ยังไม่ทันไร ไล่ชิงเต๋อจากพรรคหมินจิ้นตั่ง (DPP) ก็เผชิญทั้งศึกนอกและศึกใน ศึกนอกนั้นเป็นแรงกดดันจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่จัดการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันเพื่อตอบโต้ท่าที ‘แบ่งแยกดินแดน’ จากสุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นการยิงสัญญาณเตือนนัดแรกของจีน และเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์บทใหม่ระหว่างไทเป-ปักกิ่งที่จะทอดยาวบนถนนขรุขระตลอด 4 ปีข้างหน้า
ส่วนศึกในที่จะโฟกัสในบทความนี้ เป็นแรงกดดันจากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) และไถวันหมินจ้งตั่ง (TPP) โดยสองพรรคที่รวมกันครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติไต้หวัน (Legislative Yuan) ผนึกกำลังกันผลักดันกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นต้องการที่จะเพิ่มอำนาจให้สภาในการตรวจสอบประธานาธิบดี
นี่จึงเป็นบททดสอบสำคัญของไล่ชิงเต๋อ หลังเพิ่งรับตำแหน่งได้เพียง 1 สัปดาห์ ขณะที่ยังมีความท้าทายอีกมากมายรออยู่ข้างหน้าตลอดเทอมนี้
ผลพวงจากการผลักดันกฎหมายของสองพรรคการเมืองไต้หวัน จุดชนวนให้มวลชนออกมาเคลื่อนไหวประท้วง โดยปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ออกมาชุมนุมหลายหมื่นคนที่บริเวณด้านนอกอาคารสภานิติบัญญัติในไทเป และมีแนวร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ
ก่อนอื่นเราไปดูกันว่า ร่างกฎหมายที่กลายเป็นข้อถกเถียงมีอะไรบ้าง ทำไมถึงสร้างความกังวลในสังคมไต้หวัน
กฎหมายแรกเป็นความพยายาม ‘ปฏิรูป’ โดยให้สภานิติบัญญัติมีอำนาจมากขึ้นในการตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งรวมถึงข้อเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจในการไต่สวน สอบสวน หรือขอข้อมูลเอกสารจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล นายทหารชั้นสูง หรือแม้แต่ประธานาธิบดี โดยจะเพิ่มมาตราลักษณะความผิดต่อสภาเข้าไปในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหมายความว่าจะเปิดทางให้มีการลงโทษ หากเจ้าหน้าที่รัฐบาลให้ข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อมูล ซึ่งพรรคหมินจิ้นตั่ง (DPP) มองว่าเป็นเงื่อนไขที่คลุมเครือต่อการตีความทางกฎหมาย และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางมิชอบได้
ลักษณะของอำนาจดังกล่าวยังถูกมองว่ามีความคล้ายคลึงหรือมีบทบาทซ้ำซ้อนกับฝ่ายตรวจสอบที่เรียกว่า Control Yuan ซึ่งเป็นกลไกพิเศษของรัฐบาลที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของ สส. และรัฐบาลอยู่แล้ว
ทำไมกฎหมายนี้สร้างความกังวล
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองว่าร่างกฎหมายปฏิรูปอำนาจสภาอาจกระทบต่อความมั่นคงของไต้หวัน และเป็นการมอบอำนาจให้ฝ่ายนิติบัญญัติมากเกินไป เพราะในบางกรณีเจ้าหน้าที่รัฐบาลหรือกองทัพอาจถูกสั่งให้เปิดเผยข้อมูลสำคัญที่มีความอ่อนไหว ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหา เนื่องจากมีสมาชิกสภานิติบัญญัติบางคนที่ถูกกล่าวหาว่าลักลอบส่งข้อมูลให้จีน
ประชาชนที่ออกมาประท้วง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่กังวลว่า ร่างกฎหมายนี้เป็นความพยายาม ‘ยัดเยียด’ ผ่านกระบวนการของสภาโดยที่ไม่มีการอภิปราย หรือปราศจากการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้แล้ว อาจส่งผลให้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติถูกทำลาย และเป็นภัยต่อประชาธิปไตยไต้หวัน
ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคำถามจากหลายฝ่ายด้วยว่า แนวร่วมฝ่ายตรงข้าม DPP อาจพยายามทำในสิ่งที่จีนร้องขอหรือไม่
ดังนั้นข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงคือต้องการให้ถอนร่างกฎหมายนี้โดยไม่มีข้อแม้
กฎหมายอีกฉบับที่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์คือ การจัดสรรงบประมาณมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ไต้หวันใหม่ สำหรับโครงการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของไต้หวัน ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค KMT และ TPP และมีข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันตามมา
การอัดฉีดงบประมาณสำหรับโครงการนี้ ทำให้เกิดคำถามถึงความจำเป็นและเหมาะสม เพราะจะมีการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง และปรับปรุงทางหลวงหลายสายในพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของไต้หวันที่มีประชากรอาศัยอยู่น้อย นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังมีความเสี่ยงจากการเกิดแผ่นดินไหวบ่อย รวมถึงไต้ฝุ่นและดินถล่ม ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โครงการนี้ยังไม่ได้รับการผลักดันในอดีต
ภาพ: http://doc.afp.com/34TT6EB
ภาพ: Yasuyoshi CHIBA / AFP
จับตาเกมการเมืองเข้มข้น
วิลเลียม สแตนตัน อดีตผู้อำนวยการสถาบันอเมริกันในไต้หวัน หรือก็คือสถานทูตสหรัฐฯ โดยพฤตินัย ให้ความเห็นกับ Al Jazeera ว่า ดูเหมือนพรรค KMT และพรรคที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 3 อย่าง TPP ได้กระโดดเข้าร่วมเกมชิงอำนาจ หลังพวกเขาพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีให้แก่พรรค DPP
เขามองว่าตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว วาระแห่งชาติที่ผลักดันผ่านสภาจะตั้งต้นหรือริเริ่มโดยฝ่ายบริหาร แต่ดูเหมือนสองพรรคนี้กำลังแหกขนบดังกล่าว โดยมองว่าการครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติอาจเป็นช่องทางไปสู่การเลื่อยขาเก้าอี้ประธานาธิบดีที่ชนะการเลือกตั้ง
กฎหมายทั้งสองฉบับนี้เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น เลฟ นัคแมน นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเจิ้งจื้อในไทเป กล่าวกับ Nikkei Asia ว่า การต่อสู้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติจะมีให้เห็นต่อไป อย่างน้อยก็ในระยะสั้น โดย KMT และ TPP จะพยายามขัดขวางนโยบายของไล่ชิงเต๋อ นอกจากนี้ยังอาจพยายามล้มล้างนโยบายที่ผลักดันในช่วงที่ไช่อิงเหวินดำรงตำแหน่งตลอด 8 ปีก่อนหน้านี้ด้วย
สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคือนโยบายต่อจีนของไต้หวัน ซึ่งความแตกแยกในสภาจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายของไต้หวันเพื่อป้องกันตัวเองจากการถูกจีนแทรกแซง เพราะบางนโยบายที่มีลักษณะแข็งกร้าวต่อปักกิ่งและจุดชนวนให้สถานการณ์ในช่องแคบตึงเครียดขึ้นนั้น อาจถูกฝ่ายค้านหยิบยกมาเป็นประเด็นโจมตีทางการเมือง เพราะทั้ง KMT และ TPP ต่างก็มีจุดยืนคัดค้านการประกาศแยกตัวเป็นเอกราช ด้วยมองว่าจะทำให้เกิดความตึงเครียดกับจีน
คำชี้แจงจาก KMT โต้ ‘ไม่ได้ขายชาติ’
นักการเมืองจากสองพรรคแนวร่วมอ้างว่า การผลักดันกฎหมายเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นและเพิ่มความโปร่งใส ขณะที่ KMT กล่าวหา DPP ว่าพยายามแพร่ข่าวเท็จและใส่ร้ายป้ายสีว่าก๊กมินตั๋งเป็นพวกเดียวกับคอมมิวนิสต์จีน โดยมีเจตนาเพื่อยับยั้งแผนปฏิรูปของพรรคแนวร่วม
เจสซิกา เฉิน สส. จาก KMT ยังเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับการตรวจสอบจากสมาชิกสภานิติบัญญัติและ ‘ประชาชน’ และอย่าตีตรา KMT ว่ากำลังขายชาติ เพียงเพราะพวกเขาต้องการผ่านกฎหมายปฏิรูปสภาที่ DPP ไม่เห็นด้วย
สิ่งที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้ หาก KMT เดินหน้าดันกฎหมายเจ้าปัญหา
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าอาจมีสองฉากทัศน์ที่เกิดขึ้นได้ หาก KMT และ TPP ยังยืนยันเดินหน้าผลักดันกฎหมาย ซึ่งจะนำไปสู่การต่อสู้กันระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการไต้หวัน โดยที่ตัวประธานาธิบดีไม่มีอำนาจยับยั้งหรือวีโต้
ฉากทัศน์แรก หวงเฉิงอี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากสถาบันนิติศาสตร์ Academia Sinica ระบุว่า นายกรัฐมนตรีไต้หวันมีอำนาจตีกลับร่างกฎหมายให้สภานิติบัญญัตินำไปทบทวนใหม่ ซึ่ง สส. สามารถพิจารณาใหม่ และลงมติผ่านร่างกฎหมายเดิมด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง
ฉากทัศน์ที่สอง สส. อาจยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตัดสินว่ามีบทบัญญัติข้อไหนขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่เพื่อตีตก
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า การผลักดันกฎหมายของ สส. KMT และ TPP ครั้งนี้อาจมีอุปสรรค แม้ว่าจะรวมกันแล้วครองเสียงข้างมากในสภาก็ตาม เนื่องจากกระแสกดดันจากการออกมาเคลื่อนไหวลงถนนของมวลชนก็เป็นปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะกำลังสร้างโมเมนตัมมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่เยาวชนคนหนุ่มสาว ซึ่งนักสังเกตการณ์ชี้ว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าจับตา ขณะที่พรรค DPP ที่แม้จะมีเสียงในสภาน้อยกว่า แต่ก็อาจพยายามสร้างความเข้าใจหรือโน้มน้าวให้ประชาชนเห็นว่า นโยบายของ KMT และ TPP เป็นอันตรายต่อไต้หวัน
หนึ่งในสัญลักษณ์ที่ผู้ประท้วงใช้ในการชุมนุมครั้งนี้คือดอกทานตะวัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การเคลื่อนไหวของนักศึกษาทานตะวัน (Sunflower Student Movement) เมื่อปี 2014 ซึ่งเป็นการย้ำเตือนพรรคการเมืองไม่ให้เดินซ้ำรอยเหตุการณ์ดังกล่าว โดยในปีนั้นนักศึกษาได้รวมตัวกันยึดอาคารสภานิติบัญญัติ เพื่อขัดขวางการผ่านร่างกฎหมายการค้าข้ามช่องแคบที่ทำให้จีนกับไต้หวันใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้รัฐบาล KMT ในเวลานั้นต้องยอมถอย
ขณะที่ TPP เองก็อาจต้องคิดหนักเช่นกัน เพราะในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงก่อนเลือกตั้ง พวกเขาสามารถดึงคะแนนเสียงจากคนหนุ่มสาวให้หันมาเลือกพรรค TPP ได้สำเร็จ แต่หากการประท้วงยังรักษาโมเมนตัมไว้ได้ และกระแสเดือดดาลจากประชาชนมีเพิ่มขึ้น ก็อาจไม่เป็นผลดีต่อฐานเสียงของ TPP ดังนั้นบอลเด้งกลับมาตกบนคอร์ตของ TPP แล้ว พวกเขาต้องตัดสินใจว่าจะเล่นเกมนี้ต่ออย่างไร
ส่วนจีนนั้นน่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากสถานการณ์ ณ ขณะนี้ อย่างที่กล่าวไว้ในบทวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ว่า ผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคมค่อนข้างเป็นใจให้จีน มากกว่าสองครั้งก่อนหน้าที่ไช่อิงเหวินชนะเสียอีก ด้วยตัวแปรขั้วการเมืองที่ 2 และ 3 ที่ขึ้นมาคานอำนาจกับ DPP และสองขั้วนี้ก็ไม่ได้มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับปักกิ่งด้วย
เกมการเมืองภายในไต้หวันหลังจากนี้จึงเข้มข้นและน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง
ภาพ: Yasuyoshi CHIBA / AFP
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/news/2024/5/24/why-are-thousands-of-people-protesting-in-taiwan
- https://asia.nikkei.com/Politics/Taiwan-faces-legislative-showdown-as-China-lashes-out-5-things-to-know?utm_campaign=IC_one_time_free&utm_medium=email&utm_source=NA_newsletter&utm_content=article_link
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/protests-taiwan-parliament-pushes-contentious-reforms-2024-05-21/#:~:text=TAIPEI%2C%20May%2021%20(Reuters),over%20the%20ruling%20party’s%20objections.