‘ไต้หวัน’ อีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่กำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวไทยหลายต่อหลายคน เพราะนอกจากสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ตลาดกลางคืนที่คึกคักและเต็มไปด้วยอาหารที่น่าลิ้มลองแล้ว ชานมไข่มุก ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องดื่มยอดฮิตที่หลายคนต้องการไปลิ้มลองให้ถึงถิ่น
แต่ทว่านอกเหนือจากสถานที่ท่องเที่ยวและชานมไข่มุกแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ไต้หวันโดดเด่นไม่แพ้ประเทศอื่นๆ ก็คือ ‘ศิลปะและวัฒนธรรม’ ซึ่งพบเห็นได้ตั้งแต่สถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวของอาคารและบ้านเรือนต่างๆ แกลเลอรีรวมผลงานของศิลปินชื่อดัง จิมมี่ เลี่ยว (Jimmy Liao) บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ไปจนถึงแวดวงภาพยนตร์ ซึ่งไต้หวันเพิ่งคว้ารางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินในปีที่ผ่านมา
และเพื่อให้เราได้ทำความรู้จักกับไต้หวันในมุมมองที่ลึกซึ้งขึ้น กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, Documentary Club และ SF World Cinema CentralWorld จัดเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันกรุงเทพฯ (Taiwan Documentary Film Festival in Bangkok 2018) ครั้งแรกในประเทศไทย โดยคัดสรรภาพยนตร์สารคดีคุณภาพที่น่าจับตามองและเต็มไปด้วยกลิ่นอายความหลากหลายของวัฒนธรรมไต้หวัน 8 เรื่องมาให้คอภาพยนตร์ได้ชมกัน
Small Talk
เริ่มต้นจากภาพยนตร์เปิดเทศกาลอย่าง Small Talk ที่ชนะรางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินในปี 2017 โดยผู้กำกับ หวงหุ่ยเจิน (Huang Hui-Zhen) ซึ่งได้ถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกสาวที่อาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน แต่กลับเหมือนคนแปลกหน้าของกันและกัน โดยปฏิสัมพันธ์เดียวที่พวกเธอมีต่อกันคืออาหารที่แม่ทำแล้วตั้งทิ้งไว้ให้เป็นมื้อเย็นเท่านั้น
จนกระทั่งลูกสาวตัดสินใจรวบรวมความกล้าชวนแม่ของเธอมานั่งคุยเปิดใจ นำมาซึ่งการเผยความลับอันหนักอึ้งที่ผู้เป็นแม่เลือกเก็บไว้เพียงลำพังจนสร้างระยะห่างในความสัมพันธ์ของพวกเธอ
The Silent Teacher
อาจารย์เงียบ (The Silent Teacher) คือชื่อเรียกร่างกายของผู้บริจาคที่นำมาใช้ในการสอนกายวิภาคในไต้หวัน
ซึ่งสอดคล้องกับชื่อของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Silent Teacher ที่จะเล่าเรื่องของ ‘คุณนายหลิน’ ผู้ซึ่งร่างกายของเธอจะถูกนำมาใช้ผ่าในการสอนปีถัดไป คุณนายหลินกำลังจะกลายเป็นอาจารย์เงียบให้กับเหล่านักศึกษาแพทย์ และในขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์สอนให้ครอบครัวของเธอได้รู้จักความหมายของชีวิตด้วยเช่นกัน
Sunflower Occupation
ภาพยนตร์สารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวในปี 2014 ระหว่างการประท้วงเพื่อต่อต้านความตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบ ซึ่งได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็วผิดสังเกต ทำให้กลุ่มของผู้ประท้วงบุกยึดรัฐสภาไต้หวันเป็นเวลาถึง 24 วัน สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น ความเปลี่ยนแปลงแบบใดที่คนรุ่นใหม่ต้องก้าวผ่าน
Sunflower Occupation คือสารคดีสั้น 9 เรื่องที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของคนทำสารคดีไต้หวันในนามของ Docunion ที่ส่งคนทำสารคดีไปติดตามการชุมนุมจากมุมมองและแง่มุมที่แตกต่างกัน และนำเรื่องราวทั้งหมดมาร้อยต่อกันเพื่อฉายภาพการชุมนุมที่ไม่ได้มีแค่มิติเดียวจากจุดใดจุดหนึ่ง ความหลากหลายที่น่าตื่นตาตั้งแต่ยุทธวิธีไปจนถึงความคิดแกนกลางของแต่ละคน
The Mountain
จากระยะเวลามากกว่าร้อยปีที่เกาะไต้หวันต้องตกอยู่ภายใต้กฎของเจ้าอาณานิคมมากหน้าทั้งจากดัตช์ สเปน ญี่ปุ่น และจีน โดยในแต่ละยุคสมัยได้ทิ้งร่องรอยเอาไว้บนเกาะตลอดช่วงอาณานิคม ทำให้เหล่าคนพื้นเมืองต่างถูกแปะฉลากด้วยชื่อเรียกขานที่ต่างกันไป ขณะที่วัฒนธรรมที่แท้จริงของพวกเขาค่อยๆ เปลี่ยนแปลงอย่างเชื่องช้า โดยมีแต่คนพื้นเมืองแท้ๆ เท่านั้นที่ต้องเผชิญกับมัน
The Mountain เล่าเรื่องราวของชายแก่นักต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิจากยุคล่าอาณานิคม ซึ่งหากเพ่งมองประสบการณ์และชีวิตของเขา เราก็จะเห็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของคนพื้นเมืองในเกาะนี้
The Immortal’s Play
ภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ ‘อันหนี’ นางเอกละครงิ้วที่มาจากเวียดนามซึ่งเธอเคยมุ่งมั่นที่จะเป็นนักร้องตั้งแต่เด็ก แต่ทว่าเมื่อได้พบและแต่งงานกับหัวหน้าคณะงิ้วไต้หวัน เธอก็ตัดสินใจเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นนางเอกของคณะ พร้อมกับดิ้นรนเลี้ยงลูกที่ทุกข์ทรมานจากความผิดปกติของการเจริญเติบโตโดยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากแบกรับภาระของชีวิตจริงไว้บนหลัง ขณะเดียวกันเธอก็ต้องใช้เวลาอย่างมากในการเรียนภาษาเพื่อที่จะได้เข้าถึงขนบธรรมเนียมที่แท้ของคณะงิ้ว
Le Moulin
อีกหนึ่งภาพยนตร์สารคดีที่ชนะรางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์ม้าทองคำ หรือ Golden Horse Film Festival 2016 ซึ่งเล่าเรื่องราวหลังจาก 40 ปีภายใต้เจ้าอาณานิคมญี่ปุ่น ศิลปินโมเดิร์นกลุ่มแรกของไต้หวันในนาม ‘สมาคมกวีกังหันลม’ (Le Moulin Poetry Society) ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930 พร้อมกับบทกวีเพื่อการต่อต้านอำนาจนำทางวัฒนธรรมของเจ้าอาณานิคม โดยมีศิลปินเซอร์เรียลลิสม์เป็นต้นแบบหลัก
กวีกลุ่ม Le Moulin ก่อร่างบทกวีของพวกเขาด้วยลีลาแห่งความซับซ้อนและไม่ประนีประนอม เพื่อที่จะเผชิญหน้ากับช่วงเวลาโกลาหลที่พวกเขามีชีวิตอยู่
Le Moulin คือหนังสารคดีทดลองที่ประกอบขึ้นจากฟุตเทจเก่า ภาพถ่าย บทกวี ถ้อยแถลงที่ร้อยเรียงกันอย่างไร้ระเบียบราวกับการบันทึกด้วยจิตไร้สำนึก ซึ่งสอดรับกับพลังของการต่อต้านระบบที่เป็นเหมือนหัวใจหลักของหนังได้เป็นอย่างดี
Time Splits in the River
ภาพยนตร์สารคดีที่เล่าเรื่องราวของ 4 ศิลปินที่ชวนพ่อแม่ตัวเองมารับบทผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลไต้หวันในช่วงทศวรรษ 1980 โดยทุกคนต้องเตรียมตัวสำหรับบทบาทด้วยการดูฟุตเทจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนั้น และแม้จะไม่มีใครในกลุ่มของพวกเขาเคยเข้าไปข้องเกี่ยวกับการประท้วงมาก่อน แต่ทว่าการได้เห็นและได้สนทนาถึงมันอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกก็ทำให้พวกเขาซึมซับและหลอมรวมเข้ากับอดีตของตนเองอย่างช้าๆ
Stranger in the Mountain
ภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวในช่วงสงครามกลางเมืองของจีน ส่วนหนึ่งของกองกำลังชาตินิยมก๊กมินตั๋งถอยทัพมาติดค้างอยู่ตรงชายแดนระหว่างไทย-พม่าด้วยแรงกดดันจากนานาชาติ กองกำลังเกือบทั้งหมดถูกส่งกลับไต้หวันในปี 1961 หากแต่บางส่วนก็ยังคงหลงเหลืออยู่ในภาคเหนือของไทยและภาคกลางของไต้หวัน
กลุ่มคนทั้งสองกลุ่มต่างก็มีส่วนร่วมในชะตากรรมของการพลัดพราก จนกระทั่งเวลาล่วงเลยไปกว่า 50 ปี ความแตกต่างค่อยๆ กลมกลืนเข้าหากัน แต่ลูกหลานของพวกเขาก็ยังต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้สัญชาติมา
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันกรุงเทพฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึง 2 กันยายน 2561 ณ โรงภาพยนตร์เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า (เซ็นทรัลเวิลด์) ในราคาที่นั่งละ 160 บาท (Deluxe Seat) และราคา 180 บาท (Premium Seat) สามารถตรวจสอบรอบฉายพร้อมซื้อบัตรชมภาพยนตร์ในเทศกาลได้ที่ www.sfcinemacity.com และแอปพลิเคชัน SF Cinema ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
- สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SF Call Center 0 2268 8888, เว็บไซต์ https://www.sfcinemacity.com/, เฟซบุ๊ก We love SF หรือเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์หน้าโรงภาพยนตร์