วานนี้ (6 กันยายน) NASA ได้ปล่อยภาพใหม่อันน่าตื่นตาของเนบิวลาทารันทูลา (Tarantula Nebula) หรือที่รู้จักในชื่อ 30 Doradus ซึ่งถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์
เนบิวลาทารันทูลาอยู่ห่างจากโลกของเราออกไป 161,000 ปีแสงในเมฆแมเจลแลนด์ใหญ่ (Large Magellanic Cloud) ซึ่งเป็นกาแล็กซีบริวารของกาแล็กซีทางช้างเผือก โดยเป็นเนบิวลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และส่องสว่างสูงสุดในกลุ่มกาแล็กซีท้องถิ่น (Local Group) เป็นแหล่งกำเนิดของดวงดาวที่มีอุณหภูมิสูงและมีมวลมหาศาล ด้วยรูปร่างที่มีลักษณะคล้ายกับโพรงที่มีใยแมงมุมฉาบอยู่ ส่งผลให้เนบิวลานี้ถูกตั้งชื่อว่าทารันทูลานั่นเอง
พลังของกล้อง Near-Infrared Camera (NIRCam) ของเจมส์ เว็บบ์ ได้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เห็นรายละเอียดของเนบิวลาแห่งนี้ได้คมชัดมากกว่าเดิมหลายเท่า รวมถึงกระจุกดาวอายุน้อยหลายหมื่นดวง (จุดเล็กๆ ที่เป็นประกายสีฟ้าอ่อนในภาพ) ซึ่งก่อนหน้าจะเห็นเป็นกลุ่มฝุ่นคอสมิกบดบังอยู่
แม้ว่านักดาราศาสตร์จะเฝ้าสังเกตวิวัฒนาการของดวงดาวมานานแสนนาน แต่กระบวนการก่อเกิดดวงดาวนั้นมีปริศนาที่ซ่อนอยู่มากมาย เนื่องจากในอดีตนั้น เราไม่สามารถจับภาพของเนบิวลาได้อย่างชัดเจน เพราะมักจะถูกกลุ่มฝุ่นบังอยู่ แต่ด้วยศักยภาพของเจมส์ เว็บบ์ ทำให้ในวันนี้เราได้เริ่มมองเห็นจักรวาลในมุมใหม่ที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่น่าพอใจ และคาดว่าในอนาคตเจมส์ เว็บบ์จะสร้างปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้นเช่นนี้อีกตลอดช่วงเวลาราว 10 ปีในภารกิจเฝ้าสังเกตการณ์ห้วงอวกาศ
ภาพ: NASA, ESA, CSA, STScI, Webb ERO Production Team
อ้างอิง: