เปิดเคล็ดคำถามด้านการลงทุนที่ ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ นักร้องชื่อดังใช้ในการตรวจสอบ FTX เพื่อป้องกันการโดนหลอกเมื่อครั้งที่ถูกทาบทามให้เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของบริษัท ที่นักลงทุนรายย่อยสามารถนำไปปรับใช้ได้
เมื่อปีที่แล้วต่อเนื่องจนถึงปีนี้เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความอื้อฉาวในโลกธุรกิจและการลงทุน โดยเคสอันโด่งดังก็หนีไม่พ้นการล่มสลายของ FTX ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยเคสของ FTX นั้น นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนจำนวนมากแล้ว ยังพัวพันกับผู้คนหลากหลายวงการ รวมถึงวงการเพลงที่เอี่ยวไปถึงนักร้องชื่อดังอย่าง เทย์เลอร์ สวิฟต์
อย่างไรก็ตาม ในเคสอื้อฉาวอย่าง FTX นั้น เทย์เลอร์ สวิฟต์ สามารถรอดพ้นจากการถูกหลอกลวงให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องได้ด้วยการ ‘ตั้งคำถาม’ ด้านการลงทุน จนนำมาสู่การปฏิเสธดีลการเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท ให้กับ FTX และทำให้นักร้องชื่อดังรอดพ้นจากการโดนฟ้องแบบที่คนดังอื่นๆ หลายคนโดน
โดยในดีลที่ FTX ทาบทามไปยังเทเลอร์นั้น ครอบคลุมถึงการให้เธอขายบัตรคอนเสิร์ตในรูป NFT (Non-Fungible Token) ซึ่งเธอและทีมงานได้ถามกับตัวแทนของ FTX ณ ขณะตัดสินใจในดีลดังกล่าวไปว่า สิ่งเหล่านี้ (NFT) เป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ได้รับการลงทะเบียนหรือไม่
ดูเหมือนว่า เทเลอร์จะเป็นคนดังเพียงไม่กี่คนที่ตั้งคำถามดังกล่าวต่อแพลตฟอร์มในระหว่างที่ตกลงดีลระหว่างกัน เรียกได้ว่าเป็นการระแวดระวังในข้อมูลที่ขาดความชัดเจนที่เป็นประโยชน์กับตัวเธอเป็นอย่างมาก
สอดคล้องกับที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) ได้แนะนำนักลงทุนรายย่อยว่าควรสร้างนิสัยระมัดระวังก่อนการลงทุน โดยคำถามแรกที่นักลงทุนควรใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการหลอกลวง นั่นคือ
- สินทรัพย์หรือการลงทุนนั้นๆ กล่าวถึงแต่ผลตอบแทนที่จะทำได้ในระดับสูง โดยอ้างว่าไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ เพราะว่าในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีสินทรัพย์ใดที่จะสามารถให้ผลตอบแทนได้โดยไม่มีความเสี่ยง
- สินทรัพย์เหล่านั้นได้รับการลงทะเบียนหรือจดทะเบียนหรือไม่ เนื่องจากว่าในปัจจุบันมีสินทรัพย์จำนวนมากที่ถูกนำมาขาย โดยที่ไม่ได้รับการลงทะเบียน แม้สินทรัพย์ดังกล่าวอาจมีชื่อเสียงก็ตาม ซึ่งการตรวจสอบสามารถทำได้ผ่านเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ได้
- มีเอกสารประกอบที่น่าเชื่อถือหรือไม่ ทั้งนี้ หากมีผู้ขายผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนมาเสนอการลงทุนใดๆ ก็ตาม แต่ไม่มีข้อมูลหรือเอกสารพื้นฐานเกี่ยวข้องกับการลงทุนนั้นๆ ผู้ลงทุนก็ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าว หรือหากมีเอกสารด้านการลงทุนแต่เต็มไปด้วยการสะกดคำที่ผิดหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ก็ขอให้ระมัดระวังเอาไว้ เพราะนั่นอาจส่อถึงความเป็นเอกสารปลอม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- การอัปเกรด The Merge ของ Ethereum และทิศทางในอนาคตของเหรียญ ETH
- สรุปการล่มสลายของ FTX ที่อาจจุดชนวนวิกฤตในตลาดคริปโต
- ไมเคิล เบอร์รี เตือนการล่มสลายครั้งประวัติศาสตร์กำลังจะเกิดขึ้น โดยมีต้นตอจากตลาดคริปโต
อ้างอิง: