บรรยากาศเมื่อเช้าวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เต็มไปด้วยความคึกคัก เนื่องจากมีการจัดงานวันปรีดี พนมยงค์ประจำปี ถึงแม้สภาพอากาศจะไม่เป็นใจนัก แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคจากประชาชนทุกเพศทุกวัยที่มีความสนใจทยอยกันเข้าร่วมงาน
ซึ่งไฮไลต์เด่นของงานนี้ คือการอภิปรายเรื่อง ‘อภิวัฒน์สยาม 2562: ความหวังและอนาคตประเทศไทย’ โดยมีผู้ร่วมอภิปรายจาก 4 นักการเมืองคนรุ่นใหม่ ขณะที่บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน นอกจากเสียงปรบมือและเสียงชื่นชมความคิดอ่านของผู้เสวนาบนเวที ภาพสะท้อนเหล่านี้อาจหมายรวมถึง ‘ความหวัง’ ของพวกเขาอีกด้วย
บนเวทีวันนี้ ผู้ร่วมการอภิปรายจาก 4 ขั้ว 4 พรรค ไล่เรียงตั้งแต่ นางสาวขัตติยา สวัสดิผล จากพรรคเพื่อไทย ดร.รัชดา ธนาดิเรก จากพรรคประชาธิปัตย์ นายวราวุธ ศิลปอาชา จากพรรคไทยพัฒนา และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคอนาคตใหม่ และมีผู้ดำเนินรายการคือพิธีกรฝีปากคม คุณเสถียร วิริยะพรรณพงศา จากสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี
หากประเทศไทยเกิดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จริง คิดว่าการเลือกตั้งนั้นจะนำไปสู่อะไร คุณเสถียรเริ่มโยนคำถามแรกสู่วงสนทนา
วราวุธ: กล่าวว่าคนไทยนั้นมีความคาดหวังต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ และเป็นการเลือกตั้งที่คนรุ่นใหม่หลายล้านคนจะได้เข้ามามีส่วนร่วมครั้งแรก ซึ่งจะสามารถเกิดอิมแพ็กขึ้นได้อย่างแน่นอน โดยยกตัวอย่างถึงพลังของคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนสำคัญต่อชัยชนะของมหาเธร์ในการเลือกตั้งมาเลเซียครั้งที่ผ่านมา
ดร.รัชดา: ย้ำว่าคนไทยต้องมีความหวัง โดยกว่าการเลือกตั้งจะสำเร็จผลดีนั้น ต้องผ่านการเลือกผู้แทนที่สามารถปกป้องผลประโยชน์ได้จริง และภาคประชาชนจำเป็นต้องรู้ทันนักการเมือง โดยในช่วงเวลาที่ยังไม่มีการเลือกตั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ประชาชนจะได้ศึกษานโยบายต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นและผลลัพธ์ของนโยบายนั้น
ขัตติยา: เชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ซึ่งผ่านช่วงชีวิตวัยประมาณ 18-24 ปีโดยไร้การเลือกตั้งว่าต้องการเปลี่ยนแปลง และต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนั้น และเชื่อถึงความงามของประชาธิปไตยที่ได้เติบโตไปโดยไม่มีอำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง
ธนาธร: เริ่มต้นด้วยการประกาศตัวว่ายินดีมากที่ได้ร่วมงานนี้ เพราะตนเองก็เคยเป็นนักศึกษาเข้าร่วมจัดงาน 100 ปี ชาตกาล ปรีดี มาก่อน และตนคงจะไม่ต้องพูดยกย่องอาจารย์ปรีดีเพราะมีผู้ที่สามารถกล่าวถึงอาจารย์ได้อย่างยอดเยี่ยมกว่าตนอยู่มากมาย ก่อนจะพูดถึงประเด็นนี้ว่าการอภิวัฒน์สยามที่เราพูดถึงกันในปัจจุบันต้องทบทวนกันไปถึงปี 2475 ที่จิตสำนึกในความเป็นพลเมืองของเราได้เพิ่มขึ้น ประชาชนมีอำนาจต่อรัฐอย่างไร เราเดินหน้ากันมาจากปี 2475 แค่ไหน ประชาชนต้องนำจิตวิญญาณนั้นกลับมาอีกครั้ง
ขณะที่ทั้งห้องเริ่มเข้าสู่ความสนใจในสิ่งที่ผู้พูดบรรยาย คำถามที่สองก็ถูกปล่อยออกมาอย่างน่าสนใจ
เมื่อพูดถึงประชาธิปไตยในรากฐานเศรษฐกิจนั้น จะมีวิธีการลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร
วราวุธ: พูดถึงเรื่องโครงสร้างของระบบการจัดการ โดยเฉพาะในตัวเมืองกับต่างจังหวัดที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก ต้องค่อยๆ จัดการทั้งระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข การรักษาพยาบาลไปจนถึงระบบภาษี อาจต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งหรือสองรัฐบาลเพื่อค่อยๆ แก้ปัญหานี้ และการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการให้โอกาสประชาชนเข้าถึงสิทธิดังกล่าว
ดร.รัชดา: ตั้งประเด็นว่าคนจนต้องได้รับการดูแล โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ซึ่งพรรคนั้นเน้นย้ำในเรื่องการที่ชาวบ้านต้องมีที่ทำกิน และพูดถึงการศึกษาที่เท่าเทียมกันจะเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจที่ความเหลื่อมล้ำน้อยลง สถาบันการศึกษาที่ดีได้มาตรฐานมีน้อย ต้องทำการกระจายอำนาจไปสู่แต่ละพื้นที่เพื่อให้ทรัพยากรดีๆ มีอย่างทั่วถึง และให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหาร
ขัตติยา: ยกวาทกรรมความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรมขึ้น เพื่อชูประเด็นการคมนาคมที่ควรจะยกระดับโครงสร้างเส้นทางการคมนาคมขึ้น โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ เพื่อกระจายความเจริญสู่พื้นที่ต่างจังหวัด เมื่อผู้คนมีรายได้มากขึ้น ฐานภาษีที่มากขึ้นก็จะช่วยในเรื่องเศรษฐกิจแต่ละท้องที่ ซึ่งทางพรรคมีนโยบายวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ไว้เพื่อป้องกันการผูกขาดอยู่ด้วย
ธนาธร: ยกตัวอย่างจากเหตุการณ์น้ำท่วม เมื่อมีเหตุการณ์ใดที่มีคนได้-เสียผลประโยชน์จากการตัดสินใจโดยอำนาจรัฐต้องมีการดูแลชดเชย เพราะบางอย่างไม่ใช่เรื่องของความโชคร้ายแต่เป็นเรื่องของการเข้าถึงสิทธิทางการเมืองที่ยังขาดอยู่มาก พร้อมบอกว่าอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรของประเทศนั้นเป็นของรัฐมากเกินไป ต้องแบ่งอำนาจส่วนนี้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนดูแลตัดสินใจด้วย
หากท่านได้มีโอกาสเป็นนายกหนึ่งวัน จะแก้ปัญหาอะไรเป็นการเร่งด่วนที่สุด คุณเสถียรดำเนินรายการต่อด้วยคำถามกึ่งชวนหัวออกมาเรียกได้ทั้งเสียงหัวเราะและความสนใจของผู้ร่วมฟังในงาน
วราวุธ: กล่าวถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 60 และถ้ามีโอกาสอยากจะจัดตั้ง ส.ส.ร. ใหม่อีกครั้ง เพราะเห็นว่าในอดีตเคยมีการจัดตั้งและเชื่อว่าประเทศสามารถเลือกผู้แทนได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่น้อยหน้าประเทศอื่นในโลก ถ้ามีโอกาสจึงอยากจะทำและพยายามจะทำอย่างเต็มที่แม้อาจไม่ดีเท่าครั้งคุณพ่อ (บรรหาร ศิลปอาชา) ก็ตาม เป็นจังหวะเรียกเสียงปรบมืออย่างกึกก้องภายในงานได้อย่างสวยงาม
ดร.รัชดา: จะทำการกระจายอำนาจเป็นหลัก โดยแบ่งเป็นสามประเด็นคือ การกระจายอำนาจตำรวจไม่ให้มีอำนาจรวมศูนย์ ก็จะสามารถทำให้ปัญหาการใช้อำนาจในทางมิชอบลดลง กระจายการศึกษาให้แต่ละพื้นที่มีองค์กร บุคลากรที่มีคุณภาพ สร้างประชาชนให้ได้รับการศึกษาที่ดีและเท่าเทียมกัน ประการสุดท้ายคือการกระจายอำนาจการปกครองแต่ละท้องที่ และทางพรรคต้องการให้เกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นหากเป็นไปได้
ขัตติยา: ต้องการนำรัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้ใหม่เพราะเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน ประชาชนไม่ถูกริดรอนเสรีภาพ จากนั้นจึงเริ่มร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีความทันสมัยมากขึ้น พร้อมตอบคำถามของคุณเสถียรว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้นไม่มีความจำเป็นเพราะเป็นช่วงระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป ไม่สามารถปรับตัวทันต่อโลกปัจจุบันที่มีข้อมูลความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา
ธนาธร: เชื่อว่าสิ่งที่สำคัญคือการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 60 ด้วยการรวมพลังของคนในชาติในการผลักดันเป็นวาระสังคม เพราะตัวรัฐธรรมนูญปี 60 นั้นแทบจะไม่สามารถแตะต้องในทางกฎหมายได้ พร้อมตอบคำถามพิธีกรเรื่องความถดถอยของรัฐธรรมนูญนั้น เพราะเกิดการรัฐประหารบ่อยครั้ง ทำให้การกระจายอำนาจถดถอยลงไป แล้วที่สำคัญคือการไม่ลดบทบาทของทหารในรัฐธรรมนูญปี 40 ทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีก
พร้อมยังเชิญชวนให้นักการเมืองทุกฝ่ายกลับมาช่วยกันพัฒนาประเทศหลังจากเกิดการเลือกตั้งในครั้งนี้
จากนั้นก็ยังมีคำถามจากผู้ฟังถึงการเปิดบ่อนคาสิโนในไทย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ร่วมเสวนาตอบถึงทิศทางเรื่องนี้คล้ายคลึงกันว่า ควรเป็นเรื่องที่ทำให้ถูกต้องพร้อมควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัด
คำถามเรื่องการศึกษา ที่ผู้ร่วมเสวนาหลายคนเห็นว่าควรปฏิรูประบบให้ครูได้มีการวัดคุณสมบัติที่เหมาะสม มีสวัสดิการที่ดีขึ้นเพื่อดึงดูดผู้มีความสามารถ และระบบที่ทำให้ได้ใช้เวลาเต็มที่กับการสอน
นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นที่น่าสนใจของขัตติยาว่า การศึกษาระดับสูงควรปรับเปลี่ยนให้เข้ากับคนมีอายุมากขึ้น
ทางด้าน ดร.รัชดา เสริมว่าการศึกษาในปัจจุบันควรยืดหยุ่นตามสังคม มหาวิทยาลัยสามารถมีคอร์สสั้นๆ แทนการเรียนลึก 4 ปีแล้ว จากรูปแบบการจ้างงานในปัจจุบัน หรือทางมหาวิทยาลัยบางแห่งต่างประเทศสามารถให้นักศึกษาที่จบแล้วกลับมาเรียนต่อได้ เป็นต้น
ด้านธนาธรให้ความเห็นว่าควรให้ท้องถิ่นกำหนดหลักสูตรเอง และผลักดันการสอนเรื่องสิทธิพลเมือง
ส่วนคำถามเรื่องนิยามของประชาธิปไตยและการถือฉันทามติใดที่ทำให้เราเดินต่อไปได้
โดยวราวุธเน้นย้ำเรื่องเสียงที่เท่าเทียมของประชาชนและการมีวินัยเคารพกฎกติกา ดร.รัชดากล่าวเรื่องสภาพแวดล้อมของประชาธิปไตยที่ต้องเน้นผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เคารพกฎหมายและต่อต้านการทุจริต
ขัตติยากล่าวถึงการมีสิทธิเสรีภาพ และการมาถึงของคนรุ่นใหม่ที่ควรละความขัดแย้งที่เป็นเรื่องของคนยุคเก่า และถึงเวลาร่วมกันแก้ไขพัฒนาประเทศจึงจะสามารถเกิดการเมืองแบบใหม่ที่ใกล้ตัวคนรุ่นใหม่ได้
ส่วนธนาธรกล่าวถึงนิยามของประชาธิปไตยว่าให้มองความสำคัญของหลักการที่มาจาก 2475 คือการที่อำนาจอยู่ที่ประชาชน แล้วในรายละเอียดที่ว่าการสมดุลอำนาจของรัฐต่อการบริหารให้ประชาชนตัดสิน
ธนาธรยังกล่าวอีกว่าให้ระวังเรื่องวาทกรรมการต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะเป็นวาทกรรมที่ทำให้คนกลัวนักการเมือง และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่เลวร้ายให้กับนักการเมือง
“ผมย้ำเสมอว่าอาชีพผู้แทนมีได้เพราะมีประชาธิปไตย เพราะทุกคนไม่สามารถมาคุยตกลงกันได้โดยตรง อาชีพผู้แทนจึงเป็นอาชีพที่สง่างาม และได้รับความไว้วางใจ” ธนาธรกล่าว
และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากตัวแทน 4 ค่ายการเมือง ที่ประกาศเสนอตัวเป็นทางเลือกให้กับประชาชน พร้อมๆ กับแสดงทัศนะถึงอนาคตและความหวังที่จะสร้างประเทศไทย ซึ่งสุดท้ายแล้ว ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่า ‘อนาคตและความหวัง’ ที่ว่านี้ ใช่ ‘อนาคตและความหวัง’ ของพวกเขาจริงหรือไม่