×

นักเศรษฐศาสตร์แนะ รัฐอุดหนุนรถไฟฟ้าเฉพาะกลุ่ม แทนลดราคาทั้งระบบเหลือ 20 บาทตลอดสาย

17.02.2025
  • LOADING...

จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่ในปัจจุบันดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี 2 เดือน ในโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

 

ล่าสุด สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่าจะประกาศใช้ในโครงการรถไฟฟ้าทุกสี ทุกสาย และทุกเส้นทาง ภายในเดือนกันยายน 2568 ภายใต้การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยคาดว่าจะประกาศราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2568 และเสนอประกาศกฎหมายลำดับรองภายในเดือนกันยายน 2568 

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า คำถามสำคัญสำหรับนโยบายนี้คือ ต้องใช้เงินเท่าไร ใครได้รับประโยชน์ และใครเสียประโยชน์

 

“เรากำลังนำเงินไปอุดหนุน คงต้องตั้งคำถามว่าจะอุดหนุนใครบ้าง เพราะผู้ใช้รถไฟฟ้ามีหลากหลาย ทั้งประชาชนทั่วไปไปจนถึงนักท่องเที่ยว”

 

ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในฐานะผู้ใช้บริการ แน่นอนว่าการจ่ายถูกกว่าย่อมดีกว่า แต่การจะได้มามีต้นทุน ซึ่งควรจะตั้งคำถามและตอบให้ชัดว่าทำไมควรต้องทำ 

 

“การอุดหนุนด้วยการลดราคาทั้งระบบไม่ค่อยเห็นด้วย การช่วยเหลือควรช่วยคนที่ต้องการจริงๆ โดยเฉพาะถ้าจะต้องลดราคาจนขาดทุน”

 

การอุดหนุนควรจะเป็นการอุดหนุนไปยังผู้ที่ต้องการจริงๆ และมีวิธีการทดสอบว่าเป็นการอุดหนุนอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยอาจจะมีหลายรูปแบบ เช่น การมีตั๋วแบบรายเดือนที่ให้ส่วนลดสำหรับผู้ที่รายได้ต่ำกว่าเกณฑ์

 

อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องคิดให้ถี่ถ้วนคือ หากเกิดการขาดทุน ซึ่งอาจนำไปสู่ภาระหนี้ระยะยาว จะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร รวมทั้งการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่อาจจะลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่คุณภาพการให้บริการที่แย่ลงได้ 

 

ด้าน ปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ กล่าวว่า ในแง่นโยบายส่วนตัวกังวลเกี่ยวกับแนวทางที่จะดำเนินการ ซึ่งต้องติดตามว่ารายละเอียดจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะงบประมาณที่จะนำมาใช้สนับสนุน 

 

“ต้องติดตามว่ารัฐบาลศึกษาเรื่องโครงสร้างต้นทุนดีขนาดไหน เพราะในระยะยาวงบประมาณที่จะนำมาใช้ก็มาจากภาษีประชาชน” 

 

ในมุมเอกชนที่ดำเนินการตามสัมปทานอยู่ในปัจจุบัน เชื่อว่าน่าจะพร้อมที่จะขายคืนสัมปทานให้กับรัฐบาล และอาจเปลี่ยนไปรับจ้างบริหารการเดินรถแทน ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการดำเนินงานในลักษณะนี้อยู่บ้าง 

 

หากมาตรการนี้เดินหน้าไปตามที่รัฐบาลประกาศไว้ “จะทำให้โมเดลธุรกิจของเอกชนเปลี่ยนไป แต่ก็เป็นข้อดี เพราะหากดูจากการรับจ้างเดินรถบางส่วน มาร์จิ้นค่อนข้างเสถียรและมีรายได้แน่อน ส่วนความเสี่ยงเรื่องจำนวนผู้โดยสารจะไปตกกับภาครัฐแทน” ปริญทร์กล่าว 

 

ส่วนผลกระทบต่อราคาหุ้น ที่ผ่านมาราคาค่อนข้างสะท้อนประเด็นนี้ไปค่อนข้างมาก และในส่วนของ BTS จะเห็นว่าอายุสัมปทานเหลือค่อนข้างสั้นมากแล้ว ทำให้ผลกระทบหลังจากนี้อาจจะไม่มากนัก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising