วันนี้ (12 ธันวาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีการออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ซึ่งผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายเงื่อนไขนี้หรือไม่ ว่า เป็นไปตามกฎหมายกรมราชทัณฑ์
เมื่อถามว่า ระเบียบดังกล่าวกำหนดกรอบกว้างและให้อำนาจอธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นผู้ชี้ขาด พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการราชทัณฑ์ได้ประชุมไว้หลายเดือนแล้ว โดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรมคอยกำกับดูแล ซึ่งเป็นการออกตามกฎหมายราชทัณฑ์
พ.ต.อ. ทวี กล่าวอีกว่า เนื่องจากในปีที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ได้คะแนนประเมินด้านหลักนิติธรรม 0.25 คะแนน จาก 1 คะแนน ซึ่งถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกรมราชทัณฑ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้ทำหนังสือมาถึงรัฐบาลชุดก่อน โดยการพิจารณาทั้งหมดจะไม่เอาตัวบุคคลมาเกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ นักโทษที่อยู่ในเรือนจำขณะนี้มีทั้งนักโทษระหว่างการพิจารณาคดี และนักโทษเด็ดขาด ซึ่งในกฎหมายกรมราชทัณฑ์ที่ออกมาเมื่อปี 2560 ได้กำหนดให้ผู้ต้องขังมีสถานที่ควบคุมภายนอกเรือนจำ เป็นการติดคุกเหมือนเดิม แต่ในการพิจารณาอนุญาตเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการราชทัณฑ์ ซึ่งจะมีตัวแทนจากศาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม กฎหมายกรมราชทัณฑ์จะต้องมีกฎหมายลูกมารองรับอีก 12 ฉบับ ซึ่งการออกกฎหมายลูกต้องไม่ส่อไปในทางละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น แต่ระเบียบต่างๆ ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย
ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ทักษิณเข้าเงื่อนไขของระเบียบฉบับดังกล่าวหรือไม่ พ.ต.อ. ทวี ไม่ตอบคำถามและเดินออกจากวงสัมภาษณ์ในทันที
คปท. ย้อนถามรัฐบาล ออกกฎเพื่อทักษิณหรือไม่
ที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดย พิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท. พร้อมมวลชน และรถติดเครื่องขยายเสียง ปราศรัยเรียกร้องให้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการให้นำ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนักโทษชาย กลับไปควบคุมตัวที่เรือนจำ หลังจากรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจมาเป็นเวลานาน
โดยพิชัยกล่าวว่า เรามาวันนี้เพื่อถามรัฐบาล เพราะ 120 วันที่รัฐบาลจะลอยตัวให้ทักษิณไปอยู่ที่โรงพยาบาล ไม่ได้อยู่ในเรือนจำ จนวันนี้ทำให้เห็นว่าระเบียบใหญ่กว่าคำพิพากษา อีกทั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ซึ่งวัด มัสยิด โรงแรม โรงพยาบาล บ้านพักอาศัย สามารถเป็นที่ควบคุมผู้ต้องขังได้
“วันนี้เรามาถามว่าการออกระเบียบนี้เพื่อเอื้อนักโทษทักษิณใช่หรือไม่ และสรุปแล้วระบบยุติธรรมไทยเอาความถูกต้องไปรับใช้นักโทษเพียงคนเดียวหรือ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม วันนี้ถ้าครอบครัวของทักษิณยื่นย้ายทักษิณให้บ้านจันทร์ส่องหล้าเป็นที่ควบคุมผู้ต้องขังได้ เชื่อว่าบ้านเมืองวิกฤตแน่ และจะเป็นตราบาปของรัฐบาลนี้ ตราบาปของครอบครัวตัวเอง” พิชัยกล่าว
พิชัยกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของทักษิณ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาระบุว่าทักษิณอยู่ในช่วงระยะพักฟื้น นั่นเท่ากับว่าสามารถย้ายกลับมารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ได้แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีการย้ายกลับมาแต่อย่างใด เรื่องนี้คนที่ต้องรับผิดชอบคงหนีไม่พ้นนายกฯ กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์
เตือนอย่าสร้างรอยแผลความขัดแย้ง
พิชัยกล่าวอีกว่า พรุ่งนี้ (13 ธันวาคม) คปท. จะเดินทางไปยังโรงพยาบาลตำรวจ โดยจะไปถามความเห็นนายแพทย์ใหญ่เกี่ยวกับแผนการรักษาของทักษิณ ถ้ายังไม่เสนอว่าจะดำเนินการอย่างไรด้วยจรรยาบรรณของแพทย์ ขณะที่วันที่ 14 ธันวาคมจะไปถามเรื่องนี้กับรักษาการอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และวันที่ 15 ธันวาคมจะเดินทางไปหา พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ถ้าจะคอร์รัปชันแม้แต่เวลาติดคุก คนแบบนี้ยังมีหน้าที่จะอยู่ภายใต้กฎหมายได้ด้วยหรือไม่
“แพทองธารในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะมันจะเป็นบาดแผลในอนาคต และหลังจากนี้ คปท. จะเดินตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น และพร้อมที่จะร่วมกับเครือข่ายอื่นเดินหน้าไล่รัฐบาลเศรษฐา หากยังขยายแผลความขัดแย้งและเงื่อนไขทางด้านความยุติธรรม และกฎหมายที่จะนำไปสู่ความแตกแยกใหญ่ทางสังคมในอนาคต อย่ามาว่าสังคมไม่ปรองดอง เพราะเป็นผู้สร้างเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยกเอง เมื่อถึงเวลาเราต้องออกมาสู้ เพราะหากไม่ยืนหยัดก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม” พิชัยกล่าว
นายกฯ ไม่ทราบปรับเกณฑ์นอนนอกคุก
ขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องเลย และเป็นหน้าที่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และไม่เกี่ยวกับตน