วันนี้ (3 ธันวาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการพักโทษ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คดีจำนำข้าวในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในส่วนอื่นรวมถึงข้าราชการมีการพักโทษด้วยหรือไม่ โดยระบุว่า ถ้าใครครบเกณฑ์ก็น่าจะมีรายละเอียด บอกให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์รวบรวมประเด็นและชี้แจงไปแล้ว ซึ่งแนวทางการปฏิบัติก็เหมือนเดิม พูดไปเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง
ในส่วนของการพักโทษ กรมราชทัณฑ์ก็ปฏิบัติตามกฎหมายการพักโทษ แต่ยังมีโทษอยู่ ถือเป็นกระบวนการหนึ่งของกฎหมาย ในอดีตอาจไม่มี แต่ขณะนี้มีเกณฑ์คร่าวๆ คือ 6 เดือน หรือ 1 ใน 3, 2 ใน 3 ซึ่งในส่วนของบุญทรง บางคนบอกว่าโทษดูเยอะ แต่ได้พักโทษเพราะได้รับพระราชทานอภัยโทษมา 4 ครั้ง เหลือโทษ 10 ปี รับโทษมาแล้ว 7 ปี 6 เดือน เหลือประมาณ 3 ปี โดยการพักโทษจะยึดตามภูมิลำเนาของผู้อุปการะ ซึ่งในกรณีของบุญทรง ผู้อุปการะคือบุตรชายซึ่งอาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยติดกำไล EM และต้องรายงานตัวกับกรมคุมประพฤติที่จังหวัดเชียงใหม่
ส่วนคนอื่นๆ ในคดีจำนำข้าวและข้าราชการมีหลายคนที่ได้พักโทษ เพราะเราพยายามไม่เลือกปฏิบัติ ส่วนใหญ่กฎหมายการพักโทษเป็นการบริหารของกรมราชทัณฑ์ ไม่มาถึงตัวรัฐมนตรี การพักโทษไปสั่งการไม่ได้ เป็นรูปแบบของคณะกรรมการ มีคณะอนุกรรมการพิจารณาพักโทษ ถ้าไม่มีมติเอกฉันท์ก็ต้องทบทวน ซึ่งคณะกรรมการจะมาจากกระบวนการยุติธรรม เช่น อัยการ, ศาล, เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์, กรมคุมประพฤติ, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), แพทย์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า โทษของบุญทรงพักโทษประมาณเกือบ 3 ปี มีข้อห้ามคือไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศ เพราะกฎหมายไม่อนุญาต แต่ถ้าเดินทางออกนอกจังหวัดเชียงใหม่จะต้องขออนุญาต ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าโทษจำคุกจำนวนมาก แต่ติดจริงไม่กี่ปีและได้รับการพักโทษ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว ทั่วโลกก็เป็นแบบนี้
พ.ต.อ. ทวี กล่าวอีกว่า เพิ่งพบกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์มาเลเซีย บอกว่าปีก่อนเรือนจำมีนักโทษกว่า 70,000 คน ได้พักโทษประมาณ 30,000 คน แต่ปีที่จะถึงนี้จะได้รับการพักโทษ 70,000 คน เพราะมองว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ก้าวพลาด มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี โดยเฉพาะกรณีผู้สูงอายุ เราเชื่อว่าไม่ทำผิดซ้ำ เราใช้หลักอาชญาวิทยา ซึ่งกฎหมายกรมราชทัณฑ์ แม้แต่ตัวรัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจ ทำได้แค่ทราบเรื่องที่สำคัญของคณะกรรมการ กฎหมายออกแบบในปี 2560 ซึ่งอาจออกแบบโดยไม่ไว้ใจคดีจำนำข้าวอยู่แล้ว จึงมีการศึกษาวิจัยคุณสมบัติของคณะกรรมการพักโทษ ซึ่งมาจากกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ จนถึงศาล แต่การพระราชทานอภัยโทษไม่ได้อยู่ใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์
ปฏิเสธพักโทษบุญทรง เปิดทางยิ่งลักษณ์กลับบ้าน
พ.ต.อ. ทวี กล่าวถึงโอกาสในการกลับเข้าประเทศของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังผู้ต้องโทษในคดีโครงการรับจำนำข้าวได้รับการพักโทษอย่างต่อเนื่องว่า ในส่วนของยิ่งลักษณ์จะเดินทางกลับเข้าประเทศไทยได้ตามช่องทางของกฎหมายเท่านั้น จะต้องรายงานตัวต่อศาล และศาลจะพิจารณาฝากขังเพื่อเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ทางกฎหมาย ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ หากมีอะไรเป็นพิเศษ เช่น กรณีป่วยก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษา ซึ่งก็ไม่ใช่จะป่วยกันได้ทุกคน ต้องเป็นไปตามความเป็นจริง สำหรับการขอพระราชทานอภัยโทษจะต้องยึดตามกฎหมายราชทัณฑ์ และย้ำว่าหากต้องการเดินทางเข้าประเทศจะต้องเป็นไปตามช่องทางของกฎหมายเท่านั้น
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณียิ่งลักษณ์จะไม่เหมือนกับกรณี ทักษิณ ชินวัตร เพราะอายุยังไม่เข้าเกณฑ์การพักโทษใช่หรือไม่ พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้รับการประสานมายังกระทรวงยุติธรรม แต่ยืนยันว่าทุกคนจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและตามความเป็นจริง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การพักโทษให้กับนักโทษคดีโครงการรับจำนำข้าวเป็นเหมือนการปูทางให้ยิ่งลักษณ์กลับประเทศ พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า ไม่ใช่ การพักโทษแต่ละครั้งมีประมาณ 1,000 คน โดยมีผู้ต้องโทษในคดียาเสพติดด้วย ตอนนี้กรมราชทัณฑ์ให้ความสำคัญกับผู้ต้องโทษที่ได้รับการปล่อยตัวจะต้องไม่กระทำผิดซ้ำ เพราะในปีแรกมีตัวเลขที่น่าตกใจว่ามีผู้กระทำผิดซ้ำเกือบ 17% และปีที่3 สูงเกือบ 40% ในขณะที่ผู้ที่ถูกคุมประพฤติกระทำผิดซ้ำไม่ถึง 9% ดังนั้นเรื่องชุมชนและสังคมจึงมีความสำคัญ