เมื่อพูดถึงธุรกิจที่ผสานแนวคิด Sustainability เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของการเติบโตอย่างยั่งยืนที่เด่นชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถ้าไม่เอ่ยถึงกลุ่มธุรกิจ TCP คงไม่ได้ นอกจากจะเป็นที่รู้จักจากผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่อยู่คู่คนไทยมาเป็นเวลานาน เช่น กระทิงแดง สปอนเซอร์ แมนซั่ม และอื่นๆ อีกมากมาย กลุ่มธุรกิจ TCP ยังได้ริเริ่ม TCP Spirit โครงการอาสาสมัครแนวใหม่ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญสู่สังคมไทย ทั้งในแง่ของการนำธุรกิจเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสังคม การเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่ที่ฝันอยากเห็นโลกที่น่าอยู่และดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของ TCP Spirit ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า คนหนุ่มสาวหรือคนรุ่นใหม่มีพลังและจิตวิญญาณของการลุกขึ้นมาสร้างสรรค์สังคมอย่างล้นเหลือ
สำหรับครั้งล่าสุด ในปี 2565 TCP Spirit ชวนเหล่าอาสาสมัครมาร่วมขับเคลื่อนชุมชนและสังคมผ่านกิจกรรมครั้งใหม่ ภายใต้ชื่อ TCP Spirit คณะเศษสร้าง ‘แลเมืองแร่นอง ชวนมาลองจัดการขยะ’ เรียนรู้เรื่องปัญหาขยะแบบเจาะลึก รวมถึงการจัดการขยะแบบครบวงจร เพื่อส่งเสริมให้เกิด Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการลงพื้นที่ไปเรียนรู้และลงมือทำจริง ณ ชุมชนบ้านหาดทรายดำ จังหวัดระนอง
TCP Spirit เริ่มต้นเมื่อปี 2561 จากความสนใจเรื่อง ‘ต้นไม้’ สู่การจัดการ ‘น้ำ’ ก่อนจะมาสู่เรื่องการบริหารจัดการ ‘ขยะ’ ให้หมุนเวียนกลับเปลี่ยนเป็นรายได้ ซึ่งนับเป็นการขยับขยายพรมแดนด้าน Sustainability ให้ครอบคลุมทุกมิติมากขึ้น
การเปลี่ยนโฟกัสมาเน้นที่การแก้ปัญหาเรื่องขยะ นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ ยังนับเป็นการเสริมความแข็งแกร่งด้านกลยุทธ์ของธุรกิจมากยิ่งขึ้น เพราะปี 2565 กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ประกาศเป้าหมาย ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม (Caring) ส่งเสริมให้เกิด Circular Economy ผ่านแนวคิดการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์หลังบริโภคกลับมาหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
บรรจุภัณฑ์หลังบริโภค ถ้าไม่ได้รับการจัดการที่ดีจะกลายเป็นขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันประเทศไทยสร้างขยะกว่า 27 ล้านตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับตึกใบหยก 140 ตึก ทั้งยังปล่อยขยะลงทะเลมากถึง 322,000 ตันต่อปี สร้างผลกระทบมากมายสู่ชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง
สำหรับกิจกรรมของ TCP Spirit ในปี 2565 ครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ไปยังบ้านหาดทรายดำ จังหวัดระนอง ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ซึ่งเดิมทางกลุ่ม IUCN ได้ลงพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกับชุมชนในพื้นที่ตำบลหงาว และตำบลบางนอน จังหวัดระนองอยู่แล้ว ด้วยลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่ระนองที่มีชายฝั่งทะเลติดกับทะเลอันดามัน คนในจังหวัดระนองประมาณเกือบ 1 ใน 3 จึงประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เรียกได้ว่ารายได้จากการประมงมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของคนที่นี่
ชุมชนบ้านหาดทรายดำตั้งอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง ซึ่งเป็นชายหาดเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่มีหาดทรายสีดำที่เกิดจากเศษตะกอนของต้นไม้และทรัพยากรทางธรรมชาติ มีป่าชายเลนที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ขยะในทะเลที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นจากการจัดการขยะที่ไม่เหมาะสมได้ส่งผลกระทบไปสู่ระบบนิเวศ สัตว์น้ำในทะเลลดลงจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ผลผลิตจากสัตว์น้ำน้อยลง กระทบต่ออาชีพและรายได้ของคนในชุมชนบ้านหาดทรายดำ ซึ่งการที่สัตว์น้ำกินไมโครพลาสติกเข้าไปยังส่งผลร้ายมาสู่ผู้บริโภคอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคจากพื้นที่ชุมชนที่เข้าถึงยาก ต้องใช้เรือเท่านั้น ทำให้การเก็บขยะจากหน่วยงานรัฐเข้าไม่ถึง และมีค่าใช้จ่าย แถมยังขาดเตาเผาขยะที่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการจัดการขยะทั้งหมด
การลงพื้นที่สู่บ้านหาดทรายดำครั้งนี้ได้นำอาสาสมัครคนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือก และบรรดาวิทยากรที่มาแบ่งปันความรู้ด้านการจัดการขยะที่ถูกต้อง รวมถึงชาวบ้านในชุมชนที่ฝันอยากเปลี่ยนพื้นที่ที่พวกเขาอยู่ให้ดีกว่าเดิม
โดยเป้าหมายคือการมาสำรวจ ทำความเข้าใจปัญหาขยะในพื้นที่จากประสบการณ์จริง เรียนรู้ถึงการจัดการขยะที่ถูกต้อง และลงมือแก้ปัญหาร่วมกับชาวบ้านในชุมชน นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ยังมองว่าองค์ความรู้ที่ได้รับจากการมาเรียนรู้ในครั้งนี้จะก่อให้เกิดโมเดลในการจัดการขยะ ที่สามารถส่งต่อและนำไปต่อยอดใช้ในอนาคต
กิจกรรมเริ่มตั้งแต่วันที่ 27-29 ตุลาคม 2565 โดยตลอด 3 วัน 2 คืน อาสาสมัคร TCP Spirit หรือนักศึกษาคณะเศษสร้างได้เรียนวิชาต่างๆ มากมาย ได้แก่
วิชารู้จักเขาเข้าใจเรา: เริ่มเรียนรู้ปัญหาขยะในพื้นที่จากโกบูลย์ ผู้นำชุมชนตัวจริง เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง
วิชาลงทุนลงแรง: แลกเปลี่ยนพูดคุยกับชาวบ้านแบบคลุกวงใน พร้อมลงทุนลงแรงอาสาเก็บขยะในพื้นที่จริง
วิชาเศษสร้าง 101: ต่อด้วยบทเรียนพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจวิธีการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง
วิชาเปลี่ยนเศรษฐกิจให้เป็นวงกลม: ล้อมวงฟังครูใหญ่เล่าเรื่องห่วงโซ่อุปทานและการเพิ่มมูลค่าขยะ
วิชาปันผลความรู้และความรัก: ส่งต่อความรู้ผ่านกิจกรรมสนุกๆ ทั้งเล่นเกม และสร้างถังขยะรีไซเคิลเพื่อใช้งานจริง
ระหว่างการลงพื้นที่ลัดเลาะสำรวจขยะตามเส้นทางธรรมชาติ เพื่อต่อยอดประสบการณ์มาเป็นองค์ความรู้ หนึ่งในอาสาสมัคร TCP Spirit ได้เผยถึงความประทับใจที่ได้รับจากการร่วมลงแรงในครั้งนี้ไว้ว่า
“การลงมือเก็บขยะในพื้นที่หาดทรายดำทำให้เห็นว่า ‘ยิ่งหยิบ ยิ่งขุด ยิ่งเห็น’ เข้าใจเลยว่าขยะส่งผลให้เกิดปัญหาในหลากหลายมิติ แต่อย่างไรก็ตามอยากให้ทุกๆ คนลงมือจัดการขยะรอบตัวเราตั้งแต่วันนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก เริ่มแก้ปัญหาจากต้นทาง”
การเริ่มต้นลงมือเก็บขยะจากเหล่าอาสาสมัคร TCP Spirit ท่ามกลางขยะในท้องทะเลเป็นจำนวนหลายแสนตัน คงไม่ได้ทำให้ปัญหาขยะในท้องทะเลหมดไปในทันที แต่แรงบันดาลใจจากการได้ลงมือทำ ตลอดจนองค์ความรู้ในการจัดการขยะ เพื่อนำไปใช้อย่างถูกวิธี จะถูกนำไปต่อยอดและส่งต่อให้คนอีกมากมาย จากหลักร้อยไปสู่หลักล้าน เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นและน่าอยู่ยิ่งกว่าเดิม
อ้างอิง:
เกี่ยวกับ TCP Spirit
TCP Spirit คือโครงการอาสาสมัครแนวใหม่ที่รวมพลังคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดกิจกรรมต่อเนื่องทุกๆ ปี ยกเว้นปี 2564 ที่สถานการณ์โควิด-19 ไม่เอื้ออำนวย
ย้อนไปในปี 2561 ปีแห่งการริเริ่มกิจกรรม TCP Spirit ‘หมอต้นไม้’ ที่พาอาสาสมัครยกทัพไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์สีเขียวของเมืองเชียงใหม่ และสวนลุมพินีที่ผ่านกาลเวลามายาวนานกว่าร้อยปี
ปี 2562 เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำ กับกิจกรรม ‘คณะพยาบาลลุ่มน้ำศาสตร์’ ที่พาอาสาสมัครมาเรียนรู้การจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำที่จังหวัดน่าน ต่อด้วยเรียนรู้การจัดการน้ำและการจัดการที่ดินที่ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
ปี 2563 คือการต่อยอดการเรียนรู้บริหารจัดการน้ำแบบล้านนา กับกิจกรรม ‘คณะพยาบาลลุ่มน้ำศาสตร์ปี 2’ ภายใต้คอนเซปต์ ชวนก๊วนไปแอ่วกว๊าน ที่จัดขึ้นที่จังหวัดพะเยา
ปี 2565 คือการขยายพรมแดน Sustainability มาสู่เรื่องการจัดการขยะแบบเจาะลึก ครบวงจร บนแนวคิด Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน กับกิจกรรม ‘แลเมืองแร่นอง ชวนมาลองจัดการขยะ’ ลงพื้นที่เรียนรู้และลงมือทำจริง ณ ชุมชนบ้านหาดทรายดำ จังหวัดระนอง