สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมอัปเกรดมาตรฐานความปลอดภัยด้านไซเบอร์ตามเกณฑ์ใหม่แบงก์ชาติ มั่นใจระบบยืนยันตัวตนแบบ Biometrics พร้อมใช้งานตามไทม์ไลน์ เล็งพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทุจริตในภาคธนาคารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชี ธุรกรรมต้องสงสัย และบัญชีม้า
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงินทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกันในการดูแลการทำธุรกรรมทางการเงินตลอดเส้นทาง ทั้งการป้องกัน การตรวจจับ และการตอบสนองและรับมือ ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาให้ประชาชนทำได้รวดเร็วและครอบคลุมมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ดีเดย์ มิ.ย. นี้ ผู้ใช้งาน Mobile Banking ต้องสแกนใบหน้ายืนยันตัวตน กรณีโอนเงินมากกว่า 50,000 บาทต่อรายการ
- ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Banking) โอกาสหรือความเสี่ยงสำหรับนักลงทุน
- Banking for Net Zero: ธนาคารกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจไร้คาร์บอน
สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแล ให้ความสำคัญและไม่นิ่งนอนใจกับปัญหาภัยทางการเงินที่ประชาชนถูกหลอกลวง จึงได้ยกระดับให้เรื่องนี้เป็นความเสี่ยงสำคัญที่ทุกสถาบันการเงินจะต้องดูแลและบริหารจัดการอย่างจริงจัง โดย ธปท. ได้ออกชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เพื่อช่วยให้ระบบการเงินมีความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการทางการเงิน และเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ธปท. ได้เชิญผู้บริหารของสถาบันการเงินเข้าร่วมประชุมหารือและกำชับให้สถาบันการเงินทุกแห่งเร่งดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว และเตรียมความพร้อมรองรับการดำเนินงานตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันการเงินทุกแห่ง
ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงผลกระทบของภัยคุกคามทางการเงินที่ทวีความรุนแรง พร้อมยกระดับความปลอดภัยของภาคธนาคาร เพื่อรับมือและจัดการภัยทางการเงินออนไลน์ ตามแนวทางการจัดการภัยทุจริตทางการเงินที่ได้มีการหารือร่วมกับทาง ธปท. ให้ดียิ่งขึ้น ได้แก่
1. การป้องกัน ภาคธนาคารได้ร่วมมือกันงดการส่งข้อความ SMS ที่แนบลิงก์ในการติดต่อกับลูกค้าในระยะนี้ และเร่งพัฒนาระบบป้องกันการทำธุรกรรมทุจริตอย่างต่อเนื่อง
2. การตรวจจับ ธนาคารสมาชิกอยู่ระหว่างนำเทคโนโลยีมาช่วยตรวจจับธุรกรรมต้องสงสัยให้ได้โดยเร็ว โดยร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทุจริตในภาคธนาคาร (Central Fraud Registry) เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชี ธุรกรรมต้องสงสัย และบัญชีม้า ระหว่างธนาคารเพื่อดำเนินการติดตามป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
3. การตอบสนองและรับมือ ได้จัดให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (Hotline) 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน ลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่อสามารถแจ้งเหตุได้โดยตรง ปัจจุบันมีธนาคารสมาชิกหลายแห่งเริ่มดำเนินการแล้ว
สำหรับมาตรการอื่นที่ระบบมีความซับซ้อนต้องใช้เวลาพัฒนา สมาคมฯ และธนาคารสมาชิก จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จทันตามกรอบเวลา นอกจากนี้ยังพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ให้บริการ E-Wallet ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาทุจริตภัยการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั้งระบบนิเวศแบบ End to End ที่มิจฉาชีพชอบใช้หลอกลวง
“ความปลอดภัยและความมั่นใจเป็นหัวใจของธุรกิจธนาคาร การลงทุนเพื่อพัฒนาเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับธนาคาร แม้จะต้องใช้เม็ดเงินเพิ่มขึ้นแต่ก็คุ้มค่ากับความเสียหายที่ลดลง ปัจจุบันทุกธนาคารได้เร่งลงทุนเรื่องนี้อยู่เพื่อให้ทันตามกรอบเวลาของ ธปท.” ผยงกล่าว
เข้มแนวทางปกป้องลูกค้ารายย่อย
ฉัตรชัย ศิริไล ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของสถาบันการเงินของรัฐส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายย่อย ซึ่งมีความเสี่ยงถูกหลอกลวง การดูแลความปลอดภัยในการใช้บริการทางการเงินให้กับลูกค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ สมาคมฯ และสถาบันการเงินสมาชิกพร้อมให้ความร่วมมือกับ ธปท. และสมาคมธนาคารไทยในการจัดการเรื่องดังกล่าว
ที่ผ่านมาสถาบันการเงินสมาชิกหลายแห่งได้มีแนวทางการป้องกันภัยทุจริตทางการเงินต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะการออกประกาศเตือนการไม่ส่งลิงก์ต่างๆ ให้กับลูกค้าและประชาชน และการเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงิน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงแล้ว ยังสามารถนำข้อมูลที่ได้รับจากการร้องเรียนมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางและพัฒนาระบบการป้องกันภัยทุจริตทางการเงินที่จะเกิดในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในครั้งนี้ สมาคมฯ และสถาบันการเงินสมาชิกจะร่วมมือเร่งยกระดับการดำเนินการตามมาตรการของ ธปท. ให้ได้ตามกำหนดเวลา เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเท่าทัน เพราะภัยทุจริตมีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงเร็ว ขณะเดียวกันยังคงเดินหน้าให้ความรู้ความเข้าใจ และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชน ให้รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ และยังพร้อมร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ ธปท. สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ มุ่งหวังว่ามาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการร่วมกัน ทั้งที่มีผลแล้วและที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จะช่วยยกระดับการจัดการภัยทางการเงินของสถาบันการเงินได้อย่างเท่าทัน มีประสิทธิภาพ และครบวงจร เพื่อป้องกันความเสียหายและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน นอกจากนี้ ภาคธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐยังอยู่ระหว่างการเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ครอบคลุมขึ้น ซึ่งจะต้องอาศัยบทบาทของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างบูรณาการ