วิกฤตน้ำท่วม-โลกร้อน กระทบแหล่งเพาะปลูกชาในอินเดียและศรีลังกา ผู้ผลิตชารายใหญ่ของโลก ดันราคาส่งออกชาพุ่งสูงขึ้น 2 เท่า ส่งผลให้ธุรกิจอาหารในญี่ปุ่นที่พึ่งพาการนำเข้าชาจากทั้งสองประเทศต้องปรับราคาขายเพิ่มขึ้นตาม
Nikkei Asia รายงานว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อินเดียถือเป็นผู้ผลิตชารายใหญ่ที่สุดของโลก แม้ว่าชามากกว่า 70% ของอินเดียจะถูกบริโภคภายในประเทศก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าชาในอินเดียค่อนข้างมีชื่อเสียงหลายชนิด เช่น ชาอัสสัมและชาดาร์จีลิง ทั้งหมดช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมชาของอินเดียเติบโตขึ้น จนเป็นเจ้าของแบรนด์ชาระดับโลก
แต่ในปี 2024 สภาพอากาศแปรปรวน ทั้งโลกร้อนและฝนตกจนน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกชาในประเทศอินเดียและศรีลังกา ทำให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้เหมือนที่ผ่านมา และยังเจอปัญหาจากเชื้อราที่โจมตีใบชาเพิ่มเข้ามา แม้ว่าเชื้อรานี้จะถูกทำลายได้ด้วยแสงแดด แต่ก็ยากที่จะกำจัดในช่วงฤดูมรสุมของอินเดียที่เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- โลกร้อนไม่ปรานีใคร! ราคาเมล็ดกาแฟโรบัสต้าของเวียดนามพุ่ง 20% ร้านกาแฟไทยเตรียมรับมือ
- กาแฟแพงขึ้นอีกจากปรากฏการณ์เอลนีโญ กระทบผลผลิตเมล็ดกาแฟในเวียดนาม ด้านชาวสวนเริ่มหันไปปลูกทุเรียนแทน
- กาแฟก็แพง! ล่าสุดราคาตลาดโลกพุ่งทำจุดสูงสุดใหม่รอบ 10 ปี ขณะที่ผู้จัดการกองทุนลุยซื้อต่อเนื่อง
ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ยาฆ่าแมลงก็ทำได้ยากเนื่องจากข้อจำกัดของการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป ทำให้ผู้ผลิตที่ส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวต้องจำกัดการใช้ยาฆ่าแมลง ทำให้ไม่สามารถจัดการกับต้นตอของเชื้อราได้ เมื่อผลผลิตลดลง สิ่งที่ตามมาคือจากนี้ราคาชาจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว
เห็นได้จากในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ราคาประมูลชาในภูมิภาคอินเดียตอนเหนือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 260 รูปี (ราว 103 บาท) ต่อกิโลกรัม ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 30% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว
คาซูยะ ทาเคดะ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์และการตลาดของบริษัท Mitsui Norin ผู้จำหน่ายชาในญี่ปุ่น กล่าวว่า นอกจากผลผลิตที่ไม่ดีแล้ว อินเดียเหลือสต็อกชาจากปีที่แล้วเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนผลผลิตในศรีลังกา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตชาดำรายใหญ่ก็ลดลงเช่นกัน
หากย้อนไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ศรีลังกามีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทำให้นำเข้าปุ๋ยได้น้อยจนไม่สามารถปลูกชาต้นใหม่ทดแทนต้นเก่าที่ให้ผลผลิตน้อยลงได้ ทำให้การฟื้นตัวของการผลิตชาในศรีลังกาจะใช้เวลานานพอสมควร โดยจะเห็นว่าร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศตะวันตกหันไปจัดหาชาจากอินเดียตอนเหนือแทน
เมื่อมาดูราคาประมูลชาในศรีลังกาช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 1,215 รูปี (ราว 138 บาท) ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่เพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวของปีก่อน แน่นอนว่าเมื่อราคาชาดำของศรีลังกาเพิ่มขึ้น ก็ส่งผลให้ราคาชาจากอินเดียตอนเหนือแพงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากชาเหล่านี้สามารถใช้แทนกันได้ เพราะเพาะปลูกในระดับความสูงใกล้เคียงกันและยังมีคุณภาพเหมือนกัน
โดยปกติจะเริ่มกระบวนการผลิตชาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และจะเข้าสู่ช่วงการผลิตเต็มที่ในปลายเดือนมีนาคม ซึ่งจะเริ่มเก็บเกี่ยวชาชุดแรกในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม และเก็บเกี่ยวชารอบสองในเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ในช่วงนั้นจะเป็นใบชาที่มีคุณภาพสูงและเป็นที่ต้องการในตลาดอย่างมาก
ทั้งนี้ ปัจจุบันญี่ปุ่นถือเป็นผู้นำเข้าชาจากอินเดียและศรีลังกาคิดเป็นสัดส่วน 60% ตลอดจนเงินเยนที่อ่อนค่าลง ทำให้ร้านค้าและร้านอาหารบางแห่งในญี่ปุ่นตัดสินใจปรับขึ้นราคาเครื่องดื่ม 20% เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิง: