×

กลุ่มตาลีบันบนขุมทรัพย์แร่ธาตุล้ำค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ที่โลกต้องการ

โดย THE STANDARD TEAM
19.08.2021
  • LOADING...
ตาลีบัน

การล่มสลายของรัฐบาลพลเรือนอัฟกานิสถานต่อกลุ่มตาลีบันได้ก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมืองและวิกฤตมนุษยธรรมที่ทั่วโลกกำลังจับตา และในขณะเดียวกันยังเกิดคำถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงด้วยว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับทรัพยากรแร่ของอัฟกานิสถานที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์และยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์

 

แหล่งขุมทรัพย์แร่ธาตุ 1 ล้านล้านดอลลาร์

อัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก แต่ในปี 2010 เจ้าหน้าที่ทหารและนักธรณีวิทยาของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ประเทศที่ตั้งอยู่ระหว่างเอเชียกลางและเอเชียใต้แห่งนี้มีขุมทรัพย์เป็นแหล่งแร่มูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งสามารถพลิกโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศได้แบบหน้ามือเป็นหลังมือ

 

แร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก ทองแดง และทองคำ กระจัดกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ของประเทศ นอกจากนี้ อัฟกานิสถานยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุหายาก และที่สำคัญที่สุดคือ อาจเป็นแหล่งแร่ลิเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยลิเทียมถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่แบบชาร์จซ้ำได้ ตลอดจนเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีบทบาทต่อการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

 

ร็อด ชูโนเวอร์ นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Ecological Futures Group กล่าวว่า อัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในประเทศที่มีทรัพยากรแร่ธาตุมั่งคั่งที่สุด ไม่เพียงเฉพาะโลหะมีค่าทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงโลหะที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจเกิดใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความท้าทายด้านความมั่นคง การขาดโครงสร้างพื้นฐาน และภัยแล้งรุนแรง ได้ขัดขวางความพยายามในการสกัดแร่ธาตุเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ และสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างปุบปับในเร็วๆ นี้ภายใต้การควบคุมของกลุ่มตาลีบัน แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีความสนใจจากประเทศอื่นๆ เช่น จีน ปากีสถาน และอินเดีย ที่หวังจะได้เข้ามาคว้าส่วนแบ่งในขุมทรัพย์มูลค่ามหาศาลนี้

 

ศักยภาพมหาศาล

โอกาสทางเศรษฐกิจของอัฟกานิสถานนั้นมืดมนอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะประกาศถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมายึดครองประเทศโดยกลุ่มตาลีบัน 

 

ในปี 2020 ประมาณ 90% ของชาวอัฟกันมีชีวิตความเป็นอยู่ต่ำกว่าระดับความยากจนที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 2 ดอลลาร์ต่อวัน ตามการรายงานจาก US Congressional Research Service ที่เผยแพร่ในเดือนมิถุนายน ขณะที่ธนาคารโลกระบุในแฟ้มข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับประเทศอัฟกานิสถานว่า เศรษฐกิจของประเทศยังคงเปราะบางและพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอก

 

“การพัฒนาและการกระจายการลงทุนของภาคเอกชนถูกจำกัดด้วยความไม่มั่นคง ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง สถาบันที่อ่อนแอ โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ การทุจริตในวงกว้าง และสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจที่ยากลำบาก” World Bank ระบุในรายงานเดือนมีนาคม

 

หลายประเทศที่มีรัฐบาลอ่อนแอต้อง ‘คำสาปทรัพยากร’ (Resource Curse) คือแม้จะมีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล แต่กลับไม่สามารถนำมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหรือสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้ แต่ถึงกระนั้น การเปิดเผยเกี่ยวกับความมั่งคั่งด้านทรัพยากรแร่ของอัฟกานิสถาน ก็ได้จุดประกายความหวังให้กับอนาคตของประเทศ

 

ความต้องการโลหะ เช่น ลิเทียม และโคบอลต์ รวมถึงแร่ธาตุหายาก เช่น นีโอไดเมียม กำลังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากหลายประเทศเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีสะอาดอื่นๆ กันมากขึ้น เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน

 

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เปิดเผยเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า โลกจำเป็นต้องมีอุปทานลิเทียม ทองแดง นิกเกิล โคบอลต์ และธาตุหายากเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มิฉะนั้นความพยายามในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจประสบกับความล้มเหลว โดยปัจจุบันผลผลิตลิเทียม โคบอลต์ และแร่ธาตุหายากจาก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน คองโก และออสเตรเลีย คิดเป็น 75% ของผลผลิตทั่วโลก

 

ข้อมูลจาก IEA ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วรถยนต์ไฟฟ้าต้องการแร่ธาตุมากกว่ารถยนต์ทั่วไปถึง 6 เท่า ลิเทียม นิกเกิล และโคบอลต์มีความสำคัญต่อแบตเตอรี่ นอกจากนี้ โครงข่ายไฟฟ้าก็ต้องใช้ทองแดงและอะลูมิเนียมจำนวนมากเช่นกัน ในขณะที่แร่ธาตุหายากนั้นจะถูกนำไปใช้ในแม่เหล็ก ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นต่อการสร้างกังหันลม

 

มีรายงานว่ารัฐบาลสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า อัฟกานิสถานอาจมีแหล่งลิเทียมมากพอๆ กับโบลิเวีย ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเป็นประเทศที่มีแหล่งแร่ลิเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

“หากอัฟกานิสถานอยู่ในสถานการณ์ที่สงบสักสองสามปี ก็จะเปิดทางให้มีการพัฒนาทรัพยากรแร่ และอาจทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในด้านนี้ภายในหนึ่งทศวรรษ” ซาอิด เมียร์ซาด จากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ กล่าวกับนิตยสาร Science เมื่อปี 2010

 

ยิ่งมีอุปสรรค

โมซิน ข่าน สมาชิกอาวุโสของ Atlantic Council และอดีตผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียกลาง กล่าวว่า ความสงบนั้นไม่เคยมาถึง และแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ของอัฟกานิสถานก็ยังคงอยู่ในพื้นดิน

 

แม้ว่าจะมีการสกัดทองคำ ทองแดง และเหล็กบางส่วน แต่การใช้ประโยชน์จากลิเทียมและแร่ธาตุหายากนั้นจำเป็นต้องมีการลงทุนและความรู้ด้านเทคนิคที่มากขึ้น อีกทั้งยังต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ซึ่ง IEA ประมาณการว่าอาจใช้เวลา 16 ปีโดยเฉลี่ย ตั้งแต่การค้นพบแหล่งแร่สำหรับการทำเหมือง ไปจนถึงการเริ่มต้นการผลิต

 

ปัจจุบันแร่ธาตุสร้างรายได้เพียง 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในอัฟกานิสถาน ข่านประมาณการด้วยว่า 30-40% ของรายได้ดังกล่าวถูกยักยอกจากการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งยังถูกหาประโยชน์โดยกลุ่มตาลีบัน ซึ่งเป็นประธานในโครงการเหมืองแร่ขนาดเล็กหลายโครงการ

 

ชูโนเวอร์กล่าวว่า ยังพอจะมีโอกาสที่กลุ่มตาลีบันจะเข้ามาพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าคงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากกลุ่มตาลีบันคงจะต้องมุ่งความสนใจไปที่ประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับความมั่นคงและมนุษยธรรมก่อน

 

“กลุ่มตาลีบันได้อำนาจมาแล้ว แต่การเปลี่ยนจากกลุ่มกบฏมาเป็นรัฐบาลแห่งชาตินั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย” โจเซฟ พาร์กส์ นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในเอเชียของ Verisk Maplecroft ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงกล่าว “การกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในระยะเริ่มต้นน่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี” 

 

ข่านตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาการลงทุนจากต่างประเทศเป็นเรื่องยากอยู่แล้วก่อนที่กลุ่มตาลีบันจะโค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนของอัฟกานิสถานที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตก ยิ่งมาตอนนี้การดึงดูดเงินลงทุนจากภาคเอกชนจะยิ่งทำได้ยากขึ้น “ใครจะไปลงทุนในอัฟกานิสถาน ในเมื่อพวกเขาไม่เคยคิดที่จะลงทุนมาก่อน” ข่านกล่าว “นักลงทุนเอกชนจะไม่เสี่ยง”

 

นอกจากนี้ การกำหนดขอบเขตของสหรัฐฯ อาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเช่นกัน โดยถึงแม้ตาลีบันไม่ได้ถูกสหรัฐฯ กำหนดอย่างเป็นทางการว่าเป็นองค์กรก่อการร้ายต่างประเทศ (Foreign Terrorist Organization) แต่ตาลีบันก็ถูกขึ้นบัญชีผู้ก่อการร้ายระดับโลกซึ่งเป็นที่ต้องการตัวมากเป็นพิเศษ (Specially Designated Global Terrorist) โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และบัญชีผู้มีสัญชาติที่ถูกกำหนดโดยเฉพาะ (Specially Designated National)

 

โอกาสของจีน? 

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเรื่องของเอกชน เพราะโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐอาจให้ภาพที่ต่างออกไป โดยจีน ซึ่งเป็นผู้นำของโลกในอุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่หายาก กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า จีนยังคงติดต่อและสื่อสารกับกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน

 

“จีน ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน กำลังเริ่มโครงการพัฒนาพลังงานสีเขียวที่สำคัญมาก” ชูโนเวอร์กล่าว “ลิเทียมและแร่หายากยังไม่สามารถถูกแทนที่ได้ เนื่องจากความหนาแน่นและคุณสมบัติทางกายภาพ แร่ธาตุเหล่านั้นเป็นปัจจัยสำคัญในแผนระยะยาวของจีน”

 

ขณะเดียวกัน ชูโนเวอร์แสดงความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนของโครงการเหมืองแร่ หากจีนก้าวเข้ามาลงทุน เมื่อพิจารณาจากประวัติที่ผ่านมาของจีน

 

“เมื่อการทำเหมืองไม่ได้ทำอย่างระมัดระวังอาจเป็นการทำลายระบบนิเวศ ซึ่งเป็นอันตรายต่อประชากรบางกลุ่มที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงที่จะพูดมากนัก” เขากล่าว

 

แต่ปักกิ่งอาจยังลังเลที่จะร่วมทุนกับกลุ่มตาลีบัน เนื่องจากความไม่มีเสถียรภาพ และอาจหันไปลงทุนในประเทศอื่นแทน โดยข่านชี้ว่าจีนนั้นเคยเจ็บมาก่อนจากการลงทุนในโครงการทองแดง แต่ต้องหยุดชะงักในเวลาต่อมา

 

โฮเวิร์ด ไคลน์ หุ้นส่วนของ RK Equity ผู้ให้คำแนะนำแก่นักลงทุนเกี่ยวกับการลงทุนในลิเทียม กล่าวว่า “ผมเชื่อว่าจีนจะให้ความสำคัญกับประเทศเกิดใหม่อื่นๆ ก่อนอัฟกานิสถานที่มีกลุ่มตาลีบันเป็นผู้นำ”

 

ภาพ: Paula Bronstein / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X