×

‘โลกดิจิทัลเหมือนมีด’ คุยกับ ต่อ ธนญชัย และ AIS กับคอนเซปต์ ‘ถ้าเราทุกคนคือเครือข่าย’ ทางออกสำหรับเด็กไทยในระบบนิเวศใหม่ของยุคออนไลน์

08.08.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • โลกดิจิทัลเหมือนมีด เป็นเครื่องมือที่ดีถ้าหากเรารู้จักใช้ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจก็อาจส่งผลร้ายต่อคนรอบกายและต่อตัวเองได้
  • ปัญหาการติดเกม ติดโทรศัพท์มือถือ และการบูลลี่บนโลกออนไลน์ คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นทั้งในสังคมไทยและในสังคมโลก หากวันนี้เรายังไม่ช่วยกันแก้ไข อาจส่งผลร้ายได้ในอนาคต
  • AIS Secure Net และ Family Link เครื่องมือช่วยผู้ปกครองสกรีนเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม และ DQ (Digital Intelligence Quotient) บทเรียนออนไลน์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานโลกดิจิทัลอย่างถูกวิธี คือเซอร์วิสที่ AIS ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ผ่านแนวคิด ‘ถ้าเราทุกคนคือเครือข่าย’

“สังคมมนุษย์จะอยู่ลำบากขึ้น แล้วเราก็จะสูญเสียความเป็นมนุษย์ในอนาคต เพราะวิวัฒนาการของตัวเราเอง สังคมมันกลายเป็นธรรมชาติที่ผิดไปจากธรรมชาติของวิวัฒนาการของเรา ทุกวันนี้สิ่งที่เราอยู่ไม่ใช่ธรรมชาติที่แท้ของความเป็นมนุษย์”

 

ต่อ-ธนญชัย ศรศรีวิชัย หรือ ต่อ ฟีโนมีนา ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาชื่อดัง กล่าวถึงโลกดิจิทัลที่เริ่มต้นขึ้นจากวิวัฒนาการของมนุษย์ แต่กำลังกลับย้อนมาทำลายความเป็นธรรมชาติที่แท้ของมนุษย์เอง พร้อมกับเสริมว่าการใช้งานโลกดิจิทัลนั้นเหมือนกับ ‘มีด’

 

มีดเป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย แก่นแท้ของความเป็นมีดคือความคม มีดที่ไม่คมคงเรียกได้ว่าเป็นมีดที่ไร้ประโยชน์ เช่นเดียวกับการใช้งานโทรศัพท์ของคนเราในทุกวันนี้ ที่ไม่ต่างอะไรกับการถือมีดคมกริบคู่ใจในมือคนละหนึ่งเล่ม พกติดตัวตลอดเวลา กวัดแกว่งไปมาโดยลืมไปว่าความคมที่มีประโยชน์นี้ก็สามารถสร้างโทษได้เช่นเดียวกัน 

 

โทษของมีดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งก็เกิดจากผู้คนที่ใช้ได้ไม่ดี หรือบางทีโทษเหล่านี้ก็เกิดจากอุบัติเหตุ บาดแผลที่เกิดจากมันอาจเจ็บเพียงเล็กน้อย แต่หากโดนบ่อยๆ ก็อาจส่งผลร้ายแรงถึงชีวิตได้ ยิ่งถ้าคนคนนั้นคือเพื่อน คือครอบครัว คือคนที่เรารัก โทษของมันคงไม่ได้หยุดแค่ที่ร่างกาย แต่อาจตามไปทำร้ายถึงจิตใจของเราได้เช่นกัน

 

“พี่ว่ามัน (โลกดิจิทัล) เหมือนมีดนะ มันเป็นเครื่องมือที่ดีถ้าหากเรารู้จักใช้ เด็กที่ไม่รู้เขาหยิบมีดไปก็ต้องเกิดอันตราย เพราะฉะนั้นถ้าเราคอยดูแลลูกเรา สอนวิธีใช้มีด ตรงไหนที่คมให้คอยระวัง จะเอาไปผ่าฟืนก็เกิดประโยชน์ เอาไปแล่ปลาก็เกิดประโยชน์ แต่ถ้าเผลอไปทำร้ายเพื่อนก็กลายเป็นโทษ” 

 

 

ด้าน ศิ-ศิวลี บูรณสงคราม Head of AIS Brand Management ในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม เล่าถึงแนวโน้มของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไปว่า “วันนี้ลูกค้าที่เข้ามาเริ่มจะมีกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เริ่มจับมือถือเครื่องแรกตั้งแต่อายุยังน้อยมาก เริ่มมีการใช้แท็บเล็ต เริ่มมีการใช้อินเทอร์เน็ตโดยที่ยังมีวุฒิภาวะไม่มากพอ ไม่รู้ว่าอินเทอร์เน็ตมีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี การใช้อินเทอร์เน็ตอาจจะทำให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีสำหรับตัวเขา และกระทบไปถึงคนรอบตัวเขาด้วยเช่นกัน ถ้าเกิดเขาใช้ไม่ถูกวิธี” 

 

จากมุมมองของผู้ให้บริการเครือข่ายที่มองเห็นกลุ่มลูกค้า และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ศิเล่าว่า ทุกวันนี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ผู้คนจะขาดการติดต่อสื่อสารไม่ได้ และการทำให้คนติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลาก็ย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอย่างแน่นอน เพียงแต่การคำนึงถึงผลที่ตามมาก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับการใช้งานเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างไม่ระมัดระวัง และมีแนวโน้มว่าจะส่งผลร้ายแรงต่อสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ

 

“อย่างเด็กโดนยึดมือถือปุ๊บกระโดดตึกเลย การเป็นโรคซึมเศร้าจากการถูกบูลลี่ หรือว่าเด็กที่เล่นเกมจนเขาแยกเรื่องจริงกับเรื่องในเกมไม่ออก มันก็คือเรื่องจริงๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ เด็กรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมกับการใช้สิ่งเหล่านี้ หลายคนมากที่บอกว่าทุกวันนี้เราออกจากบ้าน เราลืมกระเป๋าสตางค์ได้ แต่เราลืมมือถือไม่ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง แต่เรามองว่าจริงๆ แล้วถึงแม้เราจะบังคับให้คนปิดมือถือไปเลยไม่ได้ เลิกใช้ไปเลยไม่ได้ แต่เราต้องคิดว่าจะอยู่อย่างไรในการบาลานซ์มันให้ได้ และใช้มันให้เป็น” 

 

ผู้บริหารแบรนด์ AIS เสริมว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของคนทั้งโลกด้วยเช่นเดียวกัน เป็นที่มาของสถานบำบัดอินเทอร์เน็ต เพื่อบำบัดคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้งานโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งที่ จีน เกาหลีใต้ และเริ่มมีในประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ ซึ่งนั่นอาจหมายความว่าปัญหานี้เกิดขึ้นกับคนทั่วโลก และสิ่งเหล่านี้ร้ายแรงเกินกว่าที่ใครหลายคนจะคาดคิด

 

ศึกษาตัวเองให้เข้าใจ พิจารณาว่าอะไรคือความเป็นจริง

สำหรับวิธีการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ต่ออธิบายว่า กระบวนการพิจารณา ศึกษา และทำความเข้าใจตัวเอง คือกระบวนการที่จะป้องกันปัญหานี้ได้ดีที่สุด ซึ่งการที่จะทำแบบนั้นได้ ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ง่ายต่อการเข้าใจตัวเอง ปัญหาอยู่ที่ระบบนิเวศใหม่นี้ถูกออกแบบมาให้เราสนใจแต่เรื่องคนอื่น และทำให้การทำความเข้าใจตัวเองเป็นไปได้ยากขึ้น

 

เมื่อศึกษาตัวเองแล้ว สิ่งที่จะตามมาก็คือความเข้มแข็งที่มากขึ้น หากเข้าใจตัวเอง ก็จะเข้าใจคนอื่นไปได้พร้อมๆ กัน หากเข้าใจตัวเราเองว่าเราคือมนุษย์ ก็จะเข้าใจว่าคำพูดต่างๆ นานาที่ผู้คนก่นด่ากันนั้นไม่มีอยู่จริง ทั้งหมดจับต้องไม่ได้ แล้วเมื่อไรที่สามารถเข้าใจความเป็นจริงที่เกิดจากการรู้จักตัวเองได้ เมื่อนั้นก็จะไม่ทุกข์

 

 

“ในปัจจุบันเราอยู่ในโลกใบนี้จนเราคิดว่ามันเป็นโลกจริงๆ ซึ่งมันไม่ใช่ ถ้าถอยออกมาดูจริงๆ นี่มันแค่โทรศัพท์เครื่องหนึ่งเลยนะ มันแค่วัตถุดำๆ หนึ่งอัน โลกแห่งความเป็นจริงคือนี่ต่างหาก ลม ยุง หมู หมา กา ไก่ ต้นอ้อย ความคัน ความเย็น ความร้อน ความหนาว กิ้งกือ ผีเสื้อ เยอะแยะไปหมดเลย เพียงแค่เราปิดมือถือ เราก็จะเห็นกลไกของระบบนิเวศที่มันเป็นอยู่ เราจะมองเห็นห่วงโซ่ความสัมพันธ์ระหว่างกันไปเรื่อยๆ และเข้าใจคนอื่นในระดับที่ละเอียดขึ้น เราต้องสามารถกระชากตัวเราเองออกมาให้ได้ ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วมันมีอยู่แค่นั้น” 

 

AIS Secure Net & DQ นวัตกรรมการปกป้องพร้อมให้ความรู้

ศิเสนออีกทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหา พร้อมกับแนวคิดว่า ถึงจะไม่สามารถห้ามคนใช้งานอย่างเด็ดขาดได้ แต่การสร้างฐานความเข้าใจให้กับทุกๆ คนนั้นเป็นไปได้

 

“AIS Secure Net และ Family Link เป็นเครื่องมือช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองในการดูแลลูก ในการป้องกันลูก เป็นโปรแกรมที่ถ้าวันนี้พ่อแม่สมัครให้ลูก ลูกจะไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่อาจจะมีเนื้อหาไม่เหมาะสม เช่น เว็บโป๊ เว็บพนันได้ เราจะสกรีนตรงนี้ออกไปทั้งหมดเลย มันเหมือนมีพ่อแม่เข้าไปนั่งอยู่ในมือถือ คอยดูแล ถ้าลูกเกิดเข้าเว็บที่เป็นการพนันขึ้นมา มันก็จะขึ้นกากบาทว่าเข้าไม่ได้”

 

ต่อพร้อมเสริมในเรื่องนี้ว่า “สำหรับพี่ AIS ชี้ให้เห็นว่ากำลังหลักที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ดีที่สุดจริงๆ คือพ่อแม่ ตัวพ่อแม่เองจะต้องศึกษาเรื่องนี้อย่างมาก เขาจะต้องอยู่กับลูกเขาตั้งแต่เกิดมา ตั้งแต่ช่วงเวลาที่เขาควรจะได้รับความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติความเป็นมนุษย์ของตัวเขา ในช่วงเวลานี้ยังไม่ควรจะให้เขาเล่นกับโทรศัพท์มาก เพราะถ้าปล่อยให้เด็กเล่นโดยลำพังตอนนี้ เราอาจจะต้องไปแก้ปัญหาตอนเขาโต และนั่นจะเป็นภาระที่หนักกว่าไม่รู้กี่ร้อยเท่า” 

 

ส่วน DQ (Digital Intelligence Quotient) เป็นเหมือนมาตรวัดความฉลาดทางดิจิทัล คล้ายกับ IQ และ EQ และเป็นโปรแกรมการเรียนรู้เรื่องการใช้โลกดิจิทัลอย่างถูกวิธี มีแบบทดสอบสำหรับเด็กตั้งแต่เรื่องสกรีนไทม์ ไปจนถึงเรื่องการบูลลี่ ซึ่งหลายคนยังไม่รู้ตัวว่ากำลังบูลลี่คนอื่นอยู่ สอนวิธีการรับมือเมื่อถูกบูลลี่ในโลกออนไลน์ รวมถึงการใช้ดิจิทัลให้เป็นประโยชน์โดยไม่เดือดร้อนคนอื่น โดย DQ เป็นบทเรียนที่อยู่ใน e-Learning ที่ผู้ปกครอง ครู หรือโรงเรียนที่ต้องการจะให้ความรู้กับเด็กในเรื่องเหล่านี้ก็สามารถดาวน์โหลดเอาไปใช้ได้

 

 

ในขณะที่ต่อพูดถึงโลกออนไลน์ในมุมมองของมีดที่คมกริบ ศิเล่าว่าสิ่งเดียวกันนี้อาจเทียบได้กับโรคร้ายที่สามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายทุกคนได้ โดยมี DQ เป็นยาที่ไม่ได้แค่รักษาที่ปลายทาง แต่ยังสามารถปกป้องทุกๆ คนได้ตั้งแต่ต้นทางในเวลาเดียวกัน

 

“คนอาจจะยังไม่ได้คุ้นกับคำว่า DQ มากเหมือนกับ IQ EQ เขาเพิ่งรู้ว่าจริงๆ แล้วการเล่นที่ถูกต้องควรจะต้องมีภูมิคุ้มกัน เหมือนเป็นวัคซีนที่เด็กต้องฉีดเพื่อป้องกันโรคร้าย โลกดิจิทัลก็เหมือนกัน ถ้าวันนี้เด็กจะสัมผัสกับดิจิทัลก็ควรจะต้องมีวัคซีนนี้” 

 

เราทุกคนต้องช่วยกัน ถ้าเราทุกคนคือเครือข่าย

จากปัญหาเหล่านี้จึงเกิดเป็นภาพยนตร์โฆษณา ‘เราทุกคนต้องช่วยกัน ถ้าเราทุกคนคือเครือข่าย’ ที่เล่าถึงปัญหาของเด็กที่กำลังเผชิญหน้ากับระบบนิเวศใหม่ และถูกมันทำร้ายจากการใช้งานที่ไม่ถูกวิธี ซึ่งต่อได้เล่าถึงขั้นตอนการทำงาน ว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้เข้าไปเจอปัญหา ได้ศึกษา และได้หาวิธีแก้ไขไปพร้อมๆ กับทีมงาน โดยเลือกตัวแสดงที่มีปัญหาจริงๆ และได้มีโอกาสพูดคุยถึงปัญหาเหล่านั้นอย่างจริงจัง

 

อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับภาพยนตร์มากประสบการณ์ ย้ำว่า “เวลาถ่ายพี่ก็ไม่ได้พูดอะไรเลย พี่ก็ปล่อยให้เขาพูดตามสิ่งที่เขาเป็น พี่พยายามไม่ให้ความคิดพี่เข้าไปรบกวนระบบนิเวศของเขา เวลาเขาร้องไห้ เขารู้สึกจากตัวเขาเอง พี่จะพยายามไม่ใช้ตัวแสดงที่แอ็กติ้ง ไม่เป็นธรรมชาติ คืออยากศึกษาในกระบวนการศึกษาความจริงโดยใช้หนังเรื่องนี้ แล้วพี่ก็พบว่ามันดีมาก อย่างพ่อแม่ที่ร้องไห้ พี่ก็ไม่ได้ทำอะไรเลยนะ เขารู้สึกเขาก็เลยร้องไห้ ถึงจะไม่ใช่พ่อแม่แท้ๆ แต่ทุกคนจริงหมด เพราะเขามีลูกที่เป็นอย่างนี้จริงๆ พี่ให้เขาดูคลิปที่พี่ถ่ายเด็กคนนี้พูดถึงพ่อแม่ตัวเอง แล้วเรื่องมันก็ส่งถึงกัน

 

“วันนี้เรานำเสนอไอเดีย ‘ถ้าเราทุกคนคือเครือข่าย’ คำว่าเครือข่ายที่เราใช้ เราหมายถึงทุกคน เรามองว่าจริงๆ แล้วทุกคนสามารถเป็นเครือข่ายที่ช่วยกันทำให้เรื่องนี้มันลดอันตรายหรือลดปัญหาลงไปได้ อย่างเซอร์วิสที่เราทำออกมา ไม่ว่าจะเป็น Secure Net หรือ DQ ก็จะเห็นว่าเราไม่ได้ห้ามเขาใช้ เพราะเราให้เขาหยุดใช้ไม่ได้ แต่จะใช้อย่างไรให้รู้สึกว่ามันเป็นแค่เครื่องมือเครื่องมือหนึ่งที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับเขาได้เท่านั้นเอง แล้วเราก็หวังว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้พ่อแม่ได้รู้ว่า การปล่อยให้เขาใช้อย่างไม่ถูกวิธี หรือมีการแนะนำที่ไม่ถูกต้องจะก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง” ศิเล่าถึงแนวคิดสำคัญของเคมเปญนี้ ที่พร้อมจะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

 

 

ทุกวันนี้ ดูเหมือนว่าโลกดิจิทัลจะถูกพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะอันตรายขึ้นในทุกๆ วัน โดยที่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าพัฒนาการเหล่านั้นจะพาอันตรายใดๆ มาอีกบ้าง ประโยชน์ที่ถูกสร้างนั้นมีหลากหลาย แต่โทษที่ตามมาก็มีมากมายไม่แพ้กัน 

 

อย่างไรก็ตาม ทุกปัญหาล้วนมีทางออก ในวันนี้ AIS ร่วมกับฟีโนมีนา พร้อมสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ให้กับสังคม ให้รู้ว่าถ้าทุกคนช่วยกัน เรายังสามารถป้องกันสิ่งเหล่านี้ได้ ให้รู้ว่าโลกใบนี้กว้างใหญ่กว่าที่ใครหลายคนคิด ให้ได้กลับไปคิด ได้กลับไปมองสิ่งที่อยู่ในมือของเราใหม่อีกครั้ง ให้ได้มองเห็นว่ามันเป็นเพียงมีดคมๆ เล่มหนึ่ง เป็นเพียงแค่เครื่องมือ เป็นเพียงแค่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เวลาใช้มันต้องใช้อย่างมีสติ มีปัญญา และต้องพร้อมที่จะติดอาวุธทางปัญญาให้แข็งแกร่ง 

 

เพื่อที่ทุกคนจะสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างเต็มที่ 

 

เพื่อที่โทษเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับคนที่เรารัก

 

เพื่อที่จะได้ไม่ลืมว่า หากจะใช้มีดให้ได้ดี สิ่งที่ต้องมีคือความเข้าใจ

 

เพราะเราทุกคนสามารถช่วยกันได้ ‘ถ้าเราทุกคนคือเครือข่าย’ เดียวกัน

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising