หากการแต่งงานของ ปอย ตรีชฎา และ โอ๊ค-บรรลุ หงษ์หยก เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดขึ้นเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว คุณคิดว่าพาดหัวข่าวของเรื่องนี้จะเป็นแบบไหน? แต่ในยุคปัจจุบัน นี่คือการพิสูจน์ว่าความรักชนะทุกสิ่ง และการยอมรับทั้งในระดับครอบครัวและสังคม ที่ไม่ใช่แค่การเป็น ‘ผู้หญิงคนหนึ่ง’ แต่คือการเป็น ‘คนคนหนึ่ง’ ที่มีสิทธิ์จะประสบความสำเร็จทั้งการงานและความรัก ไม่ว่าจะอยู่ในเพศไหนก็ตาม
ผู้เขียนติดตามชีวิตของปอย ตรีชฎา มาตั้งแต่ช่วงที่ได้ตำแหน่ง Miss Tiffany ปี 2004 และ Miss International Queen ในปีเดียวกัน และยอมรับว่าช่วงแรกๆ มีความรู้สึกลบกับเธอด้วยซ้ำ เพราะปอยมีจริตบางอย่างที่ดูไม่เป็นธรรมชาติเอาเสียเลย ในช่วงที่ล้มลุกคลุกคลานในวงการบันเทิง ปอยคือสาวประเภทสองคนแรกๆ ที่ไม่ตลก (*ผู้เขียนใช้คำว่า สาวประเภทสอง ซึ่งเป็นคำที่ถูกใช้ในอดีต รวมไปถึงทัศนติของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อสาวประเภทสองในเวลานั้น) ซึ่งมีบทบาทให้เธอเล่นน้อยมาก จนกระทั่งในปี 2013-2017 ที่ถือว่าเป็นยุคทองของปอยจากการได้ไปเล่นภาพยนตร์ฮ่องกง และมีงานละครไทยในบทนางเอกจากเรื่อง นางแค้น ทำให้หลายสื่อสนใจจนเธอได้เสนอแนวคิดและเรื่องลึกๆ ที่มากกว่าการเป็นแค่สาวประเภทสองที่เคยสวยที่สุดในโลก
ปอยเล่าว่ามีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กผู้หญิงมาตลอด และพยายามพิสูจน์เรื่องนี้หลายครั้ง ทั้งการพยายามทำให้คุณครูยอมรับและชวนเธอไปห้องน้ำผู้หญิง ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธตัวเองไม่ได้ว่าเธอนั้นแตกต่าง ยิ่งไปกว่านั้น การเข้าไปรวมกลุ่มในสังคมเด็ก LGBTQIA+ ก็กลับไม่ใช่ที่ของเธอ ในยุคที่สังคมยังเหมารวมภาพลักษณ์ของ LGBTQIA+ เพียงไม่กี่แบบ เป็นเหตุผลให้เธอปกปิดตัวตนให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นผู้หญิงมาโดยตลอด
จากบทสัมภาษณ์หลายๆ ครั้งทำให้รู้สึกได้ว่าเธอคงสวมบทบาทผู้หญิงธรรมดาไปตลอดชีวิต หากไม่ได้เข้าประกวด Miss Tiffany ที่เป็นการเปิดเผยให้คนทั้งโลกรู้ว่าเธอไม่ใช่ผู้หญิง (ในความเข้าใจของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยเวลานั้น) ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ปอยสับสนเรื่องการวางตัวว่าควรจะใส่จริต ‘เกินหญิง’ หรือเป็น ‘ผู้หญิง’ ธรรมดาแบบที่ใจอยากจะเป็น นำมาสู่บุคลิกที่ถูกตราหน้าว่า ‘แอ๊บ’ ที่ทำให้คนไม่ชอบเธอ
ในความหลากหลายทางเพศ ยังมีความหลากหลายทางบุคลิกซ่อนอยู่ด้วย ไม่ผิดเลยที่ปอยและอีกหลายๆ คนอาจจะมีบุคลิกบางอย่างที่ไม่เป็นไปในแบบที่สังคมเหมารวม แต่ท้ายที่สุดเราจะแกร่งพอที่จะต้านแรงกดดันนั้นได้ไหม เธอยอมรับว่าก็เคยเป๋ไปและมีค่านิยมผิดๆ จนกระทั่งค้นพบว่าสิ่งที่ดีที่สุดนั้นคือความเป็นตัวเอง จนเป็นจุดเริ่มต้นให้ปอยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ และกลายเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง โดยไม่ต้องปกปิดเรื่องราวในอดีต
ปอยคือผู้หญิงข้ามเพศคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อนักแสดงดาวรุ่งหญิง รางวัลนาฏราช ในปี 2017 ถึงจะไม่ได้รางวัล แต่ก็สร้างขอบเขตใหม่ๆ ให้กับสังคมไทย และในยุคทองของเธอก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลต่างๆ ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง ในปี 2018 ขณะที่ผู้เขียนยังทำนิตยสารอยู่ ก็ได้ใส่ชื่อของปอยเข้าชิงไปในสาขา Female Hot Stuff หรือตำแหน่งผู้หญิงที่สวยที่สุดในสายตาผู้หญิงของงาน OK! Awards 2018 เพราะไม่มีข้อกังขาใดๆ ในตัวเธออีกต่อไป
ก่อนหน้านั้น ผู้เขียนเคยเจอปอยที่งานเดียวกันในปี 2014 ซึ่งเป็นช่วงที่ปอยกำลังสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ จำได้ว่าปอยสวมชุดราตรียาวของ Ralph Lauren โดยไม่นั่งเลยตลอดทั้งงานเพราะกลัวชุดยับ และภาพที่ออกมาจะไม่สมบูรณ์แบบ ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่นี่คือความจริงจังและเก็บรายละเอียด จนทำให้เธอได้เป็นในสิ่งที่เธออยากเป็นในที่สุด
ในช่วงเวลาเดียวกันก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ปอยในช่วงที่เริ่มต้นทำธุรกิจโรงงานเครื่องสำอาง ซึ่งปอยก็เล่าเรื่องที่ทำได้ออกมาเป็นฉากๆ ทั้งที่ตอนนั้นเพิ่งดรอปเรียนจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาเทคโนโลยีเครื่องสำอาง ที่มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ได้ไม่นาน ซึ่งถ้าหากย้อนดูประวัติการเรียนของเธอก็เรียกได้ว่ากว่าจะเจอทางที่ชอบจริงๆ ก็ผ่านเส้นทางการเรียนมาหลายรูปแบบ จนปัจจุบันก็กำลังจะสำเร็จปริญญาโท สาขาวิชาพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลและพันธุวิศวกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล
จริงๆ แล้วชีวิตของปอยก็คงคล้ายกับชีวิตของเด็ก LGBTQIA+ หลายๆ คน ที่ต้องผ่านช่วงเวลาสับสนและค้นหาตัวตน แต่แตกต่างตรงความเชื่อที่ว่าเธอเลือกทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ เธออาจจะโชคดีกว่าคนอื่นตรงรูปร่างหน้าตา แต่ถ้าตัดเรื่องนั้นออกไป ทัศนคติที่มีก็น่าจะเป็นแบบอย่างให้หลายๆ คนได้เหมือนกัน
มีความเชื่อที่ฝังหัวคนไทยว่าสาวประเภทสอง มักไม่ประสบความสำเร็จเรื่องความรัก เพราะความผิดแปลกแตกต่าง และการยอมรับจากครอบครัวของแต่ละฝ่าย แต่ปอยก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ทั้งหมด โดยเฉพาะการได้แต่งงานเข้าไปเป็นสะใภ้ของหนึ่งในตระกูลเก่าแก่ที่สุดของภูเก็ต และยังได้รับความเอ็นดูแบบไม่มีเงื่อนไข ในจุดนี้ต้องชื่นชมความใจกว้างของครอบครัวหงษ์หยกที่ไม่ใช่แค่โอบรับผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ยังเป็นการยอมรับความหลากหลายที่บอกผ่านไปถึงสังคมอีกด้วย
แม้ภาพลักษณ์ของปอยอาจจะไม่ใช่นักกิจกรรมที่พูดถึงสมรสเท่าเทียมเป็นประจำ แต่การแต่งงานครั้งนี้ก็ช่วยสร้างขอบเขตใหม่ๆ ให้เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เหมือนๆ กับซีรีส์วายที่ค่อยๆ สร้างทัศนคติใหม่ๆ ให้สังคม และหวังว่าสักวันทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด จะมีโอกาสได้ยืนยันความรัก และได้รับสิทธิ์ในฐานะ ‘คนคนหนึ่ง’ อย่างเท่าเทียม
ภาพ: poydtreechada / Instagram, ภาพแต่งงาน JAKAWIN PHOTOGRAPHY