หากจะถามว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตของคนเราคืออะไร แน่นอนว่าทุกคนมีคำตอบที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุด
ทุกศาสตร์และทุกอาชีพ ทุกคนต่างมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป และทุกคนต่างมีเส้นทางไปสู่เป้าหมายในแบบของตัวเอง
THE STANDARD ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ตุลยเทพ เอื้อวิทยา นักธุรกิจและไตรกีฬาผู้ที่บริหารจัดการเวลา 24 ชั่วโมงของเขาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการวางแผนการลงทุนเพื่ออิสรภาพทางการเงิน เป้าหมายในการทำงาน และเป้าหมายของการแข่งขันไตรกีฬา
ก้าวแรกของการลงทุนกับสุขภาพของคุณเริ่มต้นขึ้นเมื่อไร
เริ่มต้นตั้งแต่ตอนเด็กๆ เพราะตอน 3 ขวบ ทั้งผมและพี่สาวเป็นหอบหืด คุณหมอจึงแนะนำให้ไปว่ายน้ำ เพราะจะช่วยเรื่องระบบทางเดินหายใจ คุณแม่ก็เลยพาไปสระว่ายน้ำ นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้เริ่มเล่นกีฬา
พอเข้าอนุบาล ปรากฏว่ามีอาจารย์เห็นว่าผมเป็นนักว่ายน้ำ ก็เลยชักชวนเข้าทีมเป็นนักกีฬาว่ายน้ำคนแรกของโรงเรียนอนุบาล ตรงนั้นคือจุดเริ่มต้นของการว่ายในระดับแข่งขัน จากนั้นก็เลยฝึกว่ายน้ำทุกเย็น แล้วก็แข่งขันมาเรื่อยๆ จนถึงช่วงประถมก็เลิก
จนจบปริญญาโท ช่วงนั้นไม่ได้ออกกำลังกายเลย มีแค่เข้ายิมเล่นฟิตเนสจนน้ำหนักเริ่มขึ้น เพราะใช้ชีวิตแบบทำงานและไปเที่ยว น้ำหนักก็ขึ้น บวกกับเล่นเวตอย่างเดียว ตัวใหญ่ กล้ามไม่ชัด ก็หาคำตอบเจอว่าต้องคาร์ดิโอ ซึ่งเป็นช่วง 3 ปีที่แล้วที่ผมเริ่มไตรกีฬา
ช่วงนั้นไตรกีฬาเพิ่งเริ่มดังที่บ้านเรา เพื่อนผมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยก็ไปเล่น พวกเขาก็ถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กกัน ผมก็มองว่าน่าลอง เพราะผมก็เป็นนักว่ายน้ำอยู่แล้ว จักรยานก็ไม่ได้ขี่จริงจัง ส่วนวิ่งจริงๆ ก็ไม่ชอบ แต่ทั้งหมดคิดว่าคงฝึกได้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของไตรกีฬา เพราะอยากลดน้ำหนักและอยากให้ร่างกายดูดี
จากว่ายน้ำไปจนถึงการแข่งขันที่มีทั้งวิ่ง ว่ายน้ำ และจักรยาน เป็นเรื่องยากไหม
ไม่ถึงกับยากขนาดนั้น ผมเริ่มโดยการสมัครรายการระยะสปรินต์ เป็นการว่ายในบึงที่เขาขุด ออกมาขี่จักรยานบนถนนชนบท และวิ่งแถวนั้น จากนั้นก็ไปหาโปรแกรมตามอินเทอร์เน็ตมาฝึก
โปรแกรมการฝึกของผมแบ่งเป็นวันหนึ่งว่ายน้ำ อีกวันหนึ่งวิ่ง ค่อยๆ ทำวันละอย่างก็ไม่ยาก ช่วงซ้อมไม่มีปัญหา แต่วันแข่งจริงรู้เลยว่าไม่ง่าย โดยเฉพาะตอนวิ่งที่เริ่มมีอาการเสียดท้อง เป็นตะคริว มารู้ทีหลังว่าเกิดจากกล้ามเนื้อ Core Body ไม่แข็งแรงพอ ก็ต้องฝึก Core Body ของนักไตรกีฬา เช่น Plank, Side Plank
ผ่านการแข่งขันรายการใดมาแล้วบ้าง
ผมผ่าน Ironman ระยะเต็มมาแล้ว 3 รายการ แล้วก็ระยะ Half Ironman 70.3 ที่เวียดนามและภูเก็ต รวมแล้วเป็น 3 รายการ และรายการอื่นๆ อีกที่ไม่ได้นับ
ที่ท้าทายที่สุดแน่นอนว่าต้องเป็น Ironman เรียกว่าทุกสนามเลย เพราะแต่ละสนามมีความยากที่แตกต่างกันออกไป อย่างสนามแรกที่ผมไปที่ไต้หวัน เมื่อปี 2016 ผมเริ่มเล่นไตรกีฬามาประมาณปีครึ่งก่อนจะลง Ironman ครั้งแรก ซ้อมค่อนข้างหนัก มีโปรแกรมซ้อมซึ่งเราทำได้ประมาณ 80% ของโปรแกรม พอไปถึงสนาม สิ่งท้าทายคือเส้นทางสนามของจักรยานมันไม่เรียบ มีเนินขึ้นลงเยอะ และอากาศที่ร้อน ทั้งที่คิดว่าไต้หวันจะเย็น ถือว่าท้าทายมาก
มีรายการไหนที่แข่งเกือบไม่จบไหม
ยังไม่มีนะ มีแต่ความท้อ ไม่ไหวแล้ว มันเหนื่อย อยากหยุด ส่วนมากจะเกิดจากการวิ่ง คือเราต้องปรับทัศนคติตัวเอง อย่าไปมองว่าเพิ่งวิ่งมาเพียง 3 หรือ 5 กิโลเมตร และเหลืออีกตั้ง 30-40 กิโลเมตร แค่มองว่าวิ่งไปถึงจุดพักดื่มน้ำต่อไปอีก 2 กิโลเมตร แล้วค่อยๆ วิ่งต่อไปเรื่อยๆ อีกเรื่องที่คิดในการไปแข่งแต่ละครั้งคือการลงทุน แค่ทริปอย่างเดียวก็เป็นแสนกว่า ยังไม่ร่วมเวลาซ้อมอีก 6 เดือน แล้วจะมายอมได้ยังไง เราต้องไปให้ถึงที่สุด
ท้ังท้อ เหนื่อย และบาดเจ็บ ทำไมถึงยังไปต่อกับไตรกีฬา
ส่วนตัวผมเวลาตั้งเป้าอะไรแล้วเราก็อยากจะพิชิตมันให้ได้ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่เลิกกลางคัน
พวกปัญหาบาดเจ็บหรือเหนื่อยก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่มันก็หายได้ เพียงแต่เราต้องบริหารให้ถูกวิธี
เราก็มีสิทธิ์เลือกนะว่าเลิกก็ได้ ไปไม่ถึงเป้าก็ไม่เป็นไร แต่เราพยายามที่จะเอาชนะหรือข้ามมันไปให้ได้
สิ่งที่ได้จากในสนามสามารถนำมาใช้กับชีวิตประจำวันได้ไหม
คิดว่าได้เยอะเลยนะครับ หลักๆ คือการบริหารเวลา ก่อนเล่นไตรกีฬา ทุกคนมี 24 ชั่วโมงต่อ 1 วันเท่ากัน แต่พอเริ่มเล่นไตรกีฬาแล้วเราต้องแบ่ง 24 ชั่วโมงนี้มาเป็นเวลาซ้อม การซ้อมไป Ironman มีช่วงพีกสุดคือต้องซ้อมสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง ก็ตกวันละ 3 ชั่วโมง แต่เวลาในหนึ่งวันของเรามีเท่าเดิม ดังนั้นเราต้องบริหารจัดการแบ่งเวลาซ้อมให้ได้ ถามว่าไม่ซ้อมได้ไหม ก็ได้ แต่ผลก็จะออกมาอีกแบบหนึ่ง
พอรู้จักบริหารเวลาแล้ว เราก็สามารถนำข้อคิดนี้ไปบริหารชีวิตด้านอื่นได้เหมือนกัน เรียกว่าเป็นการลำดับความสำคัญในการใช้ชีวิต
การบริหารจัดการตารางชีวิตกับไตรกีฬาสามารถนำไปปรับใช้กับการลงทุนได้อย่างไร
ไตรกีฬากับการลงทุนมีสิ่งที่คล้ายกันคือต้องตั้งเป้า ซึ่งผมมีทั้งเป้าหมายใหญ่และเป้าหมายเล็กๆ ระหว่างทาง ซึ่งสามารถนำมาใช้กับการลงทุนหรือการทำงานได้ เพราะทุกคนต้องมีเป้าหมายชีวิต ต้องมีเป้าใหญ่ ต้องมีภาพว่าอีก 10 ปีเราจะไปไหน ทางที่เราไปต้องผ่านอะไรบ้าง และระหว่างทางก็ควรมีเป้าหมายเล็กๆ ไว้ให้รางวัลกับตัวเองด้วย
Healthiest Return on Investment มีความหมายต่อคุณอย่างไรบ้าง
ในความรู้สึกผม การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวคุณเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพหรือการเรียนรู้อะไรสักอย่าง การเพิ่มความรู้ เพิ่มทักษะ ผมอยากที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา พอมาเริ่มไตรกีฬาก็เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นทักษะการขี่จักรยาน การวิ่ง ได้เรียนรู้หมด การลงทุนก็เหมือนกัน บางคนอาจจะไม่เคยซื้อหุ้น อาจจะไม่เคยลงทุนในกองทุนรวม แล้วก็ถ้าไม่เข้ามาเราก็จะไม่มีวันรู้ ดังนั้นการที่เอาตัวเราเข้าไปเรียนรู้อะไรถือได้ว่าเป็นการลงทุนที่ไม่ขาดทุน และไม่มีใครสามารถเอาความรู้ของเราไปได้
สุขภาพคือพื้นฐานของทุกสิ่ง คุณมีเงินพันล้าน แต่สุขภาพคุณไม่ดีก็ต้องเอาเงินไปจ่ายให้โรงพยาบาลหมด หรือคุณไปเที่ยวรอบโลกได้ แต่คุณสุขภาพไม่ดีก็เที่ยวไม่สนุกอยู่ดี
จากประสบการณ์ในไตรกีฬาและคนที่มีความชื่นชอบในการลงทุน มีมุมมองต่อโครงการ Exclusive Triathlon Training by CIMB Preferred อย่างไรบ้าง
ยังไม่เคยเห็นใครจัดให้ลูกค้ามาเหนื่อย แล้วลูกค้าก็เต็มใจมาเหนื่อยด้วยนะ (หัวเราะ) แคมป์ของ CIMB Preferred ก็เป็นที่แรกที่ผมเห็นธนาคารจัดกิจกรรมแบบนี้ ที่ผ่านมาผมก็เป็นลูกค้าที่อื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เขาจะจัดเป็นทริปท่องเที่ยวต่างๆ
ผมชอบธีมของเขาที่มีชื่อว่า Healthiest Return on Investment ซึ่งอย่างที่ผมบอกว่าเราต้องมาดูที่การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ซึ่งเขาไม่ได้มองแค่ผลตอบแทนด้านการเงิน แต่มันคือการลงทุนต่อสุขภาพ มันก็เลยตอบโจทย์ที่ผมคิด คือถ้าคุณมีสุขภาพดีแล้วคุณค่อยมาบริหารชีวิตของคุณ บริหารการเงินการลงทุนของคุณต่อเนื่องไปอีก
จุดเด่นของแคมป์นี้คือคลาสเรียนเทคนิคต่างๆ ทั้งวิ่ง ปั่น ว่าย ที่เลือกมาเพื่อนักไตรกีฬา โปรแกรมการฝึกซ้อมที่เลือกมาให้เหมาะสมกับศักยภาพและช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของแต่ละคน โดยทีมโค้ชระดับท็อปอย่างคุณไซมอน อกัสตัน นักไตรกีฬาระดับประเทศ
แคมป์นี้สามารถเข้าร่วมได้ทุกระดับตั้งแต่ Beginner ถึงระดับ Advance เพราะโค้ชเขาออกแบบโปรแกรมให้แต่ละคน คือไม่ง่ายที่จะหาโค้ชมาดูให้คุณแบบตัวต่อตัวขนาดนี้ ถ้าไปร่วมที่อื่นอาจจะคลาสละ 40 คน แต่โค้ชก็จะดูไม่ทั่วถึง
เป้าหมายของการเข้าร่วมโครงการนี้เป็นครั้งแรกคืออะไร
ผมอยากให้โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ผมไปสู่เป้าหมายใหญ่ได้ คือการได้ไปแข่ง Ironman World Championship ที่โคนา ฮาวาย ซึ่งระหว่างทางยังอีกไกล แต่กิจกรรมของ CIMB Preferred ในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะพาผมไปถึงจุดนั้นได้ ในขณะเดียวกันผมยังได้ที่ปรึกษาในเรื่องการเงินการลงทุนด้วย เหมือนได้รับการดูแลในหลายด้านพร้อมกัน
สำหรับคนที่ยังตามหาเหตุผลลงทุนกับสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย คุณมีอะไรจะฝากไปถึงพวกเขาไหม
ผมคิดว่าทุกคนอยากมีสุขภาพดี เพียงแต่คุณพร้อมที่จะก้าวออกมาจากชีวิตประจำวันของคุณหรือเปล่า บางคนกลัวเหนื่อย ไม่มีเวลา นั่นคือข้ออ้างของแต่ละคน ผมคิดว่ามันอยู่ที่ใจ คือมันต้องอยากทำเอง เราคงไม่อยากให้ใครมาฉุดมาลาก ให้เพื่อนชวนมาวิ่งสวนลุมฯ ตอนเช้า เราก็อาจจะบอกว่าขี้เกียจตื่น หรือบางคนอาจจะเจอจุดที่โดนบังคับให้เปลี่ยน เช่น ป่วยจนหมอต้องบังคับให้ไปออกกำลังกาย ถ้าไม่ถึงจุดนั้นเขาก็จะไม่ออกกำลังกาย ผมไม่อยากให้รอให้ถึงจุดนั้น ตอนเริ่มมันอาจจะยากหน่อย ผมอยากให้ทุกคนลองตั้งเป้าหมายแล้วพาตัวเองไปถึงเป้าหมายนั้น พอเราทำได้ เราเริ่มแล้วไม่มีใครเลิกสักคน มีแต่ไปต่อ
การลงทุนที่ดีที่สุดคือการเริ่มต้นลงทุนกับสุขภาพ กิจกรรมดีๆ มีให้อย่างต่อเนื่องที่ www.cimbpreferred.com โทร. 0 2626 7888