×

TDRI เตือนรัฐบาลไทย หยุดเน้นมาตรการระยะสั้น ต้องเก็บกระสุนเงินงบประมาณไว้รับมือความไม่แน่นอนในปี 2568

02.01.2025
  • LOADING...
tdri-warns-thai-government-budget-2025

นักเศรษฐศาสตร์ TDRI ชี้ เศรษฐกิจปี 2568 ‘ปีงูเล็ก’ เศรษฐกิจโลกจ่อปั่นป่วน เหตุเพราะสหรัฐฯ อาจเปิดสงครามการค้า ตั้งกำแพงภาษี ห่วงไทยโดนด้วย หวั่นสินค้าจีนทะลัก ทุบราคาหลายตลาด แนะรัฐบาลให้ใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ อย่าเน้นมาตรการระยะสั้น ควรเตรียม ‘กระสุน’ เงินงบประมาณไว้รับมือความไม่แน่นอน 

 

วันนี้ (2 มกราคม) ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2568 ว่า ปีนี้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมเข้ารับตำแหน่งเป็นครั้งที่ 2 พร้อมแนะรัฐบาลไทยให้ใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ อย่าเน้นมาตรการระยะสั้น พร้อมเตรียมกระสุนรับมือกับความไม่แน่นอน 

 

“เมื่อมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นในโลกมากมาย สิ่งรัฐบาลจะต้องมีคือ ‘กระสุน’ หรือเงินงบประมาณ เพราะหากมีวิกฤตอะไรเกิดขึ้น เช่น ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด จะต้องมีงบประมาณที่จะใช้จ่ายในการช่วยเหลือประชาชน” ดร.กิริฎา ระบุ

 

ดร.กิริฎา อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะเพ่งเล็งไปที่ประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า ซึ่งในปี 2567 ไทยเป็นประเทศในอันดับที่ 12 ที่สหรัฐฯ ขาดดุลด้วย โดยวิธีการลดขาดดุลของสหรัฐฯ มี 2 วิธี คือ การขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากประเทศไทย และอาจมีการเจรจาขอให้ไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น 

 

“สหรัฐฯ ต้องการขายสินค้าเกษตรให้กับไทยมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหมู แต่ที่ผ่านมาไทยไม่อนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ เพราะมีสารเร่งเนื้อแดงเกินมาตรฐานที่ไทยกำหนด ดังนั้นไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะถูกบีบให้เปิดการนำเข้าเนื้อหมูและสินค้าเกษตรอื่นๆ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลกับผู้เลี้ยงหมูในประเทศไทย” ดร.กิริฎา ระบุ

 

ขณะเดียวกันสินค้าจากจีนที่ถูกกำแพงภาษีสหรัฐฯ กีดกันจะทะลักเข้าไทยมากขึ้น ส่งผลกระทบกับหลายธุรกิจในประเทศอย่าง เช่น เหล็ก ปิโตรเคมี พลาสติก และสิ่งทอ แต่จะเป็นผลดีกับธุรกิจที่นำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วน หรือเครื่องจักรจากจีน ที่นำไปต่อยอดผลิตสินค้าและบริการของตนเอง

 

America First อาจนำไปสู่ความตึงเครียดช่องแคบไต้หวัน

 

ดร.กิริฎา ระบุด้วยว่า แนวนโยบายอเมริกามาก่อน (America First) อาจส่งผลให้สหรัฐฯ ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน ซึ่งสถานการณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันอาจเพิ่มมากขึ้น และส่งผลต่อค่าระวางเรือขนส่งสินค้าจากญี่ปุ่นและจีนมาไทยแพงขึ้น 

 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง บริษัทในไต้หวันหลายแห่งเริ่มกังวลต่อความเสี่ยง จึงโยกย้ายธุรกิจจากไต้หวันและจีนมาลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น 

 

โดยตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า มีบริษัทต่างชาติหลายประเทศเข้ามาขอลงทุนในไทยผ่าน BOI เนื่องจากมองว่าไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพราะวางตัวเป็นกลาง ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด เรื่องนี้จึงถือเป็นปัจจัยบวกกับเศรษฐกิจของประเทศ 

 

แต่ก็มีความเสี่ยงว่าหากบริษัทจีนย้ายโรงงานมาไทยเพื่อส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ จำนวนมาก ก็อาจทำให้ถูกสหรัฐฯ เพ่งเล็งและกีดกันการนำเข้า เนื่องจากมองว่าเป็นสินค้าของบริษัทจีนได้

 

ความเสี่ยงที่แทบจะไม่มีด้านบวกเลย

 

ดร.กิริฎา ระบุว่า แม้เหรียญจะมีสองด้าน แต่ความเสี่ยงที่แทบจะไม่มีด้านบวกเลยคือปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งท่าทีของทรัมป์สนับสนุนอิสราเอล ดังนั้นความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านจะอยู่ต่อไป โดยหากเกิดความไม่สงบขึ้นอาจจะส่งผลให้มีการปิดช่องแคบฮอร์มุซที่เป็นเส้นทางขนส่งน้ำมัน ก็จะกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลก 

 

“ปีหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะค่อนข้างผันผวน จึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะว่ามีความเสี่ยงมากและมีความไม่แน่นอนหลายอย่าง ซึ่งถ้าเราตระหนักและรับทราบปัจจัยต่างๆ ทางภูมิรัฐศาสตร์ ก็จะทำให้ไทยเตรียมตัวเพื่อรับมือได้” ดร.กิริฎา ระบุ  

 

คาด กนง. ลดดอกเบี้ย 0.25% เงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปี 68

 

ดร.กิริฎา ยังมองด้วยว่า เรื่องค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลสำคัญกับระบบเศรษฐกิจโลก โดยหากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า จะทำให้ต้นทุนการผลิตของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ลดลงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจลดดอกเบี้ยนโยบายเพียง 2 ครั้ง หรือ 0.5% จากเดิมที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่าตลอดทั้งปีจะลดถึง 4 ครั้ง หรือ 1%

 

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะลดลง 0.25% ในปีนี้ ส่วนค่าเงินบาทนั้นประมาณการว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ และจะผันผวนระหว่างปี ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงของไทย เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกและนำเข้ามาก 

ภาพ: J Studios / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X