นับตั้งแต่ประเทศจีนเริ่มกลับมาเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจในยุคต้น 2000 วัฒนธรรมและค่านิยมแบบเดิมของจีนก็กลับมาเป็นที่ต้องการในตลาดของสะสมอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นศิลปะภาพวาดพู่กันจีน เครื่องลายครามโบราณ เครื่องประดับที่ทำจากหยก หรือแม้กระทั่งใบชาที่เหมือนจะเป็นของธรรมดา แต่ชาบางชนิดคือสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมบ่งบอกถึงสถานะทางสังคม เพราะในสมัยโบราณชาเป็นของขวัญในหมู่ราชวงศ์
ชามีอยู่ 7 ประเภท และมีมากกว่า 20,000 สายพันธ์ุ แต่ที่นิยมนำมาสะสมกันจะเป็นชาอู่หลง (Oolong) และชาผู่เอ๋อ (Pu’erh) พันธ์ุหายากที่ผ่านการหมักบ่มเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในประเทศที่มีชาวจีนอาศัยอยู่เพื่อเก็งกำไร ซึ่งให้ผลตอบแทนน่าสนใจทีเดียว ตัวอย่างเช่น ในมาเลเซียในปี 2004 ก่อนที่จะเกิดกระแสสะสมชาผู่เอ๋อ ชาที่บ่ม (มากกว่า 30 ปี) ชาโบราณ (มากกว่า 100 ปี) และชาหายาก มีราคาตั้งแต่ 15,600-156,000 บาท (ต่อ 357 กรัม)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ลงทุนใน ‘ของเล่น’ กำไรงาม! ผลวิจัยพบลงทุนใน ‘LEGO’ ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าทองคำ ผลงานศิลปะ และไวน์
- ของเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ทำความรู้จักของเล่นที่อาจทำกำไรได้อย่างงาม
- Pokémon พิมพ์การ์ด 9 พันล้านใบในปีที่ผ่านมา โดย ‘นักเก็งกำไร’ บางคนสามารถไปขายต่อได้เพิ่มขึ้น 350 เท่าจาก ‘การ์ดหายาก’
พอถึงในปี 2015 ชาที่ซื้อมาในราคา 15,600 บาท กลับพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 1.56 ล้านบาท ส่วนในเดือนพฤศจิกายนปี 2013 มีการประมูลใบชาหายากขึ้นเป็นครั้งแรกในฮ่องกง ชาอู่หลงนาร์ซิสซัสขนาด 20 กิโลกรัม มีมูลค่าเกือบ 4.2 ล้านบาท และชาซ่งผินห่าวผู่เอ๋อ ซึ่งเป็นหนึ่งในชาที่หายากที่สุด มีมูลค่าอยู่ที่ 8.4 ล้านบาท ต่อมาเมื่อปลายปี 2019 ชา Tong Xing Hao ผู่เอ๋อ จากช่วงทศวรรษที่ 1920 ก็ได้รับการประมูลไป 35.3 ล้านบาท
ถ้าหากเทียบจากราคาในปี 1970 ที่ 42,000 บาท นั่นหมายความว่าชาโบราณหายากมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 14.4% ขณะที่มูลค่าดัชนีหุ้นเพิ่มขึ้นในตลาดฮ่องกงและสหรัฐอยู่ที่ 10-13% ต่อปี ซึ่งราคาของชาแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับอายุ ยี่ห้อ และคุณภาพของใบชา
อย่างไรก็ดี ตลาดการประมูลใบชาก็เหมือนของสะสมอื่นๆ คือ มีอุปสงค์-อุปทานที่ไม่สม่ำเสมอ และมีการปั่นราคาจากเจ้าของบริษัทการประมูลซึ่งซื้อใบชาไว้เองเพื่อรักษาฐานราคาสูงสุดเอาไว้ อย่างในปี 2010 ก็มีการปรับฐานครั้งใหญ่ในตลาดใบชา จนกระทั่งเริ่มเข้าสู่ขาขี้นอีกครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว สถาบัน Sotheby’s ฮ่องกง เพิ่งเปิดประมูลคอลเล็กชันชาผู่เอ๋อมากกว่า 20 ล็อต ด้วยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 3.8-5 ล้านบาท
ชา Da Hong Pao ราคาประมาณ 39.5 ล้านบาทต่อกิโลกรัม
ชาที่ได้ชื่อว่าเป็นสมบัติของชาติจีน ปลูกในหุบเขา Wuyi มณฑลฝูเจี้ยน และเพราะเป็นของล้ำค่าหายาก ผู้นำคอมมิวนิสต์จีน เหมาเจ๋อตุง จึงมอบชาชนิดนี้จำนวน 200 กรัมให้กับประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน แห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งเดินทางเยือนจีนในปี 1972 เพื่อเป็นตัวแทนแห่งมิตรภาพและสันติภาพ ต่อมาในปี 2005 มีการซื้อขายชา Da Hong Pao จำนวน 20 กรัม ในราคา 987,000 บาท ทำสถิติใบชาที่มีราคาแพงที่สุดในโลก
ชา Panda Dung ราคาประมาณ 2.3 ล้านบาทต่อกิโลกรัม
ถ้าแปลอย่างตรงตัวก็คือชามูลแพนด้า ฟังแล้วอาจจะแปลกๆ แต่ชานี้มีราคาแพงถึงแก้วละ 6,500 บาทเลยทีเดียว ความพิเศษก็คือ นี่คือชาที่ใช้มูลแพนด้าเป็นปุ๋ย โดยปกติแพนด้าจะกินใบไผ่ซึ่งดูดซับสารอาหารได้เพียง 30% ส่วน 70% จะถูกขับออกมาแล้วต้นชาจะดูดซับแร่ธาตุเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง ชา Panda Dung มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เชื่อกันว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย จำหน่ายในราคาประมาณ 2.3 ล้านบาทต่อกิโลกรัม
ชา Pu’erh ราคาประมาณ 329,000 บาทต่อกิโลกรัม
ชาที่ปลูกในมณฑลยูนนาน โดยบางต้นมีอายุหลายพันปี ชาหนิดนี้เป็นชาหมักโดยกระบวนการหมักด้วยจุลินทรีย์ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยควบคุมน้ำหนัก การลดคอเลสเตอรอล และปรับสมดุลระบบขับถ่าย ผู่เอ๋อขึ้นชื่อว่าเป็นของมีค่าตั้งแต่อดีต ว่ากันว่ามันก่อให้เกิดสงครามในประวัติศาสตร์จีนหลายต่อหลายครั้ง ปัจจุบันชาผู่เอ๋อเป็นที่นิยมของนักสะสม บางชนิดที่เก็บไว้นานอาจมีราคาสูงแตะระดับหลายล้านบาทเลยทีเดียว
ชา Vintage Narcissus Wuyi ราคาประมาณ 214,0000 บาทต่อกิโลกรัม
แม้ชื่อจะดูเป็นฝรั่งเพราะตั้งตามตำนานกรีก แต่แท้จริงแล้วนี่คือชาอู่หลงที่ปลูกในเทือกเขา Wuyi มณฑลฝูเจี้ยน ให้ดอกตูมสีเหลืองทอง มีรสชาติซับซ้อน ทั้งรสช็อกโกแลตและกลิ่นไม้ พร้อมกลิ่นอันเดอร์โทนของดอกไม้และถั่ว ชาชนิดนี้มีคุณสมบัติเหมือนไวน์ คือ ยิ่งเก็บไว้นานยิ่งดี โดยจะนำมาผ่านความร้อนไล่ความชื้นและปรับปรุงรสชาติทุกๆ 2 ปี
ชา Tieguanyin ราคาประมาณ 98,000 บาทต่อกิโลกรัม
ชา Tieguanyin เป็นชาอู่หลงชนิดหนึ่งที่ได้รับการยกย่องมากว่ามีรสชาติดีติดอันดับท็อป มักปลูกในพื้นที่สูงในมณฑลฝูเจี้ยน เป็นการผสมผสานระหว่างชาดำและชาเขียวที่ผ่านการหมักเพื่อให้มีรสชาติที่โดดเด่น ซึ่งทำให้ Tieguanyin แตกต่างจากอู่หลงพันธุ์อื่นๆ ว่ากันว่าสามารถใช้ใบชาทำเครื่องดื่มได้ถึง 7 ครั้งก่อนที่รสชาติจะเริ่มหายไป
อ้างอิง:
- https://www.theedgemarkets.com/article/tea-alternative-investment-part-1?fbclid=IwAR3ZAUufjfRpbvT3XwbGPvgzvqc8DyKWzEkgaC5O93kRDpgxvNd8NFlVnik#:~:text=According%20to%20local%20tea%20experts,seller%2C%20willing%20buyer%E2%80%9D%20transactions
- https://www.prestigeonline.com/th/wine-dine/worlds-most-expensive-teas/
- https://www.teabloom.com/blog/5-most-expensive-teas-in-the-world/
- https://senchateabar.com/blogs/blog/most-expensive-tea
- https://www.cnbc.com/2010/11/11/the-1000agram-tea.html?fbclid=IwAR1bW2Gc9aO02UdhIxB0pfVF-4IW0BIjsD5eadrQ_kQI8_PtzlQ6zzKdMFw
- https://www.todayonline.com/world/vintage-chinese-teas-are-beating-stock-commodity-indices-prices-soar-hong-kong-auction?fbclid=IwAR1XmzEhaL3XUd3hN9PAqZ38kOga_LtENk4WiwUghaRglDxONa2P7GMaptE
- https://www.sothebys.com/en/press/sothebys-hong-kong-launches-its-first-tea-auction-tea-treasures-rare-vintage-and-premium-puerh-the-inaugural-tea-sale
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP