เลยสนุกกับการดูหนัง

     ยิ่งเดี๋ยวนี้มีบริการสตรีมมิงอย่าง Netflix ซึ่งสำหรับผมมันสุดยอดมากเลย เพราะว่ามันมีหนังสองแนวที่เมื่อก่อนมันหาดูในเมืองไทยยาก นั่นคือหนังสารคดี ซึ่งผมชอบมาก เพราะเราได้อะไรจากมันมาแบบเนื้อๆ ไม่ค่อยมีอะไรปรุงแต่ง ซึ่งเราจะได้แรงบันดาลใจอะไรกลับมาค่อนข้างเยอะ

     อีกหมวดหนึ่งคือ Stand-Up Comedy ที่ผมชอบมาก เมื่อก่อนที่ผมจะไปที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียแทบทุกปี ไปเพื่อดูไอ้เทศกาลเหล่านี้ที่มีอยู่แทบทั้งเมือง แต่พอมี Netflix แล้วชีวิตก็ดีขึ้น

 

 

ไหนๆ ก็เป็นคนให้ค่าการเรียนรู้จากความล้มเหลว ถ้าอย่างนั้นขอรายชื่อหนังสัก 3 เรื่องที่สะท้อนการเรียนรู้ผ่านเรื่องของความล้มเหลวในชีวิตคุณหน่อย

Scarface (1983)

     ถ้าให้นึกเร็วๆ ตอนนี้ เรื่องแรกผมนึกถึงเรื่อง Scarface (1983) เป็นเวอร์ชันของผู้กำกับ ไบรอัน เดอ พัลมา แสดงนำโดย อัล ปาชิโน หนังว่าด้วยเรื่องของเติบโตในแวดวงค้ายาเสพติด พระเอกเป็นผู้ลี้ภัยที่ค่อยๆ ก่อร่างสร้างอาณาจักรของตัวเองขึ้นมาจนกลายเป็นเจ้าพ่อค้ายาเสพติดระดับประเทศ ซึ่งสุดท้ายแล้วถึงบั้นปลายชีวิตมันก็ล้มเหลว

     ความจริงแล้วถ้าเราดูหนังเรื่องนี้ เราจะพบว่าจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นที่ทำให้เขาเติบโตขึ้นในแวดวงยาเสพติดมันคือจิ๊กซอว์ชิ้นเดียวกันกับสิ่งที่จะทำให้เขาล้มเหลวกับชีวิตในที่สุด เพราะกับการที่เขาขยายอำนาจของตัวเอง การที่เขาล้มเจ้าพ่อคนโน้นคนนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน การที่เขาไปล้มเจ้าพ่อนั้นหมายความว่าเขาก็ต้องไปสร้างศัตรูขึ้นมา

     ผมว่าเรื่องนี้มันสอนเราในเรื่องว่า ของชิ้นเดียวกัน เรื่องเดียวกัน มันมองได้สองมุม โลกนี้มันมีสองด้านเสมอ ซึ่งกับเรื่องนี้เราจะพบว่าตัวเอกมันชื่นชมกับความสำเร็จของตัวเอง จนกระทั่งถึงบั้นปลาย พอมองย้อนกลับมา โอ้โห มันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราวางกับดักตัวเองไว้ทั้งนั้นเลย

     ดังนั้นในชีวิตจริงเวลาเราจะทำงานใดๆ ก็ตาม สมมติผมออกแบบผังงานเฟสติวัล เวลาเราได้สิ่งนั้นมาแล้วเราต้องเสียอะไรไปบ้างวะ คือมันไม่มีอะไรที่ทำแล้วเพอร์เฟกต์ไปหมด

     อย่างถ้าเราอยากวางห้องน้ำให้ใกล้กับเวทีใหญ่ที่สุด คนจะได้ไม่ด่า คนจะได้เดินไปเข้าห้องน้ำได้ง่ายๆ เฮ้ย แต่ถ้าน้ำซึม น้ำมันก็จะไหลเข้าหาคนดูเลยนะ แล้วคนก็จะเหม็นอยู่ตรงหน้าเวทีเลยนะ ฉะนั้นเราก็ต้องเลือก บางทีเราอาจจะต้องยอมโดนด่าเรื่องเดินไกล แต่เวลาดูคอนเสิร์ตแล้วคนไม่เหม็นว่ะ ก็ต้องชั่งน้ำหนักดู

 

The Man Who Would Be King (1975)

     เรื่องนี้เป็นหนังยุค 70s นำแสดงโดย ฌอน คอนเนอรี และไมเคิล เคน ความจริงในโลกภาพยนตร์มันเป็นพล็อตคลาสสิกที่มีให้เห็นในหนังหลายๆ เรื่อง แต่ผมได้ดูมันเป็นเรื่องแรก ก็เลยประทับใจเป็นพิเศษ

     พล็อตมันว่าด้วยเรื่องของนักผจญภัยสองคนที่เดินทางเข้าไปในป่าลึกแล้วไปพบชนเผ่าหนึ่ง ตอนแรกที่เจอสองคนนี้ก็ตั้งใจจะจับไปฆ่า ไปบูชายัญเลย แต่ปรากฏว่าไอ้ตัวพระเอกมันใส่แหวนหรือมันห้อยเหรียญอะไรสักอย่างหนึ่งติดตัวไว้ เพราะมันเป็นนักผจญภัย อาจจะไปได้จากไหนมาสักที่ แต่กลายเป็นว่ามันเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตรงตามคำทำนายของชนเผ่านี้ว่า กษัตริย์องค์ต่อไปที่มายังชนเผ่าเขาจะห้อยเจ้าสิ่งนี้มาด้วย สองคนนี้มันก็เลยรอดตาย แล้วก็อุปโลกตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์ของชนเผ่านี้

     คือพอชนเผ่าเขาเข้าใจผิดว่าเราเป็นกษัตริย์ เออว่ะ กูรอดตายแล้ว แทนที่จะหนีกลับ แต่กลับไม่หนี พอนานๆ เข้าไอ้คนนี้มันเริ่มเชื่อว่าตัวเองเป็นกษัตริย์จริงๆ จนในที่สุดแล้วกลายเป็นกู่ไม่กลับ และส่งผลให้เกิดเรื่องเลวร้ายกับชีวิตของตัวเอง

     …สิ่งเหล่านี้นี่เองที่ผมมองว่ามันเหมือนกับหลายๆ เหตุการณ์ในบ้านเรา หรือกับเรื่องราวรอบๆ ตัว คือคนบางคนเนี่ย โกหกบ่อยๆ เสียจนเชื่อว่าเรื่องที่ตัวเองโกหกนั้นเป็นเรื่องจริง…

     ซึ่งจริงๆ แล้วถ้ามองให้ดี แก่นมันก็จะคล้ายๆ กับเรื่อง Scarface และความเชื่อที่ผมบอกว่าคนเราถูกออกแบบมาให้ล้มเหลว …แต่เมื่อไรก็ตามที่เราติดกับตัวเองว่า ไม่! ฉันจะไม่ล้มเหลว มันมีแต่จะสร้างกับดักให้ตัวเองจมลึกลงไป จนสุดท้ายตัวเองก็ขึ้นมาไม่ได้ ต้องจมอยู่ใต้กับดักนั้น ฉะนั้นคนเราต้องรู้จักทบทวนตัวเองอยู่ตลอดเวลา

 

 

The Doors (1991)

     นี่ก็เช่นเดียวกัน หนังที่ว่าด้วยเรื่องของประวัตินักดนตรีหรือประวัติวงดนตรีเนี่ย ส่วนใหญ่พล็อตมันจะเหมือนกันหมด คือจะว่าด้วยการไต่เต้าจากนักดนตรีโนเนมจนกระทั่งประสบความสำเร็จ แล้วสุดท้ายพอถึงตอนจบก็จะวงแตกเหมือนกันทุกเรื่อง ฉะนั้นถ้าจะให้ยกมาสักเรื่อง ผมคงชอบหนังประวัติของวง The Doors ซึ่งโอลิเวอร์ สโตน เป็นคนกำกับ

     อย่างแรกคือเราชอบเพลงของวง The Doors อยู่ก่อนแล้ว ประกอบกับตัวตนของนักร้องนำของวงอย่างจิม มอร์ริสัน มันเป็นมนุษย์ที่มีความลึกลับ เป็นตัวอย่างของคนที่มีไลฟ์สไตล์แบบร็อกสตาร์ และเป็นตัวอย่างของคนที่ทำทุกอย่างเพื่อวางกับดักตัวเอง

     ซึ่งถ้าจะว่าด้วยเรื่องของความล้มเหลว ที่สุดแล้วมันก็จะพูดด้วยเรื่องเดียวกันคือ เกือบทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากการที่เราวางกับดักตัวเองทั้งสิ้น …มันก็เหมือนเนื้อเพลง ก้อนหินก้อนนั้น ที่พี่ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค แต่งไว้ให้โรส-ศิรินทิพย์ หาญประดิษฐ์ ร้อง เนื้อมันบอกว่า ‘ไม่มีอะไรจะทำร้ายเธอ ได้เท่ากับเธอทำตัวของเธอเอง

     คือถ้าเรากำก้อนหินนั้นไว้มันก็จะเจ็บมือ มันก็ต้องทิ้งไปเท่านั้นเอง แต่คนส่วนใหญ่นึกถึงเรื่องนี้ไม่ออก เขาก็จะกำก้อนหินนี้ไว้จนแน่นขึ้นเรื่อยๆ

     อย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ มันสอนเราว่าการที่คุณจะมีวงดนตรีสักวงหนึ่ง สมาชิกทุกคนมันต้องพบกันครึ่งทาง เพราะมันไม่มีทางหรอกที่คนเรามันจะคิดเหมือนกัน ซึ่งพอไปถึงจุดหนึ่ง คนเรามันจะต้องมีเรื่องที่ขัดแย้งกัน ฉะนั้นการที่วงจะอยู่ต่อได้ ทุกคนในวงต้องเข้าใจว่าได้แค่นี้พอแล้ว มึงไม่มีทางที่จะได้ทุกอย่างตามที่มึงต้องการ

     มึงไม่มีทางที่จะร้องเฉพาะเพลงที่ตัวเองชอบ แต่มันจะต้องมีเพลงที่มือกีตาร์ชอบด้วย บางเพลงต้องฟังมือคีย์บอร์ดด้วย คือมีจุดที่ไปเจอกันตรงกลาง เพราะวงดนตรีมันว่าด้วยเรื่องความเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ร่วมกัน มันไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง

     ฉะนั้นสามเรื่องนี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีได้ในเรื่องของความล้มเหลว

 

ล่าสุดคุณเพิ่งขึ้นไปพูดบนเวที YED Talk ซึ่งเน้นเกี่ยวกับมุมห่วยๆ แย่ๆ ในชีวิต คุณก็เลือกหัวข้อ ‘จัดคอนเสิร์ตมาตั้งไม่รู้เท่าไร ทำไมมันยังเจ๊งอยู่นั้น’ นี่ก็ส่วนหนึ่งของความล้มเหลวด้วยเหมือนกันนะ

     ใช่ครับ เราก็จะพูดในสไตล์ของ YED Talk แต่ถึงที่สุดแล้ว มันก็จะกลับไปไปสู่แนวคิดเดียวกันคือคนเราเกิดมาเพื่อล้มเหลว ความจริง YED Talk มันเป็นไอเดียของโน้ต-พงษ์สรวง คุณประสพ ที่เขาอยากจะทำอะไรในสไตล์ของเขา เพราะเขาชอบทำอะไรที่เป็นแนวเสียดสี ประชดประชัน แต่อย่างหนึ่งที่ตั้งใจไว้แต่แรกเลยคือ ผมจะพูดเปิด YED Talk คราวนี้ว่า ไอ้โน๊ต คนที่คิด YED Talk เนี่ย ล่าสุดมันได้ไปพูด TED Talk แล้ว ส่วนผมเนี่ยชื่อ ‘เต็ด’ (TED) เสือกต้องมาพูด YED Talk ทำไมชีวิตมันถึงผกผันขนาดนี้วะ (หัวเราะ)

 

FYI
  • ด้วยความชอบดูหนัง ทุกวันนี้ยุทธนา บุญอ้อม อ่านหนังสือจบได้ไม่เกินปีละเล่ม หนังสือเล่มสุดท้ายที่เขาอ่านจบภายในคืนเดียวคือ หนังสือที่รวมบทสัมภาษณ์ของ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา กับ อาจารย์ ส. ศิวรักษ์ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์) ชื่อ คนเก่าเล่าเรื่อง ของสำนักพิมพ์ openbooks  
  • เฟลอีกเรื่องในชีวิตเขาตอนนี้คือ ทุกวันนี้หัวเตียงของยุทธนา บุญอ้อม มีหนังสือวางอยู่ประมาณ 40 เล่ม ทุกเล่มล้วนอ่านคำนำจบแล้วทั้งสิ้น แต่ยังไม่ได้อ่านในเรื่องเลย
  • ยุทธนา บุญอ้อม เข้าศึกษาที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เรียนไม่จบ เพราะมีปัญหากับ ‘วิชาเอก’ บางวิชาของตัวเอง จากปี 4 ที่ควรต้องจบแบบเท่ๆ เต็ดกลายเป็นนักศึกษาปี 5 และ 6 จนจะหมดไฟและตัดสินใจออกไปลุยสนามจริง ชีวิตจริงในสายงานนิเทศที่ ‘แกรมมี่’ หลังจากเรียนปี 6 ได้ครึ่งเทอม
  • ช่วงฝึกงานปี 4 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับแกรมมี่กำลังเตรียมงาน คอนเสิร์ต แบบเบิร์ดเบิร์ด ครั้งที่ 3 ตอน จะบินไปให้ไกลสุดขอบฟ้า (2532) เต็ดมีหน้าที่คอยติดตามเล็ก-บุษบา ดาวเรือง ผู้บริหารของแกรมมี่ไปทุกที่ เพื่อคอยวิ่งซื้อน้ำ คอยจดบันทึก แต่หน้าที่ตรงนั้นเองที่เต็ดบอกว่าเป็นโอกาสระดับมหัศจรรย์ เพราะการตามเล็ก บุษบา ไปทุกที่ นั่นเท่ากับเราได้เห็นกระบวนการทำคอนเสิร์ตที่ถือว่าทันสมัยที่สุดของประเทศตั้งแต่ศูนย์จนถึงวันคอนเสิร์ตเล่นจริง
  • นอกจากต้องติดตามเล็ก บุษบา เต็ดยังได้รับมอบหมายอีกหน้าที่สำคัญคือตามประกบ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ในวันแสดงคอนเสิร์ต แบบเบิร์ดเบิร์ด ครั้งที่ 3 ซึ่งเขาอธิบายถึงหน้าที่นี้ไว้ว่า
    “คำว่าประกบพี่เบิร์ดนี่ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการไปยืนอยู่ข้างเวทีแล้วคอยถือกระบอกน้ำ ถือผ้าเช็ดหน้าไว้ คอยวิ่งเอาผ้าไปให้พี่เขาซับหน้า หรือเวลามีใครมอบดอกไม้ เราก็วิ่งไปรับดอกไม้เอามาไว้หลังเวที”
  • เต็ดเปรียบเทียบไว้ว่า ถ้าคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ มี มหา’ลัยเหมืองแร่ (นักเขียนชั้นครูผู้เขียนหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ ชื่อ ตะลุยเหมืองแร่  ต่อมาสร้างเป็นภาพยนตร์ มหา’ลัยเหมืองแร่ กำกับโดย จิระ มะลิกุล) การเป็นนักศึกษาปี 4 ที่อยู่กับการทำคอนเสิร์ต แบบเบิร์ดเบิร์ด ตลอดหนึ่งปี ก็คือมหา’ลัยแห่งการทำคอนเสิร์ต ซึ่งถือว่าเป็นอีกพื้นฐานสำคัญในแง่การเป็นนักทำโชว์บิซสำหรับเขามาจนถึงทุกวันนี้
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising