×

คอนเสิร์ตระเบิดความมัน! ไทยจัด 900 งานในปีเดียว สร้างเงินสะพัดกว่า 2 หมื่นล้านบาท

03.05.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • อุตสาหกรรม Showbiz เติบโตก้าวกระโดด 84% ในเวลา 1 ปี มีการจัดคอนเสิร์ตไทย-ต่างประเทศมากกว่า 900 งาน เป็นส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายพื้นที่ ไม่ว่าคอนเสิร์ตจะไปจัดที่ไหนก็สร้างเม็ดเงินให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม รวมถึงพ่อค้าแม่ค้า ประเมินครึ่งปีหลังยังคึกคักและเติบโตต่อเนื่อง
  • เชื่อมโยงหลังรัฐบาลพร้อมลงทุนดึงศิลปินระดับโลกมาจัดคอนเสิร์ต ฝั่ง จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ผู้จัดงานเฟสติวัลรายใหญ่ แนะจะดึงศิลปินระดับโลกเข้ามาได้ต้องมอง Infrastructure ความพร้อมของประเทศ 
  • ผู้จัดคอนเสิร์ตในไทยเจอปัญหาสถานที่จัดงาน ทั้งเอาต์ดอร์- อินดอร์ ที่สามารถรองรับคนได้มากกว่า 8,000 คนไม่เพียงพอ ผู้จัดต้องแย่งชิงกัน แถมค่าเช่ายังสูง 

 

ถึงวันนี้ศิลปินไทย-ต่างประเทศ มีการจัดคอนเสิร์ตไปแล้วมากกว่า 900 งานในเวลาเพียง 1 ปี มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะไม่ว่าคอนเสิร์ตจะไปจัดที่ไหน ก็สร้างเม็ดเงินให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมถึงเหล่าพ่อค้าแม่ค้านั้นได้เป็นกอบเป็นกำ พร้อมสร้างการเติบโตในกับผู้เล่นในอุตสาหกรรมอย่างมาก

 

อุตสาหกรรม Showbiz โตก้าวกระโดด

 

ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในปี 2023 ภาพรวมของอุตสาหกรรม Showbiz มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 7,200 ล้านบาท เติบโตก้าวกระโดดอยู่ที่ 84% ถ้าเทียบจากปี 2022 ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ 3,900 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 เซ็กเมนต์ใหญ่ๆ

 

  1. คอนเสิร์ตศิลปินไทย มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 36% เติบโต 52% 
  2. ศิลปินเอเชีย เกาหลี ญี่ปุ่น มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 46% เติบโต 160%
  3. คอนเสิร์ตอินเตอร์เนชันแนล มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 18% เติบโต 39%

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

สะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยในการเติบโตจากปี 2022 ก้าวสู่ปี 2023 เราขอแบ่งออกเป็นโลคัลและอินเตอร์ โดยตลาดโลคัลมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่กระโดดเข้ามาเล่นในเซ็กเตอร์นี้หลังอัดอั้นจากโควิดมา พอสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลายลง การจัดงานทุกอย่างก็กลับมา ผู้คนก็ออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น ทำให้ Promoter และศิลปินมีการเติบโตค่อนข้างสูง

 

ส่วนตลาดอินเตอร์เนชันแนลรวมไปถึงเอเชียเกาหลีก็มีการเติบโตสูงเช่นเดียวกัน มีบางงานที่เซ็นสัญญามาตั้งแต่ช่วงโควิด ทำให้ในปีที่ผ่านมาเราจะเห็นคอนเสิร์ตเกาหลีกระหน่ำเข้ามาจัดในไทยหลายงาน

 

 

ในเวลา 1 ปี มีคอนเสิร์ตมากกว่า 900 งาน

 

สำหรับปริมาณงานคอนเสิร์ตทั้งอินเตอร์และโลคัลทุกสเกลมีประมาณ 900 งานต่อปี ไม่นับงานที่จัดแสดงในผับบาร์ โดยเราแบ่งให้เห็นภาพชัดคือคอนเสิร์ตไทย 700 งาน และคอนเสิร์ตต่างประเทศ 200 งาน สะท้อนให้เห็นว่างานคอนเสิร์ตไทย หรือที่เราเรียกว่าโลคัลมีอิทธิพลสูงมาก ถึงแม้เราจะเห็นเม็ดเงินของคอนเสิร์ตเกาหลีในปีที่ผ่านมาเติบโตสูงมาก แต่การเติบโตที่สูงนั้นเกิดจากงานที่เลื่อนมาตั้งแต่โควิด 

 

ในเชิงของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้ามองจากจำนวนงานที่จัด 900 งานต่อปี จริงๆ ทุกคนในอุตสาหกรรมมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่แค่ผู้จัด ไม่ว่าจะเป็นฉาก ไฟ เบื้องหลังต่างๆ ถ้ารวมทุกอย่างแล้วมูลค่าสูงมาก ไม่จำเป็นต้องเป็นคอนเสิร์ตจากต่างประเทศเท่านั้นถึงจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 

 

เพราะงานโลคัลปริมาณเยอะกว่ามากๆ ถ้าเทียบกับงานอินเตอร์ที่มีปริมาณน้อยกว่า ซึ่งในความเป็นจริงงานคอนเสิร์ตอินเตอร์นั้นดึงเม็ดเงินออกนอกประเทศ แต่ก็อาจได้จากทัวริสต์ประมาณหนึ่ง 

 

 

เราอยากให้เห็นว่าภาพของเศรษฐกิจคอนเสิร์ต หัวใจสำคัญอยู่ระหว่างโลคัล ผู้จัด โลคัลอาร์ทิสต์ โลคัลออเดียนซ์ ความคึกคักต้องหมุนเวียนอยู่ที่จุดนี้ ส่วนคอนเสิร์ตอินเตอร์เป็นเพียงแค่สีสันที่มีเข้ามาเสริมเท่านั้น

 

เช่นเดียวกับ GMM SHOW ทุกครั้งที่เราไปจัดงานคอนเสิร์ต เริ่มตั้งแต่ภาคใต้ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในเวลา 1 สัปดาห์ 450 ล้านบาท ตามด้วยขอนแก่น ภาคอีสาน 250 ล้านบาท และชะอำ 150 ล้านบาท แน่นอนว่าช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจต้องเติบโตแน่นอน อุตสาหกรรม Showbiz ที่ไปสร้างเม็ดเงินให้กับโรงแรม ร้านอาหาร พ่อค้าแม่ค้า รวมๆ แล้วเงินสะพัดกว่า 2 หมื่นล้านบาท

 

จะดึงศิลปินระดับโลกเข้ามาได้ Infrastructure ต้องพร้อม

 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ยังแสดงความเห็นถึงประเด็นที่รัฐบาลตั้งใจลงทุนดึงศิลปินระดับโลกมาจัดคอนเสิร์ต มุมมองส่วนตัวของเราไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่อยากให้มองพื้นฐานความพร้อมของประเทศ หากสังเกตจะเห็นว่าประเทศที่ชวนคนเข้ามาได้ต้องเป็นเดสติเนชันที่มีความพร้อมเรื่อง Infrastructure ขณะที่ไทยมีฝนตก 8 เดือน แต่สนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดไม่มีหลังคา 

 

อย่างกรณีของ Taylor Swift คอนเสิร์ตจัดขึ้นที่สิงคโปร์ ไม่ได้เกี่ยวว่ารัฐบาลจะให้กี่บาท แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่สะดวกทั้งการเดินทางและสถานที่จัดงาน ดังนั้นถ้าเราอยากจะดึงดูดให้ศิลปินระดับโลกเข้ามาได้ Infrastructure เราต้องพร้อม 

 

สถานที่จัดงานไม่เพียงพอ ผู้จัดต้องแย่งกัน!

 

ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม Senior Executive Vice President-Showbiz – GMM SHOW บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า อีกหนึ่งปัญหาของอุตสาหกรรมอีเวนต์ คือสถานที่จัดงาน ทั้งเอาต์ดอร์และอินดอร์ พื้นที่ที่สามารถรองรับคนได้มากกว่า 8,000 คนมีอยู่แค่ไม่กี่แห่ง 

 

สิ่งที่ตามมาคือค่าเช่าสูง ผู้จัดต้องแย่งกัน ถ้าสถานที่มีเพียงพอและก็สเกลเหมาะที่จะทำธุรกิจได้ จริงๆ อีเวนต์อินดอร์น่าจะมีมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป 

 

 

ยกตัวอย่างเทศกาลดนตรี Tomorrowland สถานที่ที่จัดอยู่ในเมืองเล็กที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว เพียงแต่มีสวนสาธารณะอยู่กลางเมือง และผู้จัดเห็นว่าสวนสาธารณะเหมาะกับขนาดงาน แต่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง เพราะฉะนั้นจะจัดงานไม่ได้เลย ถ้าผู้จัดงานกับผู้บริหารของสวนสาธารณะมองเห็นไม่ตรงกัน แต่ในที่สุดก็สามารถหาวิธีที่ได้ประโยชน์​ทั้งสองฝ่าย วิธีแบบนี้เป็นการส่งเสริมกันอย่างยั่งยืน 

 

ซึ่งหลังจากเราได้ยินข่าวว่านายกฯ พยายามจะดึง Tomorrowland  เข้ามา มองว่าเป็นทิศทางที่ดีที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น สุดท้ายแล้วก็คงเป็นการสนับสนุนของรัฐบาล เรามองว่าสามารถทำร่วมกันแบบได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งประเทศ และคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมอีเวนต์

 

อีเวนต์-คอนเสิร์ตสร้างโอกาสเศรษฐกิจ

 

อุตสาหกรรมอีเวนต์เป็นของโลคัล 70% เรามองเห็นโอกาสเชิงเศรษฐกิจบ้านเราคือเรื่องของงานเมื่อมีมากขึ้น ก็ทำให้มหาวิทยาลัยพัฒนาหลักสูตรสอนเรื่องการจัดอีเวนต์ต่างๆ แต่ไม่น่าเชื่อว่าตลาดยังไม่เพียงพอ เรารู้สึกได้ว่าคนที่เราเห็นในแวดวงการทำงานยังเป็นคนเดิมๆ ซึ่งในตลาดเราต้องการคนหน้าใหม่เข้ามาช่วยกันมากกว่านี้ 

 

ยกเคสตัวอย่างที่เราไปประชุมต่างประเทศ ในช่วงโควิดอุตสาหกรรมคอนเสิร์ตหรือเฟสติวัลในอเมริกาเจอปัญหาขาดแคลนบุคลากรอย่างหนัก คนหายไป 40% พอโควิดซากลับมาเริ่มใหม่ทำให้คอร์สเพิ่มขึ้น 40% เช่นกัน ดังนั้นที่ผ่านมา GMM SHOW จึงเข้าไปสนับสนุนมหาวิทยาลัยและเด็กรุ่นใหม่ให้มาลองทำงานร่วมกับเรา เพื่อที่จะลงสนามและทำงานได้จริง 

 

 

ประเมินครึ่งปีหลังยังคึกคักและเติบโตต่อเนื่อง

 

ภาวิตกล่าวต่อไปว่า ในครึ่งปีหลังเราประเมินว่าตลาดยังมีโอกาสการเติบโตและมีความคึกคัก เพียงแต่งานมิวสิกเฟสติวัลก็จะคึกคักกว่า 

 

ขณะที่อัตราการเติบโตอาจไม่หวือหวาเหมือนกับปีที่ผ่านมา จากสถิติที่เราเก็บกันอยู่ งานที่จัด 900 งานต่อปี แปลว่าอย่างต่ำก็จัดกันราวๆ 60-70 งานต่อเดือน แน่นอนว่าเกิดการแข่งขันสูงตามมา ดังนั้นช่วงแลนด์สเคปของต้นปี 2024 จึงถือเป็นบทพิสูจน์ของตลาดที่จะมีทั้งผู้จัดที่กำไรและขาดทุน

 

เช่นเดียวกับ ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม Senior Executive Vice President-Showbiz – GMM SHOW บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด กล่าวต่อไปว่า หลังจากนี้สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะ Normal แล้ว ผู้จัดก็รู้แล้วว่าขนาดของตลาดคือแค่ไหน ช่องว่างอยู่ตรงไหน เติมอะไรเข้าไปแล้วถึงจะพอดี ไม่เกินและไม่ขาดไป

 

แต่สิ่งสำคัญที่เห็นได้ชัดในเชิง Category เปิดกว้างมากขึ้น ผู้จัดงานไม่ว่าจะเป็นมิวสิกเฟสติวัลหรืออีเวนต์ต่างๆ ได้เปิดพื้นที่ให้กับทุกสไตล์ดนตรี ทุกแนวคิด และทุกกลุ่มเป้าหมาย สามารถสร้างตลาดตนเองขึ้นมาได้ ทำให้ตลาดมีความคึกคักขึ้นมาอีกระดับ รวมถึงในส่วนของ GMM SHOW เราก็พยายามออกไปจัดงานเฟสติวัลทุกสเกล เพื่อสร้างฐานลูกค้าทั่วประเทศ

 

 

อีเวนต์ช่วงเทศกาลช่วยดึงนักท่องเที่ยว

 

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ตลาดอีเวนต์และคอนเสิร์ตคึกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยภาพรวมกลับมาปกติแล้ว แต่สิ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงคือนอกจากคอนเสิร์ตอินเตอร์เนชันแนล โดยเฉพาะ EDM จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

 

โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ไม่ได้มีแค่งานอีเวนต์แต่มีงานคอนเสิร์ตเต็มไปหมดเลย ทั้งคอนเสิร์ตใหญ่ๆ และคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นมาตอบโจทย์เฉพาะกลุ่ม 

 

ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวกลับมา ที่สำคัญนักท่องเที่ยวไม่ได้แค่มาเล่นน้ำในอีเวนต์ใดอีเวนต์หนึ่ง แต่กระจายกันไปทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นเดสติเนชันของเฟสติวัลจริงๆ แล้ว ซึ่งเราก็เชื่อว่าจากนี้จะเป็นตัวที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยในปีหน้าให้มีจุดยืนที่ชัดเจนขึ้น 

 

 

งานเฟสติวัลเป็น Soft Power ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 

 

สุดท้ายแล้วจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมาก ต้องบอกว่าตอนนี้ในหลายๆ ประเทศพยายามขับเคลื่อนแคมเปญการท่องเที่ยว เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินได้อย่างรวดเร็ว อย่างประเทศสิงคโปร์ พยายามนำอีเวนต์มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้แต่คอนเสิร์ต Taylor Swift ก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ใช้ขับเคลื่อน 

 

เช่นเดียวกับในแถบยุโรป ข้อจำกัดของเมืองหนาวคือในช่วงที่เป็นซีซันของอีเวนต์จริงๆ ก็คือปลายซัมเมอร์ จะมีการจัดงานติดต่อกันอยู่ 4-5 เดือน และสถานที่เชื่อมกันได้หมด ทำให้สามารถดึงนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี สะท้อนให้เห็นว่าอีเวนต์เป็นตัวที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจที่จะเลือกไปประเทศใดประเทศหนึ่ง 

 

ส่วนเอเชียเริ่มชัดเจนขึ้น เนื่องจากในตลาดเซกเมนต์คอนเสิร์ตหรืออีเวนต์เป็นรสนิยมส่วนตัว สิ่งที่ไทยได้เปรียบถ้าเทียบกับสิงคโปร์ คือสิงคโปร์ไม่ได้มีคอนเทนต์เป็นของตัวเอง ขณะที่ไทยมีเทศกาลสงกรานต์และมีเฟสติวัลใหญ่ ยิ่งรัฐบาลพยายามผลักดันเป็น Soft Power ก็จะเป็นตัวที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 

 

โดยเฉพาะการท่องเที่ยวโตขึ้นไปอีก ยิ่งไปกว่านั้นความสนุกของคนไทยมีหลายมิติ และช่วยดึงให้ต่างชาติอยากเข้ามา และเวลาคนมางานหนึ่งงานไม่ได้มาแค่งาน แต่มาใช้เงินด้านอื่นด้วย สร้างอานิสงส์ให้ค้าปลีก ร้านอาหาร และโรงแรม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising