×

หลังวนเวียนทำตลาดญี่ปุ่นมานานกว่า 20 ปี ถึงเวลา ‘ตัน ภาสกรนที’ ปั้นสินค้าทำเงินตัวใหม่ ‘ตันซันซู’ น้ำอัดลมเกาหลี เกาะกระแส K-Pop

24.11.2022
  • LOADING...
TANSANSU

หลังวนเวียนทำตลาดญี่ปุ่นมานานกว่า 20 ปี ถึงเวลา ‘อิชิตัน’ ขยายพอร์ตธุรกิจ ปั้น ‘TANSANSU’ เจาะตลาดน้ำอัดลม เกาะกระแสเกาหลี K-Pop หวังจับกลุ่ม Gen Z ตั้งเป้าทำยอดขาย 150 ล้านบาทสิ้นปีนี้

 

ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป หรือ ICHI เปิดเผยว่า กระแสเกาหลีกำลังมาแรงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เห็นได้จากพฤติกรรมการดูซีรีส์เกาหลีในชีวิตประจำวัน ตามด้วยการเป็นแฟนคลับของวงศิลปินที่ชื่นชอบ รวมไปถึงการรับประทานอาหารเกาหลี รามยอน กิมจิ คิมบับ โซจู ทำให้กระแสเกาหลียังไม่หายไปไหน 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

โดยปัจจุบันคอมมูนิตี้ตลาด K-Pop ในไทยสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก นับเป็นแฟนคลับ K-Pop มากที่สุด และเป็นตลาดที่ถูกขับเคลื่อนด้วยกลุ่ม Gen Z ที่มีประมาณ 15 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 23% ซึ่งเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีกำลังซื้อและกล้าที่จะตัดสินใจจ่าย เห็นได้จากการจับจ่ายมูลค่าสินค้าและบริการกว่า 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง 

 

ด้วยกระแสดังกล่าวส่งผลให้ตลาด K-Drink หรือเครื่องดื่มโซจูในไทย ที่มีมูลค่า 1,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นอย่างมาก และสามารถยึดเชลฟ์สินค้าในคอนวีเนียนสโตร์รายใหญ่ได้มากขึ้นด้วย

 

แน่นอนว่ากลุ่ม Gen Z มีความเป็นกลุ่มก้อนมากที่สุด เห็นได้จากการรวมพลังเพื่อสนับสนุนศิลปินที่รัก เช่น การ Sold Out ของแทบทุกคอนเสิร์ต การสร้างปรากฏการณ์ห้างแตก การมีด้อมที่ทรงพลังในโซเชียลมีเดีย และในช่วงก่อนเกิดโควิดระบาดคนไทยเดินทางท่องเที่ยวเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นถึง 12%

 

จากโอกาสดังกล่าวจึงได้ขยายพอร์ตสินค้าใหม่ ที่ไม่ได้มีดีแค่ชา ด้วยการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ ‘ตันซันซู’ (TANSANSU) เครื่องน้ำอัดลมสไตล์เกาหลี 2 รสชาติ ได้แก่ โซจูบอมบ์ และโซจูโยเกิร์ต ปัจจุบันมียอดจำหน่ายมากกว่า 2 แสนลัง โดยตันซันซู ในภาษาเกาหลี แปลว่า น้ำซ่า 

 

ระยะแรกวางจำหน่ายในช่องทางโมเดิร์นเทรด และถัดไปเตรียมขยายช่องทางจำหน่ายไปยังร้านอาหารเกาหลี ในปี 2566 เตรียมเปิดตัวอีก 1 รสชาติ เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่ม Gen Z อายุ 13-25 ปี ที่ชื่นชอบกระแสเกาหลี โดยทีม R&D ใช้เวลาพัฒนานานกว่า 1 ปี 

 

พร้อมวางงบ 100 ล้านบาท เพื่อใช้ทำการตลาดครบวงจร โดยโปรโมชันก็ถือว่าสำคัญ แต่จะไม่หว่านแหเหมือนเดิม ต้องคิดให้รอบคอบ เน้นไปทางโซเซียลมีเดียเป็นหลัก และปี 2566 เตรียมเปิดตัวศิลปิน K-Pop ยอดนิยมขึ้นมาเป็น Endorser ของแบรนด์ 

 

นับเป็นครั้งแรกของอิชิตันที่กระโดดเข้ามาทำตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลม หลังจากวนเวียนทำตลาดญี่ปุ่นมากว่า 20 ปี เพราะมองเห็นโอกาสการเติบโต 

 

จากข้อมูลของ Nielsen ระบุว่า ภาพรวมตลาดน้ำอัดลมใหญ่เป็นอันดับ 2 ในตลาดเครื่องดื่มรวม ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่า 42,695 ล้านบาท เติบโตขึ้น 5.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็น กลุ่มน้ำดำ มูลค่า 30,617 ล้านบาท มีสัดส่วน 72% และเติบโต 6.2% ส่วนกลุ่มน้ำสี มูลค่า 12,078 ล้านบาท มีสัดส่วน 28% และเติบโต 3.8%

 

ยิ่งไปกว่านั้นตลาดน้ำอัดลม น้ำตาล 0% มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากมูลค่า 2,732 ล้านบาท โต 20.2% ส่วนเครื่องดื่มอัดลมน้ำสี น้ำตาล 0% มีมูลค่าตลาด 2,026.9 ล้านบาท โตถึง 57.2% 

 

สำหรับเครื่องดื่มตันซันซูเข้ามาอยู่ในกลุ่มน้ำอัดลม น้ำตาล 0% นับเป็นความหวังใหม่ของอิชิตัน และมั่นใจว่าจะสามารถสู้ในตลาดใหญ่ได้ โดยปัจจุบันบริษัทใช้กำลังการผลิตรวม 67% ยังเหลืออยู่ 30% ถ้าอนาคตโปรดักต์ขายดีมากขึ้น ก็จะมีฐานการผลิตรองรับได้ และนอกเหนือจากน้ำอัดลมก็เป็นเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มที่เป็น Top of Mind ของผู้บริโภค

 

ขณะที่ภาพรวมตลาดชาพร้อมดื่มมูลค่า 13,000 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือน เติบโตมากกว่า 20% ถือว่ากลับมาเติบโตสูงสุดในรอบ 5 ปี ปีหน้าคาดการณ์ว่าจะกลับมาโตเทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิดที่ตลาดมีมูลค่า 16,000 ล้านบาท หลักๆ ก็เป็นผลจากสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลาย การเปิดเมือง ประกอบกับภาครัฐและเอกชนจัดงานอีเวนต์เพิ่มขึ้น ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายคึกคักอย่างมาก 

 

อีกด้านหนึ่งตลาดยังต้องเผชิญความท้าทายเรื่องค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้น ตลอดจนนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมา จึงต้องปรับตัวหารายได้ช่องทางอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่ เพื่อรองรับกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป 

 

ทั้งนี้ บริษัทวางเป้ายอดขายตันซันซูไว้ที่ 150 ล้านบาทในสิ้นปีนี้ และจะเป็นตัวหลักทำให้สัดส่วนรายได้จากกลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่ใช่ชา (Non-Tea) ของอิชิตัน เพิ่มเป็น 12% จากขณะนี้ที่มีสัดส่วนเพียง 4% ถือว่ายังน้อยอยู่ ส่วนปี 2566 บริษัทตั้งเป้าทำรายได้รวม 7,000 ล้านบาท และสร้างรายได้แตะ 10,000 ล้านบาท ภายในเวลา 3 ปีข้างหน้า 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising