วันนี้ (27 ธันวาคม) ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งการมีมาตรการนี้ จะสามารถช่วยดังนี้
- เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษาจะได้รับบริจาคจากภาคเอกชนตามมาตรการภาษีดังกล่าวปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท
- เป็นการช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณของรัฐในด้านการศึกษาของประเทศได้อีกทางหนึ่ง
- สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
สำหรับร่าง พ.ร.ฎ. ฉบับนี้จะทำให้บุคคลธรรมดาสามารถนำเงินมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่จะไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่าย และหักค่าลดหย่อนอื่นๆ ส่วนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำเงินหรือทรัพย์สินมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค แต่จะไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา
ทั้งนี้ ช่องทางบริจาคจะต้องเป็นระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
ส่วนสถานศึกษา 5 ประเภทที่จะบริจาคเพื่อการลดหย่อน มีดังนี้
- สถานศึกษาของรัฐ
- โรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบ
- สถาบันอุดมศึกษาเอกชน
- สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ เช่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)
- สถาบันอุดมศึกษาซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษา โดยสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ (คพอต.) อนุมัติโดยความเห็นชอบของ ครม. เช่น มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล และมหาวิทยาลัยอมตะ
ทั้งนี้ บริจาคได้ทั้ง 5 ประเภท โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ
สำหรับร่าง พ.ร.ฎ. ฉบับนี้ จะเป็นการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษาตาม พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 713) พ.ศ. 2563 และเพิ่มเติมประเภทของสถานศึกษาให้ครบถ้วน และไม่เกิดความซ้ำซ้อนทางกฎหมาย และให้ยกเลิก พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547 และ (ฉบับที่ 655) พ.ศ. 2561
ทิพานันกล่าวด้วยว่า รัฐบาลมุ่งมั่นออกกฎหมายเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุนการศึกษาของประเทศอย่างต่อเนื่อง ประโยชน์ทางตรงคือจะทำให้สถานศึกษาสามารถนำเงินส่วนนี้มาพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเด็กและเยาวชนไทยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมมากขึ้น ส่วนประโยชน์ทางอ้อมคือเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมให้ประชาชนทั่วประเทศ