×

สัมภาษณ์พิเศษ เตบาส ประธานลาลีกา ถึงบทเรียนจากสเปนสู่การยกระดับฟุตบอลไทยลีก

25.06.2025
  • LOADING...
ฮาเวียร์ เตบาส ประธานลาลีกา ให้สัมภาษณ์พิเศษเรื่องอนาคตฟุตบอลไทยลีก

ในโลกของฟุตบอล ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าสเปนคือหนึ่งในมหาอำนาจฟุตบอลที่สมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติ

 

ลาลีกาสเปนเป็นบ้านของทีมระดับตำนานอย่างเรอัล มาดริด บาร์เซโลนา และนักเตะชั้นนำระดับโลก ขณะที่ทีมชาติสเปนก็สร้างประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ด้วยการคว้าแชมป์ยูโร 2008, 2012 และ World Cup 2010 การครองแชมป์ 3 สมัยติดต่อกันนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีทีมชาติใดทำได้มาก่อน

 

แล้วเพิ่งจะคว้าแชมป์ยูโร 2024 ด้วยทีมชาติรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยดาวเด่นอย่าง เปดรี กาบี และ ยามัล แสดงให้เห็นว่าระบบการผลิตนักเตะของสเปนยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

 

เบื้องหลังความสำเร็จทั้งหมดนี้ มีชายคนหนึ่งที่ทำงานอย่างหนักเพื่อยกระดับลาลีกาให้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก นั่นคือ ฮาเวียร์ เตบาส ประธานลาลีกาผู้ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2013

 

 

จากทนายความและนักธุรกิจ เตบาสพิสูจน์ให้เห็นว่าการบริหารจัดการลีกฟุตบอลสมัยใหม่ต้องอาศัยมากกว่าแค่ความรักในกีฬา ต้องมีวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ทางธุรกิจ และการปฏิรูปที่กล้าหาญ

 

ภายใต้การนำของเขา ลาลีกาได้กลายเป็นมากกว่าแค่การแข่งขันฟุตบอล แต่เป็น ‘ผลิตภัณฑ์โลก’ ที่มีแฟนบอลติดตามกว่า 2.7 พันล้านคนทั่วโลก (ข้อมูลการถ่ายทอดสดเมื่อฤดูกาล 2017/18) มีรายได้จากสิทธิ์ถ่ายทอดสดสูงขึ้น ระบบ Financial Fair Play ที่เขาริเริ่มขึ้น กลายเป็นแบบอย่างให้ลีกอื่นๆ ทั่วโลกนำไปใช้

 

วันนี้ THE STANDARD SPORT มีโอกาสได้รับเชิญจากลาลีกา ประเทศไทย ให้เดินทางไปยังสิงคโปร์เพื่อพูดคุยกับเตบาส ในประเด็นที่แฟนบอลไทยสนใจ โดยเฉพาะการที่ไทยลีกจะสามารถเรียนรู้และประยุกต์ใช้ประสบการณ์จากลาลีกา เพื่อพัฒนาฟุตบอลไทยให้ไปถึงระดับสากลได้อย่างไร

 

ฮาเวียร์ เตบาส ประธานลาลีกา ให้สัมภาษณ์พิเศษเรื่องอนาคตฟุตบอลไทยลีก

 

นักข่าว: ขอบคุณที่ให้เวลามาสัมภาษณ์วันนี้ครับ คุณเตบาส เริ่มด้วยคำถาม ลีกอาชีพของไทยสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากลาลีกาและทีมชาติสเปน ในแง่มุมของการพัฒนาลีกที่แข็งแกร่งและการพัฒนาเยาวชนครับ?

 

เตบาส: มีสองคำถามหลักที่ต้องตอบครับ อย่างแรกคือ หากต้องการให้ทีมชาติแข็งแกร่ง ระบบการแข่งขันฟุตบอลทุกระดับต้องหนักแน่น ดุเดือด และรวดเร็วมาก

 

เราสามารถมีอะคาเดมีที่หลากหลายและมีนักฟุตบอลดีๆ ผ่านระบบนั้นมา แต่ถ้าไม่มีระบบการแข่งขันที่เข้มข้นในระดับ U15, U16, และ U17 จะเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะพัฒนานักฟุตบอลทีมชาติขึ้นมา

 

อย่างที่สองคือลีกระดับประเทศ ลีกอาชีพ ลีกสูงสุด ลีกรองลงมา ต้องมีระบบรายได้ที่แข็งแกร่งมาก มีเงินเยอะเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องยั่งยืนด้วย เพราะถ้าอยากให้การแข่งขันนี้เติบโตขึ้นแบบเป็นอาชีพ และนักเตะทีมชาติได้แข่งขันกันในระดับสูง จนเราสามารถยกระดับขึ้นไปแข่งขันในระดับภูมิภาคหรือทวีปได้ นี่คือสิ่งที่แบ่งปันได้จากประสบการณ์ของฟุตบอลสเปน

 

 

นักข่าว: ในยุคดิจิทัลนี้ ลาลีกาทำอย่างไรในการเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่?

 

เตบาส: ระบบดิจิทัลของลีกทั้งหมดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ใช่แค่ระบบ แต่วิธีการเสพสื่อดิจิทัลอีกด้วย และขึ้นอยู่กับประเทศ เพราะรูปแบบการเสพสื่อแตกต่างกัน

 

Social media ก็ใกล้กับสื่อที่วัยรุ่นเสพมาก และหัวข้อของแต่ละอันที่แฟนๆ ชื่นชอบ และในแต่ละประเทศ เรามุ่งไปสู่รูปแบบเกมที่ใช้สื่อสารกับแฟนๆ

 

แต่ทุกที่ก็มีความแตกต่างกัน เพราะในสเปนบางที วัยรุ่นเยาวชนชื่นชอบฟุตบอล แต่ไม่อินกับสื่อดิจิทัล เด็กที่อายุน้อยกว่า 14 ปี ที่อยู่ในกลุ่มสะสมสติกเกอร์และการ์ด นี่คือการสัมผัสฟุตบอลครั้งแรกของพวกเขา ทั้งที่ไม่ได้เล่นฟุตบอล แต่พวกเขารู้จักนักเตะและทีมหมดแล้ว

 

แน่นอนเราใช้สื่อออนไลน์เป็นหลัก แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ และ วิธีที่เราสื่อสารด้วย 

นักข่าว: หลังจากทำงานกับลาลีกามาเป็นเวลานาน สิ่งที่คุณภูมิใจที่สุดคืออะไร?

 

เตบาส: ผมต้องบอกว่าเป็นระบบการเงินของฟุตบอลสเปน กฎการเงินสำหรับลีกที่เขาเป็นคนเริ่มต้นขึ้นมา และเริ่มต้นใช้เป็นวงกว้างในลีกยุโรป และในเอเชียมีมาเลเซีย ลีกฟุตบอลของมาเลเซีย

 

มีปัญหาเรื่องภาษี หรือค่าเหนื่อยนักเตะที่สโมสรต้องจ่าย แต่ตอนนี้พวกเขาจ่ายกันหมด นับเป็นการปฏิวัติกฎการเงินของสโมสร FFP ของลาลีกาไม่ใช่แค่เรื่องของการแก้ไข แต่ป้องกันปัญหาในอนาคตด้วย

 

 

นักข่าว: เรื่องโควตานักเตะต่างชาติ ทำอย่างไรถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด?

 

เตบาส: สิ่งแรกคือเราต้องมีระบบลีกที่แข็งแกร่งก่อนในทุกรุ่นอายุ เพื่อให้เมื่อพวกเขาอายุ 18 ปีแล้ว พวกเขาสามารถแข่งขันได้ในระดับสูงสุดของประเทศ

 

เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วที่ต้องมีนักเตะต่างชาติในลีก เพราะพวกเขาทำให้การแข่งขันยากขึ้น แต่เมื่อคุณไม่มีระบบลีกที่ดีและแข็งแกร่งตั้งแต่เยาวชน พวกเขาก็จะโตมาแข่งขันไม่ได้

 

ดังนั้นคุณต้องดูก่อนเลยว่าโครงสร้างการแข่งขันเยาวชนเข้มข้นพอไหม และต้องดูว่าการเข้ามาของนักเตะต่างชาติสามารถแข่งขันกับความสามารถของนักเตะในประเทศหรือไม่

 

ในประเทศที่มีประชากรเยอะ มีนักเตะมาก มีระบบเยาวชนที่ดี แต่เมื่อถึงการแข่งขันถ้านักเตะของพวกเขากลับทำได้ไม่ดี แสดงว่าโครงสร้างการแข่งขันที่ไม่ดี

 

สิ่งหนึ่งคือนักเตะที่ดีในสนาม และนักเตะเหล่านั้นต้องทำสุดความสามารถในการแข่งขัน นั่นแสดงว่าลีกนั้นเป็นลีกที่แข็งแกร่งดี หลายประเทศสร้างนักเตะที่ดีมากก็จริง แต่นักเตะเหล่านั้นกลับไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อการแข่งขันที่ดีและดุเดือด

 

 

นักข่าว: ในไทยมีการพูดถึงการแยกไทยลีกออกจากสมาคมกีฬาฟุตบอล ในมุมของลาลีกา ทำงานร่วมกับสมาคมอย่างไร แยกกันแค่ไหนถึงจะดี?

 

เตบาส: ผมคิดว่าเราแยกกับสหพันธ์เลยไม่ได้ ต้องทำงานด้วยตัวเองได้ เป็นอิสระ แต่ไม่ใช่แยกการทำงานกับสมาคมฟุตบอลแบบ 100%

 

สิ่งที่สหพันธ์หรือสมาคมควรควบคุม คือ กรรมการ และบทลงโทษต่างๆ สโมสรต้องเลือกผู้บริหารลีกเอง สโมสรต้องเลือกผู้สนับสนุนเอง สโมสรต้องขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเอง และพวกเขาต้องแบ่งรายได้กับสโมสรอาชีพด้วยกันเอง

 

ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองหน่วยงานควรเป็นแค่ กรรมการ และบทลงโทษต่างๆ การลงโทษ และในพีระมิดของฟุตบอล ยอดสูงสุดคือการแข่งขันลีกอาชีพ

 

เพราะมีความแตกต่างในจุดประสงค์ของสหพันธ์และลีกฟุตบอลอาชีพ สหพันธ์มีหน้าที่คัดเลือกทีมชาติและฟุตบอลสมัครเล่น แต่สโมสรมีจุดประสงค์เพื่อการสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดจากการลงทุนในการแข่งขัน

 

ดังนั้นเป็นสิ่งที่ทำงานต่างกันมาก และต้องแยกกันในแง่ของการบริหารจัดการ ไม่ใช่แยกกันทั้งหมด แต่เป็นอิสระในเรื่องของการเงินและการแข่งขันอาชีพ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสเปนมามากกว่า 40 ปี และทั่วไปในยุโรป

 

 

นักข่าว: คำถามสุดท้าย ทำอย่างไรให้ลีกปัง คนดูเยอะ คนเชียร์มาก และสปอนเซอร์เข้าเต็มๆ ทั้งในและต่างประเทศ?

 

เตบาส: ผมอาจจะต้องรู้เกี่ยวกับลีกอาชีพในไทยมากกว่านี้ก่อน แต่สิ่งแรกคือการสร้างระบบของทุนมนุษย์ Human Capital

 

ผมเชื่อว่าไทยมีเจ้าหน้าที่ที่เป็นมืออาชีพเป็นจำนวนมาก แต่พวกเขาต้องมีทุนมนุษย์ในพื้นที่ๆ สำคัญที่อุตสาหกรรมกำลังเคลื่อนตัวไป

 

ถ้าอยากเติบโตทั้งในโลกสากลและในประเทศ สิ่งที่สำคัญมากๆ คือในลีกเล่นฟุตบอลกันอย่างไร และถ่ายทอดสดออกไปอย่างไร และสนามฟุตบอลเป็นอย่างไร

 

เพราะรูปแบบที่คุณเห็นผ่านการถ่ายทอดสด คือความสัมพันธ์ระหว่างสโมสรกับลีกการแข่งขัน คุณคิดว่าทุกอย่างทุกเกมเราถ่ายทอดสดด้วยรูปแบบเดียวกัน ซึ่งมันไม่ใช่เลย นี่คือคำแนะนำจากมุมมองของผม

 

จากการที่ได้ศึกษาและเรียนรู้จากสมาคมกีฬาฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) ทำให้เข้าใจถึงรากฐานสำคัญของการพัฒนาระบบฟุตบอลเยาวชนอย่างลึกซึ้ง รวมถึงเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า Dream 2050 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ระยะยาวในการยกระดับฟุตบอลญี่ปุ่นสู่ระดับโลก นอกจากนี้ การได้มีโอกาสพูดคุยกับ อาร์แซน เวนเกอร์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาฟุตบอลของ FIFA ที่แนะนำให้เรา ‘Find, Train and Play’ ยังช่วยให้เห็นภาพรวมของกรอบแนวคิดและหลักการทำงานในการพัฒนาฟุตบอลในแต่ละประเทศได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

 

สิ่งที่ค้นพบจากการศึกษาและพูดคุยนี้คือ แต่ละประเทศมีหลักการและวิธีการพัฒนาฟุตบอลในประเทศของตนเองที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริบทและความท้าทายเฉพาะตัวของแต่ละที่ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘One Size Fits All’ หรือหลักการเดียวที่สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาได้ทุกอย่างในทุกประเทศได้อย่างสมบูรณ์แบบ

 

แน่นอนว่าคำแนะนำของเตบาสในครั้งนี้จึงเปี่ยมไปด้วยเหตุผลและประสบการณ์อันล้ำค่าจากลีกชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติสเปน อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยจะเลือกนำหลักการและเหตุผลเหล่านี้มาปรับใช้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับจูนให้เข้ากับระบบที่เรามีอยู่ และสถานการณ์ปัจจุบันของฟุตบอลไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหมาะสมกับบริบทของประเทศเราอย่างแท้จริง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising